CVC การลงทุนในสตาร์ทอัพขององค์กรใหญ่ ความท้าทายที่ต้องกล้าเสี่ยงในยุค Digital Transformation

CVC คืออะไร? เป็นคำถามแรกที่ Brand Inside ถาม พอลพลภัทร อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการหน่วยงาน CVC ของ Digital Ventures

“พอล” พลภัทร อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการหน่วยงาน CVC ของ Digital Ventures
“พอล” พลภัทร อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการหน่วยงาน CVC ของ Digital Ventures

พอลเริ่มต้นตอบคำถามด้วยการเล่าให้ฟังว่า หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า VC หรือ Venture Capital ที่เป็นการร่วมลงทุนของนักลงทุนหลายรายในบริษัทหรือสตาร์ทอัพ ส่วน CVC ก็คือการเติมคำว่า Corporate หรือบริษัทเข้าไป ดังนั้น CVC หรือ Corporate Venture Capital จึงหมายถึงการลงทุนของบริษัทใหญ่ โดยไม่ต้องผ่านการร่วมลงทุนกับนักลงทุนรายอื่นนอกบริษัท แต่ทำผ่านหน่วยงานของบริษัทโดยตรง

อันที่จริงแล้ว การลงทุนผ่าน CVC ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะหลายบริษัทในโลกลงทุนแบบนี้มาหลายทศวรรษแล้ว โดยเชื่อกันว่าการลงทุนแบบ CVC น่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1914 มีบริษัทผู้ผลิตพลาสติกและเคมีภัณฑ์รายหนึ่งชื่อ DuPont ได้ไปลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพยานยนต์รายหนึ่ง จนท้ายที่สุดสามารถนำบริษัท IPO และเติบโตมาเป็นบริษัทยานยนต์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาชื่อว่า GM ได้อย่างในปัจจุบัน

การลงทุนแบบ CVC เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ถ้าไปดูการลงทุนทั่วโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนการลงทุนระหว่าง CVC กับ VC จะพบว่า VC มีสัดส่วนการลงทุนมากกว่าโดยอยู่ที่ 32% ส่วน VC อยู่ที่ 20% เท่านั้น

การลงทุนโดย VC แม้จะมีสัดส่วนมากกว่า แต่นับวันจะเริ่มอิ่มตัวแล้ว ในขณะที่กระแสของ CVC หรือการลงทุนจากบริษัทใหญ่กลับเป็นกระแสที่มาแรง เพราะตัวเลขสัดส่วน 20% ที่เห็นนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2009 มาถึง 5 เท่า

พอล ระบุเพิ่มเติมว่า ในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้ กระแสของ CVC กลับมาอีกครั้ง เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในโลกธุรกิจเกิดการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะใน Silicon Valley แหล่งเทคโนโลยีเบอร์ต้นๆ ของโลกที่มีผู้ประกอบการสตาร์ทอัพหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายรายประสบปัญหาจากการหาเงินทุนแบบ VC เพราะเงินทุนไม่พอ และเอาเข้าจริงสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ที่หาเงินทุนจาก VC รูปแบบธุรกิจมักจะเข้าถึงได้เพียงแค่ B2C (ธุรกิจต่อผู้บริโภค) เพราะข้อจำกัดเรื่องเงินทุน กลยุทธ์ และเครือข่าย ในขณะที่การลงทุนจากบริษัทใหญ่โดยตรงหรือ CVC จะก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ได้ทั้งหมด และที่สำคัญสตาร์ทอัพเหล่านั้นจะสามารถเข้าถึงรูปแบบธุรกิจแบบ B2B (ธุรกิจต่อธุรกิจ) ได้ง่ายมากขึ้น

เปรียบเทียบความเหมือน-ความต่างของ CVC กับ VC

ในการลงทุน เป้าสูงสุดย่อมเป็นเรื่องของผลตอบแทนทางการเงินอยู่แล้ว แต่ถ้าให้เปรียบเทียบการลงทุนของ CVC กับ VC ถือว่ามีความแตกต่าง

ความต่างอย่างแรกของการลงทุนแบบ CVC กับ VC คือเรื่องของผลตอบแทนทางการเงินที่ต่างกัน พอลย้ำไว้อย่างหนึ่งว่า แน่นอนว่าในท้ายที่สุดแล้ว ทุกการลงทุนย่อมต้องคิดถึงผลกำไรในทางธุรกิจ โดยเฉพาะการลงทุนแบบ VC เกิดจากการลงทุนของนักลงทุนมากหน้าหลายตา เพราะฉะนั้น ความคาดหวังถึงผลตอบแทนทางการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกๆ

ส่วน CVC ที่เป็นการลงทุนจากบริษัทโดยตรง มีข้อได้เปรียบ เพราะในระยะแรกยังไม่ต้องคำนึงถึงผลตอบแทนทางการเงินมากนัก สิ่งสำคัญคือวางเป้าหมายระยะยาวของธุรกิจ

พอล ระบุว่า การลงทุนโดยบริษัทแบบ CVC สามารถแบกรับต้นทุนได้มากกว่า เพราะการลงทุนโดยบริษัทใหญ่ในลักษณะนี้เป็นการลงทุนโดยเอา กลยุทธ์เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ผลตอบแทนทางการเงิน ในแง่นี้จึงพูดได้ว่าการลงทุนแบบ CVC คือการลงทุนที่มากกว่าเรื่องทางการเงินเพียงอย่างเดียว

การลงทุนแบบ CVC ในสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นคือการลงทุนที่มากกว่าเรื่องทางการเงิน หากแต่เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ การเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญ เครือข่ายที่กว้างขวาง ลูกค้าที่มีศักยภาพในตลาด รวมไปถึงเรื่องของบุคลากร พูดได้ว่าการลงทุนแบบ CVC ช่วยสตาร์ทอัพในหลากหลายมิติ และตอบโจทย์วัตถุประสงค์ที่มากกว่าการลงทุนแบบ VC ทั่วๆ ไป

“เงิน” เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเติบโตทางธุรกิจ

พอล ฝากถึงสตาร์ทอัพทั้งไทยและต่างประเทศว่า เอาเข้าจริงแล้ว เงินเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเติบโตทางธุรกิจเท่านั้น ไม่ใช่ส่วนที่สำคัญที่สุดอย่างที่หลายคนคิด

ถ้าคุณเป็นเทคสตาร์ทอัพที่กำลังทำงานอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ คุณคิดว่าคุณจะเป็น Amazon หรือ Apple รายที่ 2 ของโลกได้ไหม เพราะว่าถ้าคุณมีแค่เงินทุน ผมคิดว่าทำไม่ได้ คุณต้องการเครือข่าย คุณต้องการผู้เชี่ยวชาญในวงการ และแน่นอนคุณต้องการเงินลงทุนในปริมาณที่สูงด้วยเช่นกัน

ความท้าทายของ CVC คือความกล้าลงไปเสี่ยงในสนามการเปลี่ยนแปลงของบริษัทใหญ่

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่พอลพยายามเน้นในระหว่างการสัมภาษณ์ คือบอกว่าการขยับไปอีกก้าวของการลงทุนแบบ CVC ของบริษัทใหญ่คือความกล้าที่จะเสี่ยงกับโลกที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

การลงทุนแบบ CVC คือความกล้าลงไปเสี่ยงในสนามแห่งการเปลี่ยนแปลง อย่าง Digital Ventures ที่เพิ่งประกาศเพิ่มเงินลงทุนใน CVC โดยทุ่มงบอีก 50 ล้านเหรียญ รวมกับเงินลงทุนก้อนเดิมตอนก่อตั้งอีก 50 ล้านเหรียญ เป็น 100 ล้านเหรียญ  นี่คือการเปลี่ยนตัวเองก่อนที่จะถูกเปลี่ยนโดยเทคโนโลยีในอนาคต มันคือการปรับตัว อย่างในปัจจุบันเทคโนโลยี Blockchain กำลังมาแรง แต่ในอนาคตอีก 5 ปี ใครจะรู้ว่า Blockchain อาจเป็นเรื่องเก่าไปแล้วก็ได้ การกล้าเข้ามาเสี่ยงลงทุนแบบ CVC คือหนทางหนึ่งในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ จากเหล่าสตาร์ทอัพ

พอล เสริมไว้ด้วยว่า สำหรับเขาในฐานะที่ดูแลด้านการลงทุนของ Digital Ventures และแม้ว่าจะเป็นบริษัทในเครือธนาคารอย่าง SCB แต่เทคโนโลยีที่สนใจลงทุน ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของฟินเทคหรือเทคโนโลยีทางการเงินเท่านั้น

แน่นอนว่า ฟินเทคคือสิ่งใหม่ ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้คำว่าฟินเทคยังไม่มีอยู่ด้วยซ้ำ แต่สำหรับเราที่ทำธุรกิจธนาคาร ต้องบอกว่าเรามองหาศักยภาพและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องทางการเงิน แต่เรื่องของ AI, Big Data, Cyber Security ก็เป็นสิ่งที่เราสนใจลงทุนเช่นกัน เพราะบริษัทหรือสตาร์ทอัพที่ทำเรื่องของเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถกลายมาเป็นคู่แข่งของเราได้ในอนาคต

สรุป: CVC กับความท้าทายในอนาคตของการแข่งขัน

CVC คือรูปแบบหนึ่งของการลงทุนที่กระทำโดยตรงจากบริษัทใหญ่ ไม่ใช่ VC ที่เป็นการลงทุนร่วมกันของนักลงทุนหลายราย จุดแข็งคือเม็ดเงินลงทุนที่ใหญ่กว่า กลยุทธ์ทางธุรกิจที่ชัดเจนกว่า รวมถึงการมีผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายที่แข็งแกร่งกว่า

ทว่าภายใต้ความแข็งแกร่งเหล่านี้ ความท้าทายในการลงทุนด้วยตนเองของบริษัทใหญ่ก็นับเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ต้องคิดคำนวณไว้ แต่สำหรับเรื่องนี้ Digital Ventures ประกาศไว้ชัดว่า การขับเคลื่อนเรื่องการลงทุนในสตาร์ทอัพจะต้องคิดถึงเรื่องผลตอบแทนทางการเงินเป็นเป้าหมายลำดับรอง เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีผ่านการลงทุนในเทคสตาร์ทอัพโดยตรง

ถึงที่สุดแล้ว อาจพูดได้ว่า การที่ Digital Ventures ก้าวออกมาประกาศเพิ่มเงินลงทุนใน CVC เพื่อลงทุนในเทคสตาร์ทอัพครั้งนี้ถือเป็นการขยับตัวครั้งสำคัญของ SCB เพื่อตอบรับกับโจทย์ Digital Disruption ที่กำลังหมุนอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน พร้อมทั้งเสริมเขี้ยวเล็บเพื่อการแข่งขันที่กำลังจะมาถึงในอนาคต

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา