ดีลเลอร์เตรียมเจ๊ง! หากรถยนต์ไฟฟ้าบูม รายได้หลักจากบริการหลังการขายก็แทบหายไปในพริบตา

หลัง Tesla ประกาศปิดโชว์รูมเกือบทั้งหมดเพื่อประหยัดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ โดยหันไปจำหน่ายรถยนต์ผ่านช่องทางออนไลน์แทน แล้วถ้าสมมติรถยนต์ไฟฟ้าเกิดแพร่หลายขึ้นมาจริงๆ สิ่งที่หายไปอาจเป็น “ดีลเลอร์” รถยนต์

Tesla
โชวรูม Tesla

ข้อจำกัดด้านการจำหน่ายที่หมดไป

แม้ในสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกจะมีข้อห้ามไม่ให้แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์จำหน่ายรถยนต์ให้ผู้ซื้อโดยตรง ดังนั้นการซื้อรถยนต์ทั้งหมดจะต้องทำผ่านดีลเลอร์เท่านั้น อาจเพราะต้องการช่วยป้องกันการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค และก่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างแบรนด์มากขึ้น

แต่ด้วยปัจจุบันก็เริ่มมีการอนุโลมให้แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์สามารถจำหน่ายรถยนต์ให้กับผู้บริโภคโดยตรงได้ เช่นในบางรัฐของสหรัฐฯ ทำให้ Tesla แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลกสามารถจำหน่ายรถยนต์ผ่านออนไลน์โดยไม่ต้องผ่านดีลเลอร์ได้ตามต้องการ

Tesla Model 3
Tesla Model 3

อย่างไรก็ตามมันก็เป็นเรื่องแปลก เพราะในอุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าไอที, เสื้อผ้า หรือแม้กระทั่งอสังหาริมทรัพย์ แบรนด์ก็สามารถจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ให้กับผู้บริโภคโดยตรงได้ และยังเกิดการแข่งขันที่สูงด้วย ดังนั้นในอนาคตการยกเลิกข้อห้ามดังกล่าวในอุตสาหกรรมรถยนต์ก็อาจเกิดขึ้นได้

รายหลักจาก After Sale ที่ไม่มีอีกแล้ว

ขณะเดียวกันเมื่อรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมอย่างสูง การที่แบรนด์จะมอบหน้าที่บริการหลังการขายให้กับดีลเลอร์ก็อาจไม่มีอีกแล้ว เพราะรถยนต์ไฟฟ้าแทบไม่มีของเหลวในระบบขับเคลื่อน ซึ่งของเหลวเหล่านี้เช่นน้ำมันเครื่อง, น้ำมันเกียร์ หรืออื่นๆ เป็นเรื่องที่ผู้ใช้รถยนต์ต้องมั่นตรวจสอบ และเปลี่ยนอยู่เป็นประจำ

ซ่อมรถ
การซ่อมรถยนต์ // ภาพ pixabay.com

“ที่ Tesla สามารถจำหน่ายออนไลน์เพียงอย่างเดียว เพราะการซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่างๆ สามารถ Remote จากระยะไกลมาแก้ไขได้ ถ้าเสียหายจริงๆ เขาก็มีศูนย์ซ่อมเอง ดังนั้นดีลเลอร์รถยนต์ในยุครถยนต์ไฟฟ้าบูมจะเปลี่ยนแปลงแน่ๆ” รณชัย จินวัฒนาภรณ์ ประธานบริหาร บริษัท ไรเซน เอนเนอร์จี จำกัด ผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า BYD กล่าว

สำหรับประเทศไทยนั้น “ดีลเลอร์” รถยนต์ยังต้องมีอยู่ เพราะกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ค่ายผู้ผลิตรถยนต์จำหน่ายรถยนต์กับผู้บริโภคโดยตรง แต่ในอนาคตหากมีการอนุโลมเรื่องนี้ ประกอบกับรถยนต์ไฟฟ้าบูม ความจำเป็นของดีลเลอร์รถยนต์อาจไม่มีอีกแล้วก็ได้ ซึ่งตอนนี้กำไร 70% ของธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์มาจากบริการ ที่เหลือเป็นการขายรถใหม่

autobacs
Autobacs // ภาพโดย 全国オートバックスファン倶楽部 (Own work) [CC BY-SA 3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0) or GFDL (http://www.gnu.org/copyleft/fdl.html)], via Wikimedia Commons

อีกธุรกิจที่กระทบคือ Fast Fit ที่รับซ่อมด่วน

เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต้องเปลี่ยนของเหลวบ่อยๆ และแทบไม่มีของเหลวมาทำให้รถยนต์เสีย ดังนั้นอีกธุรกิจที่น่าจะกระทบก็คือ Fast Fit ไม่ว่าจะเป็น B-Quik, Cockpit หรืออื่นๆ เพราะร้านเหล่านี้มีรายได้หลักจากงานบริการ เช่นเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง, ตรวจเช็คระบบขับเคลื่อน และซ่อมบำรุงเบื้องต้น

แต่ถึงอย่างไรร้านเหล่านี้ก็ยังสามารถเปลี่ยนยางรถยนต์ และดูแลระบบขับเคลื่อนอื่นๆ ได้ ทำให้หากปรับรูปแบบธุรกิจเพียงเล็กน้อย ก็คงผ่านพ้นการเปลี่ยนผ่านนี้ได้ ซึ่งก็ต้องดูว่าผู้เล่นในตลาด Fast Fit แต่ละรายจะปรับตัวอย่างไรบ้าง

รถยนต์ไฟฟ้า
รถยนต์ไฟฟ้า // ภาพ Shutterstock

ทั้งนี้ความแพร่หลายของรถยนต์ไฟฟ้าไทยคงยังไม่เกิดขึ้นตอนนี้ ผ่านราคาที่สูง และสาธารณูปโภคโดยเฉพาะสถานีชาร์จที่ไม่พร้อม ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นเพียงของเล่นคนรวย แต่หากทุกอย่างพร้อมแล้ว โอกาสที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์สันดาปภายในก็อาจทยอยลดลงก็เป็นได้

สรุป

รถยนต์ไฟฟ้านั้นไม่ได้มีของเหลวที่ใช้ในการขับเคลื่อนเยอะ ทำให้การซ่อมบำรุงนั้นไม่ยุ่งยากเหมือนในอดีต แต่ถึงอย่างไรมันก็ต้องมีการตรวจเช็คตลอด เช่นยาง หรือระบบแบตเตอรี่ และมอเตอร์ไฟฟ้า ดังนั้นหากใครสามารถซ่อมบำรุงระบบดังกล่าวได้ ก็คงเตรียมความพร้อมได้เร็วกว่าคนอื่น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา