เอาแล้ว! สรรพากร-ส.ธนาคารไทยจ่อส่งข้อมูลภาษีดอกเบี้ยเงินฝากโดยปชช.ไม่ต้องเซ็นยินยอม

ข่าวใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วคือ กรมสรรพากรประกาศว่าจะปรับเกณฑ์ให้คนที่ได้ดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาทต้องเซ็นยินยอมให้ธนาคารนำส่งข้อมูลส่วนตัวนี้ให้กรมสรรพากร มิฉะนั้นจะเสียภาษี

อัพเดท ล่าสุดกรมสรรพากรจะปรับเกณฑ์ให้ธนาคารทำงานง่ายขึ้น เพราะจะสั่งให้ธนาคารส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ ใครไม่อยากให้ข้อมูลกับสรรพากรต้องไปแจ้งธนาคารเอง ทำได้หรือ?

ภาพจาก Shutterstock

กรมสรรพากรชี้สัปดาห์หน้าแก้เกณฑ์ส่งข้อมูลอัตโนมัติหวังให้ประชาชนไม่เสียภาษี

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรสัปดาห์ที่แล้ว (19 เม.ย. 2562) ระบุว่าเกณฑ์ใหม่ในการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากจะเริ่มใช้ในวันที่ 15 พ.ค. 2562

ปัญหาใหญ่จึงอยู่ที่ธนาคารที่อาจส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรไม่ทันเวลา เพราะต้องติดต่อลูกค้า รวมถึงทำเอกสารให้ลูกค้าเซ็นยินยอมส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้กรมสรรพากร โดยลูกค้ากลุ่มที่ต้องเซ็นเอกสารยินยอมคือคนที่ได้ดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาท (มีอยู่ประมาณ 80 ล้านบัญชี) ตามประกาศฉบับปัจจุบันหากลูกค้าไม่ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลจะต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ

ล่าสุดวันที่ 23 เม.ย. 2562 ปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร บอกว่า หลังจากหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทยที่ว่าอาจนำส่งข้อมูลไม่ทัน ดังนั้นภายในสัปดาห์หน้ากรมสรรพากรจะแก้ไขประกาศอธิบดีสรรพากรให้ผู้ฝากเงินทุกรายไม่ต้องลงนามยินยอม แต่ข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากจะนำส่งกรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ หากเจ้าของบัญชีที่ไม่ต้องการให้ธนาคารนำส่งข้อมูลต้องเข้ามาแจ้งความจำนงกับธนาคารเอง

การแก้ประกาศนี้เพื่อให้ธนาคารสามารถนำส่งข้อมูลให้ทันการจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากที่จะมีผลในวันที่ 15 พ.ค.นี้ แต่ยืนยันว่าประชาชนที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 20,000 บาท/คน/ปีนั้นจะไม่เสียภาษี 15%  

สมาคมธนาคารไทยจ่อหารือสรรพากร 25 เม.ย. นี้ ส่วนธปท.รับทราบทุกขั้นตอน

ชุลีพร น่วมทนง รองเลขาธิการสมาคมธนาคารไทย (TBA) บอกว่า เมื่อกรมสรรพากรจะแก้ไขหลักเกณฑ์ให้คนที่ไม่ต้องการให้ธนาคารนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้กับกรมสรรพากร ต้องแจ้งความประสงค์กับธนาคารด้วยตนเอง จะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ทำงานง่ายขึ้น และมีผลกระทบกับลูกค้าน้อยลง

ทั้งนี้วันที่ 25 เม.ย. 2562 คณะทำงานจะหารือร่วมกับกรมสรรพากรอีกครั้ง เพื่อรับแนวทางในประกาศที่แก้ไขใหม่ ก่อนจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นภายในสมาคมฯ ต้องกลับมาประชุมเพื่อปรับระบบการทำงานให้สอดคล้องกันโดยจะแจ้งผลสรุปให้ธนาคารพาณิชย์ เพื่อแจ้งลูกค้าต่อไป

จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) บอกว่า ธปท. รับทราบ เรื่องการหารือระหว่างกรมสรรพากรกับสถาบันการเงิน ในเรื่องกระบวนการนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของลูกค้าให้กับกรมสรรพากร

ซึ่งมีประเด็นเรื่องของระบบงาน เช่น ระบบ IT ของสถาบันการเงินที่อาจต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถนำส่งข้อมูลดังกล่าวได้อย่างครบถ้วน จึงอาจต้องมีการหารือเพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันมากขึ้นในเรื่องวิธีการปฏิบัติ ข้อติดขัด ผลกระทบต่อประชาชน และทางเลือกในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบาย

สรุป

เมื่อสรรพากรเปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้ประชาชนไม่ต้องเซ็นใบยินยอมในการส่งข้อมูลส่วนตัวจากธนาคารไปกรมสรรพากร กลายเป็นว่าต่อไปกรมสรรพากรจะเก็บข้อมูลธุรกรรมการเงินของประชาชนในหลายด้าน ทั้งเงินฝาก และธุรกรรมออนไลน์ ต่อไปสรรพากรจะอยากได้ข้อมูลด้านไหนอีก และนำไปใช้ทำอะไรให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นบ้าง?

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง