ถอดรหัสชีวิตการทำงาน หลังโตโยต้าขอโทษ: กรณีพนักงานทำงานอย่างหนักจนฆ่าตัวตาย

ประธานบริษัทโตโยต้า Akio Toyoda กล่าวคำขอโทษต่อครอบครัวของพนักงานที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายหลังทำงานอย่างหนัก เนื้อหาในข่าวไม่ได้ระบุตัวเลขเงินชดเชยจากกรณีดังกล่าว แต่ครอบครัวผู้เสียหายเคยเรียกร้องเงินจากบริษัทเป็นจำนวน 123 ล้านเยน หรือ 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเป็นเงินไทยราว 36.4 ล้านบาท

Toyota

ปรากฏการณ์ประธานโตโยต้ากล่าวคำขอโทษ หลังพนักงานทำงานอย่างหนักจนฆ่าตัวตาย สะท้อนอะไรบ้าง?

เรื่องนี้ ถือเป็นโศกนาฏกรรมโดยแท้สำหรับคนทำงาน กระทบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ฆ่าตัวตายเอง ญาติพี่น้อง มิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน และยิ่งไปกว่านั้นคือออฟฟิศที่ทำงานและเหล่าบรรดาบอส การเป็นสาเหตุที่ทำให้ใครต้องเสียชีวิตสักคนโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจกลายเป็นรอยด่างในชีวิตของบุคคลเหล่านั้นบ้างไม่มากก็น้อย

สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานตรงกันว่า พนักงานจากบริษัทโตโยต้าเสียชีวิตเพราะฆ่าตัวตายจากการทำงานหนัก รวมทั้งยังถูกกดขี่ข่มเหงจากเจ้านายด้วย หนักขนาดนี้ ใครจะทนไหว? เรื่องนี้ ภรรยาของผู้เสียชีวิตระบุว่า เธอรู้สึกได้ว่าสามีจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ และยังเชื่อว่าบริษัทโตโยต้าจะต้องหาทางสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น ด้านโตโยต้าเองก็ให้คำมั่นว่าจะสืบสวนเรื่องราวดังกล่าวและพยายามป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก

คำแถลงการณ์จากโตโยต้าระบุว่า “ขณะนี้ เราพยายามสร้างบรรยากาศการทำงานที่โปร่งใส เพื่อทำให้ผู้คนสะดวกใจที่จะกล้าพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด ในสิ่งที่ตัวเองเผชิญ การจัดการเช่นนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาการถูกกดขี่ข่มเหงในที่ทำงาน และเพื่อให้พนักงานทำงานได้ โดยปราศจากความกลัว”

Toyota

เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่เป็นการฆ่าตัวตายที่ผ่านเวลามาอย่างยาวนานถึง 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งในที่สุดศาลสูงจาก Nagoya ก็ตัดสินเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมานี้เองว่า การเสียชีวิตของเขาเกี่ยวข้องกับการทำงานอย่างหนัก ในรายงานยังระบุอีกว่า คนญี่ปุ่นมักมีอุปนิสัยในการจงรักภักดีต่อองค์กรอย่างเหนียวแน่น บ่อยครั้งที่คนทำงานมักจะยอมเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อที่จะทุ่มเททำงานอย่างหนักจนล่วงเลยเวลางาน

เฉพาะแค่ปี 2020 นี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้รับเรื่องร้องเรียนประเด็นการทำงานอย่างหนัก การตายจากการทำงานหนักจำนวนมากถึง 2,835 เคส รัฐต้องจ่ายค่าชดเชยไปแล้วกว่า 800 เคส แต่ละเคสที่ว่ามานี้ก็รวมประเด็นการฆ่าตัวตายด้วย กรณีพนักงานโตโยต้าฆ่าตัวตายนี้ สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามเรื่องราวมาตั้งแต่ปี 2010 อาจจะประเมินได้ยากว่า จริงๆ แล้วองค์กรรับมือกับเรื่องนี้ดีหรือไม่ดีเพียงใด แต่สำหรับคนที่ฆ่าตัวตายมาแล้วสิบปีเศษ ความยุติธรมที่เขาควรได้รับถือว่าค่อนข้างช้า

ทำความรู้จักสังคม workaholic หรือที่รู้จักกันในศัพท์ญี่ปุ่นคือ karoshi

ต้องบอกว่า สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมทำงานหนัก สังคมผู้อุทิศตนแก่งานอย่างแท้จริง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้ยินเรื่องการทำงานหนักจนตายของญี่ปุ่น (overwork death) ไม่ใช่แค่ทำงานหนักจนตายแต่เป็นการเครียดจากการทำงานอย่างหนักและเครียดจนต้องฆ่าตัวตายจากการทำงานหนักด้วยและโรคที่มาจากการทำงานอย่างหนักก็มักจะเป็นโรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง โรคเครียด โรคที่มาจากภาวะอดอาหารเพราะเครียดอย่างหนัก หรือทำงานมากไปจนไม่มีเวลาทานอาหาร
.
Brand Inside เคยพูดถึงเรื่อง karoshi ไว้ตั้งแต่ปี 2017 แล้วว่าเจ้าโรค Karoshi นี้มีประวัติยาวนานกว่า 60 ปีและเมื่อซักประวัติย้อนไปให้ลึกกว่านั้นก็พบว่า โรคนี้มีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว ถือว่าเป็นโรคที่ติดตัว ติดอยู่กับสังคมญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานจวบจนปัจจุบันก็ถือว่าพยายามแก้ปัญหาด้วยการลดชั่วโมงการทำงานนอกเวลาบ้างแล้ว

death
Photo by davide ragusa on Unsplash

เรื่องการทำงานหนักจนตาย สะท้อนมายาคติให้เรารู้อย่างน้อย 2 เรื่อง

จากประเด็น สังคม karoshi ตามที่กล่าวมาข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า ความคิดที่ใครเคยพูดไว้ว่า งานหนักไม่เคยฆ่าคนตาย นั้นคือมายาคติ ไม่ใช่เรื่องจริง สิ่งที่คนพูดประโยคนี้ได้ มันเป็นเพราะว่าคนที่พูดประโยคเหล่านี้ยังไม่ได้ทำงานหนักมากพอ ถึงได้เอ่ยคำนี้ได้ อาจจะเรียกว่าทำงานแบบพอเพียง ทำงานตามโควต้า ไม่ได้ทุ่มเทในงานมากจนให้เวลางานกลืนชีวิต

มายาคติเรื่องนี้จึงควรจะเป็นเรื่องที่ เลิกพูดได้แล้ว งานหนักทำให้คนตายได้จริงและการทำงานอย่างหนักยังสร้างโรคเรื้อรังตามหลังให้ต้องรักษากับผู้คนจำนวนมาก เวลาที่ใครใช้งานเราอย่างหนักและอ้างประโยค ทำงานหนักไม่เคยทำให้ใครตาย จงบอกเขาไปว่า แสดงว่าคุณยังทำงานหนักไม่มากพอ

working
Photo by Mimi Thian on Unsplash

ส่วนมายาคติเรื่องที่สองคือ Work life balance นี่ก็ไม่มีอยู่จริง เลิกพูดได้แล้ว มันเป็นทั้งมายาคติและอุดมคติ เรื่องนี้จะเป็นจริงได้ ทำได้จริงก็ต่อเมื่อ ผู้คนทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายบอสและฝ่ายพนักงานเห็นตรงกันที่จะทำให้ชีวิตของทั้งสองฝ่ายสมดุลในการทำงานโดยไม่เบียดเบียนเวลาชีวิตกันต่างหาก นั่นแหละ จึงจะ balance ได้จริง ตราบใดที่ยังมีการสั่งงานแบบเกินเวลาที่ช่วงทำงานจะรับผิดชอบได้ อย่างไรเสีย ก็ยังไม่สามารถบาลานซ์ชีวิตให้สมดุลกับงานได้

แต่เรื่องน่าดีใจในประเด็นนี้ก็คือว่า เรากำลังอยู่ในโลกยุคใหม่ที่สังคมคนทำงานให้ความสำคัญกับการพักผ่อนมากขึ้น เราจึงเห็นความยืดหยุ่นจากการทำงานอย่างหลากหลาย จึงไม่แปลกที่มักจะมีคนเสนอให้ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์บ้าง 3 วันต่อสัปดาห์บ้าง เพิ่มชั่วโมงทำงานเพื่อให้มีเวลาพักหลังจากนั้นมากขึ้นบ้าง นี่ต่างหากที่สะท้อนให้เห็นว่าโลกกำลังโอบรับการทำให้ชีวิตบาลานซ์จากการทำงานอย่างแท้จริงและมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

อ้างอิง – Japan Today, Mint 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา