สมาคมโฆษณาดิจิทัล คาดงบโฆษณาปีนี้เกือบ 2.9 หมื่นล้านบาท โต 13% กลุ่มสกินแคร์ลงทุนสูงสุด

สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT จับมือคันทาร์ (ประเทศไทย) เปิดคาดการณ์ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลปี 2023 นี้อยู่ที่ 28,999 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการเติบโตที่ 13% จากปีที่แล้วจากเดิมที่คาดไว้ในช่วงต้นปีว่าจะเติบโต 7% 

DAAT ได้เก็บข้อมูลจากการสำรวจเอเจนซี่โฆษณาและการตลาด 65 แห่ง ครอบคลุมธุรกิจใน 59 ประเภทอุตสาหกรรมที่โฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล 18 ประเภท (เพิ่มประเภท Live และ Live Commerce จากปีที่แล้ว)

ส่วนในช่วง 6 เดือนแรก เศรษฐกิจยังไม่ได้เติบโตก้าวกระโดดมากทำให้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลอยู่ที่ 13,210 ล้านบาท คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมีมูลค่าการโฆษณาดิจิทัลมากกว่าครึ่งปีแรกจากปัจจัยเสริมอย่างเสถียรภาพทางการเมืองที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนและการท่องเที่ยวเติบโต นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี แบรนด์จะเริ่มสร้างยอดขายบนดิจิทัลแพลตฟอร์มมากขึ้น

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะใช้เงินกับการโฆษณาดิจิทัลในปีนี้มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. กลุ่มสกินแคร์ 3,268 ล้านบาท
  2. กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 2,520 ล้านบาท
  3. กลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ 2,228 ล้านบาท
  4. กลุ่มธุรกิจการสื่อสาร 2,190 ล้านบาท
  5. กลุ่มร้านค้าปลีก 1,682 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจร้านค้าปลีกไม่ได้อยู่ใน 5 กลุ่มแรกที่ใช้จ่ายกับการโฆษณาดิจิทัลในปีที่แล้ว แต่ปีนี้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเพราะการใช้งบการโฆษณาสัมพันธ์กับการเปิดประเทศทำให้เม็ดเงินตกลงไปในช่วงโควิด -19 แต่กลุ่มค้าปลีกทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนมาทำแบบ Omni-Channel การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวทำให้เริ่มมีช่องทางการสื่อสารไปยังชาวต่างชาติอย่างฝั่งยุโรปและฝั่งจีน ผ่านช่องทาง E-Commerce และ Live Commerce และมีการนำ AR, VR มาใช้ในการทำสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้ง 

กลุ่มความงามและสกินแคร์มีการเติบโตอย่างชัดเจนเพราะนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากและซื้อกลับประเทศทำให้ต้องใช้เม็ดเงินสูงขึ้นเพราะมีการแข่งขันสูง ทั้ง Counter Brand และ Local Brand นอกจากนี้ สินค้าเฉพาะกลุ่มมีมากขึ้น เช่น Skin Care for Men ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมาจากที่ผู้บริโภคกลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนเดิมและต้องการสร้างความมั่นใจเมื่อออกจากบ้าน

กลุ่มที่เติบโตติดลบ คือ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮออล์ที่คาดว่าจะตกลงถึง 12% เพราะว่าช่วงโควิดมีการใช้เงินมากในการโฆษณาดิจิทัลเพราะไม่สามารถโฆษณาตามร้านอาหารและงานเทศกาลต่าง ๆ ได้ ปัจจุบันมีการโฆษณาผ่านการจัดงานบันเทิงและอาหาร ประกอบกับบางแบรนด์ลดการโฆษณาบนแพลตฟอร์มที่ไม่มี Brand Safety ดังนั้นหากเทียบกับช่วงก่อนโควิดก็ยังถือว่ามีการใช้เม็ดเงินในระดับเดิมไม่ได้ลดลง 

สำหรับแพลตฟอร์มที่ธุรกิจในการใช้งบในการโฆษณาดิจิทัลมากที่สุดยังคงเป็น Meta (Facebook และ Instagram) เหมือนปีที่แล้ว แต่สัดส่วนปรับลดลงมาจากเดิม 32% ลงมาอยู่ที่ 28% ขณะที่ YouTube และ TikTok มีการเติบโตอย่างชัดเจน

ประเทศไทยมีประชากรที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี โดมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 61.21 ล้าน และคนไทย 85.3% สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ คนส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นหลัก ใช้แพลตฟอร์มหลากหลาย ใช้เวลาออนไลน์และช็อปปิ้งออนไลน์มากขึ้นจนคาดว่าการช็อปปิ้งออนไลน์จะเติบโต 6% 

พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากกว่า 1 เครื่อง ทำให้นักการตลาดต้องทำงานหลายอย่างมากขึ้น เช่น ต้องเรียนรู้การ Live โดย Gen Z และ Alpha เป็นกลุ่มที่ทำการตลาดยากเพราะค่อนข้างมีอคติกับโฆษณาและใช้แพลตฟอร์มหลายอย่าง

นอกจากนี้ สื่อวิดีโอเป็นสิ่งที่คนไทยสนใจ ช่วงอายุคนที่ดูวิดีโอออนไลน์ 18-50 ปี และอายุ 50 ปีขึ้นไป ไม่ได้ต่างกันมาก เพราะเนื้อหาที่เป็นวิดีโอหลากหลายมากขึ้นทำให้ช่วงอายุของผู้ชมเพิ่มมากขึ้น วิดีโอเติบโตเพราะสามารถใช้ Generative AI ได้ การดูวิดีโอทำให้ตัดสินใจซื้อของได้ง่ายขึ้นและแพลตฟอร์มสวิดีโอสั้นได้รับความนิยม 

อีกช่องทางหนึ่งที่เติบโตอย่างมาก คือ Affiliated Marketing ที่เติบโต 114% มาจากที่ E-Commerce เติบโตมากใน 3-4 ที่ผ่านมา เพราะแบรนด์มั่นใจได้ว่าจะจ่ายเงินเมื่อมีการซื้อสินค้าเท่านั้น เป็นโอกาสของ KOL และ Influencer สามารถสร้างรายได้และแบรนด์สามารถวิเคราะห์ได้ว่าครีเอเตอร์ทำคอนเทนต์อะไรให้กับผู้ชม 

สำหรับ Agency Outlook ในปีนี้ คาดว่าเทรนด์ดิจิทัลที่จะส่งผลต่อการโฆษณาและสื่อดิจิทัล 5 อันดับแรก ได้แก่ AI, Live. Chat bot, AR Metaverse และ Geo location targeting

AI ถูกมองว่าเป็นตัวหลักที่มีผลต่อการโฆษณาดิจิทัล เพราะสามารถเรียนชุดข้อมูลที่ใหญ่และลึกได้เลยถูกนำมาใช้กับการโฆษณา Personalized ทำได้ทั้ง Audience Automation ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างเป้าใหม่ Creative Automation แสดงโฆษณากับกลุ่มน่าจะซื้อมากที่สุด Budget Automation การทำงบประมาณแบบไม่ต้องปรับเองและทำให้ได้ KPI ที่ดีขึ้น

ส่วน Live เป็นช่องที่ได้รับความนิยมในการทำการตลาดที่เน้นยอดขายเพราะสามารถเชื่อมต่อกับลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง สิ่งที่ทำให้ Live น่าสนใจมากขึ้นเพราะสามารถทำได้ฟรี การ Live ขายของช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้ให้อยู่บนแพลตฟอร์มมาก เทรนด์ที่มาพร้อมกัน คือ การหาบุคคลากรสำหรับ Live และ Live Manager 

ที่มา – DAAT

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา