ปรับตัว อยู่รอด เติบโต ในกระแส Big Data

ทุกวันนี้เดินไปไหนก็มีแต่คนพูดถึง big data และ digital transformation ว่าธุรกิจต้องปรับตัว ต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อมองหาโอกาสใหม่ๆ แต่เอาเข้าจริงแล้วก็ยังมีองค์กรไม่เยอะนัก ที่ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตัวเองได้สำเร็จ โดยเฉพาะองค์กรในไทยยิ่งมีจำนวนน้อยเข้าไปใหญ่

Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ คุณอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการ เดลล์ อีเอ็มซี (ประเทศไทย) และรองประธานบริหาร เดลล์ อีเอ็มซี ภูมิภาคอินโดจีน ในฐานะหัวเรือใหญ่ของ Dell EMC บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก และเป็นผู้นำในตลาดอุปกรณ์เก็บข้อมูล (สตอเรจ) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำระบบ big data ในประเด็นว่าองค์กรในไทยควรปรับตัวอย่างไร จึงจะได้ประโยชน์จาก big data มากที่สุด

คุณอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการ เดลล์ อีเอ็มซี (ประเทศไทย) และรองประธานบริหาร เดลล์ อีเอ็มซี ภูมิภาคอินโดจีน

ธุรกิจปัจจุบันเหมือนกระดานโต้คลื่น ใครยืนอยู่บนกระดานก่อนก็เอาตัวรอดจากคลื่นได้

ธุรกิจปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงสูง ความสามารถในการแข่งขันขององค์กรเปลี่ยนจากเดิมมาก ผลจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถาโถมเข้ามาตลอด และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายเดิมๆ โดน disrupt สูงมาก และมากกว่าระดับที่หลายคนคาดไว้

เราจะเห็นว่าแบรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดมาไม่นานนักกลับทะยานขึ้นเป็นแบรนด์ชั้นนำ ในขณะที่แบรนด์ที่เรามองว่าแข็งแกร่งในอดีต กลับต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อให้อยู่รอด เรื่องการ transform ปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลง เราพูดกันมาเยอะในอดีต แต่ตอนนี้มันชัดเจนขึ้นมากๆ ในระดับว่าใครไม่เปลี่ยนก็ต้องตายจากไป

คุณอโณทัย เทียบการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจว่าเหมือนกับกีฬาโต้คลื่น คลื่นเทคโนโลยีที่วิ่งเข้ามา มันมาแรงและเร็ว โดยไม่สนว่านักกีฬาที่อยู่ในน้ำจะเป็นอย่างไร ซึ่งนักกีฬาโต้คลื่นก็มีหลายสถานะ คนที่กำลังว่ายอยู่ในน้ำ ถ้าเจอคลื่นใหญ่เข้ามา การว่ายหนีคลื่นก็เป็นเรื่องยากมาก บางคนเกาะกระดานโต้คลื่นอยู่ เห็นคลื่นวิ่งเข้ามาก็ต้องพยายามยกตัวขึ้นมาบนกระดานให้ได้ ในขณะที่บางคนยืนอยู่บนกระดานแล้ว ก็สามารถขี่บนยอดคลื่นได้อย่างสวยงาม กลุ่มหลังนี้คือผู้ที่จะประสบความสำเร็จในยุค transformation

ถ้าเปรียบกระดานเหมือนกับเครื่องมือ (tools) ในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ การมีแค่ tools ไม่ได้แปลว่าเราจะอยู่รอดได้ แต่เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งใหม่เท่านั้น

Tools ขององค์กรยุคใหม่มีเยอะมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเรื่อง data intelligence

องค์กรยุคใหม่ ปรับวิธีคิดเรื่อง “ข้อมูล” จากการเก็บรักษามาสู่การใช้ประโยชน์

บริษัทในอดีต มีแนวคิดเรื่องการเก็บรักษาข้อมูลให้ดีที่สุด ใครที่เก็บข้อมูลได้ดี มีข้อมูลเยอะ ถือเป็นทรัพย์สินที่ทรงคุณค่า แต่แนวคิดในยุคปัจจุบัน การมีข้อมูลแล้วใช้ประโยชน์ไม่ได้ ก็ไม่ได้สร้างความสามารถในการแข่งขัน (competitive advantage) ให้กับองค์กร

โลกยุคใหม่จึงต้องเน้นเอาข้อมูลมาใช้ประโยชน์ด้วยเทคนิคอย่าง big data หรือ data analytics มันเลยกลายเป็นศูนย์กลางของทุกเรื่อง เป็นศูนย์กลางของธุรกิจทุกประเภท

ถ้าถามว่าเราลงทุนสร้าง data center ไปทำไม ลงทุนวางเครือข่าย IoT ไปทำไม คำตอบก็คือเพื่อจัดการกับ “ข้อมูล” ด้วยกันทั้งสิ้น

ธุรกิจสตาร์ตอัพใหม่ๆ ล้วนแต่เป็นการบริหารข้อมูลทั้งนั้น โมเดลการโฆษณาออนไลน์ก็คือการใช้ data intelligence มาแสดงโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมายของผู้บริโภค

การลงทุน Big Data คือการเปลี่ยนธุรกิจ ต้องสร้าง Proof of Value ว่าเกิดคุณค่าจริง

ทุกวันนี้ บริษัทไอทีทุกแห่งพูดเรื่อง big data ทั้งหมด ทุกรายอยากทำเหมือนกัน แต่จุดเด่นของ Dell EMC คือครบเครื่องกว่า มีผลิตภัณฑ์และบริการครบวงจร เพราะทุกวันนี้การซื้อฮาร์ดแวร์ไปใช้งานอย่างเดียว ก็เหมือนกับการมีแค่ tools แต่ไม่ได้สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันขึ้นมา

สิ่งที่ Dell EMC ทำคือเข้าไปช่วยให้คำปรึกษากับลูกค้าด้วย เพราะ big data เป็นเรื่องใหม่ และไม่ได้เป็นแค่การลงทุนทางไอทีแบบเดิม แต่เป็นการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการทำธุรกิจแบบเดิมๆ การขับเคลื่อนจึงไม่ได้มาจากฝ่ายไอทีแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่มาจากทางฝ่ายธุรกิจด้วยเช่นเดียวกัน โดยต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่วิสัยทัศน์ (vision) ขององค์กรเลยว่าต้องการจะไปทางไหน เพื่อทำเคสที่สามารถตอบสนองความต้องการของทั้งฝั่งธุรกิจและไอทีได้พร้อมกัน

กระบวนการให้คำปรึกษาของ Dell EMC เริ่มต้นที่การเข้าไปทำเวิร์คช็อปกับลูกค้าก่อน เรียกว่า Vision Workshop เชิญผู้บริหารมานั่งระดมสมองด้วยกันตลอดวัน มีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้นๆ (domain expertห) จาก Dell EMC เข้ามาให้คำปรึกษา ดูว่าธุรกิจของเราจะไปทางไหน วิสัยทัศน์คืออะไร จากนั้นค่อยมาประเมินว่าถ้าลงทุนทางเทคโนโลยีแล้ว จะเกิดคุณค่า (value) ใหม่ขึ้นมาได้หรือไม่ แล้วค่อยลงไปถึงระดับการดำเนินงานตามแผน (implement)

Dell EMC จะเน้นการทำ “proof of value” คือไปไกลกว่าการทำ proof of concept ที่เป็นแค่สิ่งยืนยันว่าแนวคิดนั้นเวิร์ค แต่ของเราจะต้องแสดงให้ลูกค้าองค์กรเห็นชัดว่า การลงทุนทำ big data นั้นเกิดคุณค่าใหม่กับองค์กรจริงๆ

ตัวอย่างลูกค้าของ Dell EMC ในไทยที่ลงทุนเรื่อง big data จะอยู่ในกลุ่มธนาคาร ซึ่งจริงๆ แล้ว Dell EMC มีส่วนเข้าไปช่วยลูกค้าธนาคารทั่วโลกทำเรื่อง big data ซึ่งรูปแบบการใช้งานมีหลากหลาย มีตั้งแต่การวิเคราะห์หาโปรโมชั่นให้ตรงใจลูกค้า รู้จักพฤติกรรมของลูกค้าว่าชอบอะไรไม่ชอบอะไร หรือการคาดการณ์ปริมาณเงินสดในตู้ ATM ว่าตู้ไหนมีคนกดเงินมากน้อยแค่ไหน โดยดูจากประวัติเก่าๆ ก็ช่วยให้บริหารเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เคสที่น่าสนใจเป็นธนาคารในต่างประเทศ โดยธนาคารเจอปัญหาการโกง (fraud) ตู้ ATM ถึงขนาดว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งเกิดการโจมตีที่หน้าตู้พร้อมกัน 2,000 ครั้งในช่วงสุดสัปดาห์เดียว เราเห็นได้ชัดว่านี่เป็นการใช้กลโกงกดเงินที่ทำเป็นขบวนการ มีการวางแผนอย่างดี แต่จะรับมือเรื่องนี้อย่างไร สุดท้ายธนาคารแห่งนี้แก้ปัญหาโดยการติดเซ็นซอร์กว่า 700 ชนิดที่ตู้ ตรวจจับได้ทั้งวิธีการกด เก็บวิดีโอพฤติกรรมของผู้กดเงิน แล้วมาวิเคราะห์ด้วย big data และทำการพยากรณ์ล่วงหน้า (predictive behavior) เพื่อตรวจจับการโกง

คุณค่าเหล่านี้คือสิ่งที่จับต้องได้จริง และพอเราทำ proof of value ให้เห็นจากการใช้งานหลายๆ แบบ ลูกค้าองค์กรก็มองเห็นภาพว่าจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างไร

Data Lake นำข้อมูลทุกอย่างมาเก็บไว้รวมกัน เพื่อวิเคราะห์และตีความใหม่ให้เกิดประโยชน์

แนวคิดอีกอย่างที่เป็นจุดเด่นของ Dell EMC คือ Data Lake หรือการนำข้อมูลทั้งหมดขององค์กรมากองรวมกัน เพื่อให้วิเคราะห์ข้อมูลได้หลากหลายครอบคลุม

ตรงนี้อยากเปรียบเทียบ Data Lake ว่าเป็นทะเลหรือทะเลสาบขนาดใหญ่ ที่มีปลาอยู่มากมาย แต่การจะจับปลาได้เราต้องมีเครื่องมือจับปลา ถ้าใช้สวิงหรือเบ็ดก็อาจจับได้แต่ปลาเล็กปลาน้อย ถ้ามีอวนลากที่ทันสมัยก็จับปลาได้เยอะขึ้น ถ้ามีหลายอวนก็จับปลาได้พร้อมกันทีละมากๆ

ทะเลสาบในที่นี้คือ data ซึ่งจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะปริมาณข้อมูลในองค์กรไม่มีทางลดน้อยลง แต่การใช้เครื่องมือรุ่นเก่าๆ อย่าง data warehouse เอามาจับปลา เราก็คงได้แต่ปลาเล็ก โลกยุคใหม่จึงมีเครื่องมืออย่าง Hadoop ที่เปรียบเสมือนอวนลาก มาจับปลาใหญ่ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แนวคิด Data Lake เป็นการนำข้อมูลทุกอย่างมาเก็บไว้รวมกัน ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นแบบมีโครงสร้าง (structured) หรือไม่มีโครงสร้าง (unstructured) แต่เรามองว่านี่คือ single source of truth ข้อมูลทุกอย่างที่เราเก็บนั้นเป็น “ความจริง” ที่พิสูจน์และยืนยันแล้วในอดีต แต่เราจะนำกลับมาวิเคราะห์ใหม่อีกครั้ง โดยใช้วิธีการเชื่อมโยงที่แตกต่างออกไป

Isilon สตอเรจพร้อมใช้สำหรับงาน Big Data รองรับข้อมูลหลากหลาย ขยายตัวได้ง่าย

จากแนวคิดเรื่อง Data Lake ทาง Dell EMC ก็มีผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดการข้อมูลปริมาณมากๆ คือสตอเรจชื่อ Isilon

Isilon เป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบ NAS (network attached storage) ที่ขยายตัวได้แบบ scale-out คืออุปกรณ์หนึ่งเครื่อง มีซีพียู มีสตอเรจ ครบในตัว ถ้าอยากเพิ่มความจุรวม ก็เพิ่มจำนวน Isilon ขึ้นมาอีกตามต้องการ จากนั้นเมื่อข้อมูลพร้อมแล้วก็วิเคราะห์ด้วย Hadoop ในขั้นต่อมา

จุดเด่นของ Isilon คือรองรับฟอร์แมตข้อมูลหลากหลายประเภท เพราะองค์กรขนาดใหญ่มักมีระบบไอทีหลากหลาย วิธีการเก็บข้อมูลก็แตกต่าง แต่ Isilon รองรับได้เกือบหมดโดยองค์กรไม่ต้องทำอะไรเลย

ในอดีตเคยมีระบบการตรวจสอบเช็คเด้งของธนาคารกลางประเทศหนึ่ง ธนาคารกลางจะต้องรับข้อมูลการใช้จ่ายผ่านเช็คจากธนาคารทุกแห่งในประเทศนั้น เพื่อมาเช็คข้อมูลข้ามกันว่าถูกต้องหรือไม่ ในอดีตการตรวจสอบต้องใช้เวลานานมาก เพราะธนาคารแต่ละแห่งใช้รูปแบบข้อมูลแตกต่างกัน แต่พอมี Isilon นำข้อมูลจากทุกธนาคารมาเก็บไว้ในถัง Data Lake รวม แล้วใช้ Hadoop ช่วยจัดการ ก็สามารถร่นระยะเวลาจากหลักสัปดาห์ ลงมาเหลือแค่ไม่กี่นาที

ทักษะของบุคลากร ยังเป็นความท้าทายสำคัญของ Big Data ในไทย

คุณอโณทัย มองว่าข้อจำกัดของการนำ big data มาใช้ในไทย ยังเป็นเรื่องของ “คน” เป็นสำคัญ เพราะทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล big data ยังเป็นเรื่องใหม่มาก ยังไม่มีคนทำเป็นเยอะนัก แนวทางของ Dell EMC จึงเน้นที่การปรับทักษะ (re-skill) บุคลากรเดิมๆ ให้สามารถทำงานประเภทใหม่ๆ ที่ใกล้เคียงกันได้ เช่น ในอดีตเคยดูแล data warehouse ก็ต้องพัฒนทักษะให้มาจัดการ big data หรือขยับมาเป็น data scientist

คุณอโณทัยยังมองว่าในการจัดซื้อและติดตั้งระบบไอทีแบบเดิมๆ เมื่อพัฒนาระบบเสร็จ งานก็จบลง เพราะระบบทำงานต่อไปได้เอง แต่กรณีของระบบ big data กลับตรงข้าม เพราะระบบเสร็จยังเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น องค์กรยังต้องเดินทางต่อไปกับการนำข้อมูลจาก big data มาใช้กับธุรกิจอีกนาน

ร่วมมือพาร์ทเนอร์ในการให้บริการ Big Data ในประเทศไทย

เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า Big Data ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ Dell EMC (Thailand) ทำงานร่วมกับ MFEC พันธมิตรในสำหรับโปรเจคด้าน Big Data โดยทาง MFEC มีทั้งความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ เพื่อช่วยให้คำปรึกษาและแนะนำในการนำข้อมูลที่มีทั้งหมดของลูกค้า ซึ่งก็คือ Big Data มาสร้างมูลค่า (value) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านการปรับเปลี่ยนและการแข่งขันทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

หากท่านสนใจเรื่อง Big Data สามารถติดต่อขอคำปรึกษาจาก MFEC ได้โดยกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา