DAAT เผย Meta ยังเป็นแพลตฟอร์มยอดฮิตของการโฆษณาดิจิทัล ธุรกิจสนใจ Engagement มากขึ้น ขณะที่กฎหมาย PDPA เป็นความท้าทายใหญ่ของวงการโฆษณา
สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ The Digital Advertising Association of Thailand (DAAT) ร่วมมือกับคันทาร์ (ประเทศไทย) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านการตลาด เผยผลสำรวจมูลค่าการใช้จ่ายในการโฆษณาดิจิทัลของประเทศไทยประจำปี 2022
ในการสำรวจได้เก็บข้อมูลจากเอเจนซี่ด้านการโฆษณาและการตลาด 39 แห่ง (คิดเป็น 80% ของมูลค่าโฆษณาทั้งหมด) ครอบคลุม 59 ประเภทอุตสาหกรรมที่โฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล 17 ประเภท มีผลการสำรวจ ดังนี้
โฆษณาดิจิทัลปี 2022
ในปี 2022 ประเทศไทยมีมูลค่าการใช้จ่ายเพื่อการโฆษณาดิจิทัล 25,729 ล้านบาท เติบโตจากปี 2021 อยู่ 4% จากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตอยู่ที่ 9%
อุตสาหกรรมที่ใช้จ่ายเงินไปกับโฆษณาดิจิทัลสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (2,535 ล้านบาท) กลุ่มสกินแคร์ (2,467 ล้านบาท) กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ (2,414 ล้านบาท) กลุ่มธุรกิจการสื่อสาร (2,004 ล้านบาท) และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากนม (1,539 ล้านบาท)
สาเหตุที่การโฆษณาดิจิทัลเติบโตน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาจากที่ภาคธุรกิจยานยนต์ชะลอการใช้จ่ายเงิน ส่วนธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงสินค้าประเภท FMCG ก็ลดการโฆษณาลงเช่นเดียวกันเนื่องจากมีต้นทุนสูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ ค่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่รัฐบาลพยายามตรึงราคาสินค้าไว้ไม่ให้ปรับขึ้น
ส่วนอุตสาหกรรมที่เติบโตสูงที่สุดในปี 2022 คือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เติบโต 65% ตามด้วยกลุ่มวิตามินและอาหารเสริม 23% และกลุ่มธนาคารที่ 22% เมื่อเทียบกับปี 2021 และมีความเป็นไปได้ว่าจะเติบโตในเชิงบวกต่อเนื่องในปีนี้
สาเหตุที่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตสูงเป็นเพราะในช่วงปี 2020-2021 มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้การซื้ออสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง แต่ในปี 2022 เพิ่มขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวทำให้ชาวจีนเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ทั้งเพื่ออยู่อาศัยและเพื่อการลงทุน รวมทั้งนโยบาย LTV 100% ที่ให้กู้เงินเพื่อซื้อบ้านได้ทั้งหมด ส่วนธุรกิจธนาคารก็เติบโตขึ้นจากการขยายบริการ Mobile Banking
นอกจากนี้ หากจำแนกตามประเภทสื่อที่ใช้ในการโฆษณาดิจิทัล พบว่า Meta (Facebook รวมกับ Instagram) ยังมียอดการใช้จ่ายเงินไปกับการโฆษณามากที่สุด อยู่ที่ 8,748 ล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของเงินลงทุนทั้งหมด เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในวงกว้าง ขณะที่สื่อออนไลน์วิดีโอมีแนวมาแรง ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 4
คาดการณ์โฆษณาดิจิทัลปี 2023
ในปี 2023 คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายเงินไปกับการโฆษณาดิจิทัลจะเพิ่มมากขึ้นจากปี 2022 ที่ 7% คิดเป็นมูลค่า 27,481 ล้านบาท
คาดว่าในปีนี้โดยเฉพาะในช่วงต้นปีจะยังมีการชะลอการใช้เงินเพื่อการโฆษณาดิจิทัลต่อเนื่องจากปี 2022 สืบเนื่องมาจากภาวะความไม่แน่นอนหลายอย่างทั้งจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ความขัดแย้งสหรัฐอเมริกา-จีน ภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้พลังงานสูงขึ้น
ทั้งนี้ ก็ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลบวกอย่างการเปิดประเทศของจีนที่ยังคงต้องจับตามองว่าอาจทำให้เม็ดเงินในธุรกิจเพิ่มขึ้น รวมทั้งสถานการณ์เลือกตั้งของไทยเองในเดือนพฤษภาคมนี้
ส่วนอุตสาหกรรมที่จะเติบโตสูงสุดในปี 2023 คาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ (คาดว่าจะเติบโต 14%) ตามด้วยเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ กลุ่มสกินแคร์ กลุ่มการสื่อสาร และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากนม ตามลำดับ
อุตสาหกรรมรถยนต์จะเติบโตสูงที่สุดเพราะสถานการณ์การขาดแคลนชิปเพื่อผลิตรถยนต์ส่งมอบให้ลูกค้าดีขึ้น ผู้เล่นในตลาดรถยนต์ปัจจุบันเริ่มเจาะตลาดกลุ่มรถยนต์หรูมากขึ้น ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ก็น่าจะมีการออกสินค้าและทำการตลาดในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภภาคมที่อากาศร้อน
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มธนาคารก็คาดการณ์ว่าจะยังเติบโตในปี 2023 เนื่องจากแม้จะไม่มีโครงการ LTV 100% แล้ว แต่คนจีนและคนรัสเซียก็มองหาอสังหาริมทรัพย์ในไทย รวมถึง Mobile Banking ก็ยังเติบโต
ส่วนสื่อที่ใช้ในการเผยแพร่โฆษณาดิจิทัลอันดับ 1 คาดว่ายังคงเป็น Meta เหมือนเดิม ตามด้วยโฆษณาบน YouTube และออนไลน์วิดิโอ ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ การโฆษณาบน TikTok เพิ่มขึ้น 189% และคาดการณ์ว่าในปี 2023 ก็น่าจะยังเติบโตแต่ไม่เท่าเดิม
พฤติกรรมของผู้บริโภคโดยเฉพาะ Gen Z
พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยเปลี่ยนไปมาก ในปี 2022 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยไทยเป็นอันดับ 4 ของโลกที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด รวมทั้งคนไทยกว่า 73% ใช้โซเชียลมีเดียเป็นประจำ และอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยเติบโตมากไปพร้อมกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ
สื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่ม Gen Z ได้ คือ YouTube เป็นอันดับ 1 นอกจากนี้ ยังมี TikTok ไลฟ์อีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมสูงมาก ตามด้วย Instagram ที่ Gen Z มักใช้ในการสื่อสาร ปิดท้ายด้วย Twitter ที่มักใช้ในการติดตามเพื่อความบันเทิง
สรุป Agency Outlook
- วัตถุประสงค์ของนักการตลาดในการใช้สื่อโฆษณาดิจิทัลยังใช้เพื่อสร้าง Brand Awareness มากที่สุดอยู่ แต่สิ่งที่เริ่มเข้ามามีความสำคัญมากขึ้น คือ Engagement และ Brand Consideration
- การทำการตลาดผ่านโฆษณาดิจิทัลเน้นไปที่การตอบสนอง Business Objective มากขึ้นแทนที่การสนใจแค่ยอดขายผ่านอีคอมเมิร์ซเพียงอย่างเดียว แต่เปลี่ยนมาเน้นขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์
- เครื่องมือในการวิเคราะห์การโฆษณาดิจิทัล ในปี 2022 อันดับ 1 ยังเป็น E-commerce Marketing Tools 83% ตามด้วย data Analytics Platform 71% ตามด้วย Real-Time Dashboard, Monitoring Tools 54% แต่เทรนด์ที่น่าสนใจ คือ แอปพลิเคชันแชทหรือ Chatbot มาแรงเนื่องจากผู้บริโภคต้องการข้อมูลสินค้าและการซื้อขายที่รวดเร็ว
- ความท้าทายของธุรกิจโฆษณาดิจิทัล คือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถในการทำการตลาดรอบด้านทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งผู้มีความรู้ทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง แม้ว่าการเรียนรู้จะทำได้ง่าย แต่การนำมาปรับใช้ได้ดียังเป็นเรื่องยาก
- กฎหมาย PDPA ที่ใช้รักษาความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค และเทรนด์ Cookieless ทำให้การทำโฆษณาให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายยากขึ้นจากข้อมูลที่มีจำกัดมากขึ้น ทำให้ต้องมองหาพาร์ทเนอร์มาช่วยในการจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่มา – ข่าวประชาสัมพันธ์จาก DAAT
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา