SCB ลงทุน Chapter 2 เทอีก 50 ล้านเหรียญให้ Digital Ventures ลุยเทคโนโลยีชั้นสูง

กว่า 2 ปีที่ผ่านมา SCB ประกาศใช้งบลงทุนใน Digital Ventures หรือ DV ทั้งหมด 50 ล้านเหรียญ เป็นการลงทุนเพื่อหาความรู้ด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับวงการธนาคาร มาวันนี้ SCB และ DV มองเห็นแล้วว่า ลงทุนในส่วนไหนที่มีโอกาสทางธุรกิจ ทั้งด้าน Financial และ Strategy

ครั้งนี้ SCB จึงเทงบลงทุนอีก 50 ล้านเหรียญ ซึ่งถือเป็น Chapter 2 รวมแล้ว SCB จะลงทุน 100 ล้านเหรียญ

Chapter 2 วางเป้าผลตอบแทน 25-30% ในอนาคต

อารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer and Chief Strategy Officer ของ SCB บอกว่า SCB ภายใต้การดำเนินงานของ DV บริษัทในเครือด้านการลงทุนและการค้นคว้านวัตกรรมการเงิน ประกาศเพิ่มงบลงทุนในหน่วยงานทุนองค์กร หรือ Corporate Venture Capital (CVC) อีก 50 ล้านเหรียญ ก้าวสู่การเป็นองค์กรเวนเจอร์แคปปิตอลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีขนาดเงินลงทุน 100 ล้านเหรียญ พร้อมปรับกลยุทธ์มุ่งสู่การลงทุนโดยตรงในเทคสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี แห่งอนาคตทั่วโลก หนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ

2 ปีที่ผ่านมา SCB ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ แต่อาจจะยังเห็นผลตอบแทนไม่ชัดเจน เพราะปกติการลงทุนลักษณะนี้ต้องใช้เวลา 4-5 ปีจะเริ่มเห็นผลตอบแทน ดังนั้นที่ผ่านมาจะเห็นภาพของ Strategy เป็นหลัก คือ เป็นการเสริมธุรกิจธนาคารของ SCB แต่ในอนาคตจากการลงทุนครั้งนี้ จะเริ่มเห็นผลตอบแทนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยวางเป้าในอนาคตไว้อยู่ที่ 25-30% ต่อปี

จากการลงทุนที่ผ่านมาทำให้ SCB มีเครือข่ายพันธมิตรกับสตาร์ทอัพ ทั่วโลกกว่า 800 ราย และเวนเจอร์แคปปิตอลในต่างประเทศอีกกว่า 60 ราย จาก 29 ประเทศทั่วโลก ทำให้สามารถเข้าถึง และเรียนรู้นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดจากกิจการที่ได้เข้าไปลงทุน เช่น บล็อคเชน ควอนตัมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งการทำงานขององค์กรธุรกิจและผู้บริโภคทั่วไป จากความสำเร็จที่ผ่านมา SCB มีความมั่นใจที่จะเพิ่มเงินลงทุนอีก 50 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1,750 ล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุนตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน 100 ล้านเหรียญ หรือกว่า 3,000 ล้านบาท

เน้นลงทุน Deep Tech ต่อยอดธุรกิจ

พลภัทร อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการ หน่วยงานทุนองค์กร ของ DV บอกว่า การเพิ่มงบลงทุนในครั้งนี้ DV มุ่งเฟ้นหาบริษัทสตาร์ทอัพและเวนเจอร์แคปปิตอลจากทั่วโลกที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีหลักที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ ของธนาคาร เพื่อประโยชน์แก่ลูกค้าองค์กรและลูกค้าทั่วไปของธนาคาร

2 ปีที่ผ่านมา DV ได้ลงทุนเชิงกลยุทธ์ทั้งในเทคสตาร์ทอัพโดยตรง และลงทุนในเวนเจอร์ส แคปปิตอล ได้แก่

  • Golden Gate Ventures หนึ่งในกองทุนสตาร์ทอัพชั้นนำที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น (Early Stage)
  • Nyca Partners เวนเจอร์แคปปิตอลชั้นนำด้านฟินเทคของสหรัฐอเมริกา ที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวม ความเชี่ยวชาญจากสองยักษ์ใหญ่แห่งโลกการเงินและเทคโนโลยีอย่างวอลล์สตรีทและซิลิคอนแวลลีย์
  • Dymon Asia Ventures เวนเจอร์แคปปิตอลชั้นนำของสิงคโปร์ มุ่งเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทคที่ทำธุรกิจแบบ B2B
  • Arbor Ventures เวนเจอร์แคปปิคอลชั้นนำด้านฟินเทคของฮ่องกง ที่มีการลงทุนครอบคลุมทั้งในเอเชีย อเมริกาเหนือ ยุโรป และภูมิภาคตะวันออกกลาง
  • Ripple บริษัทผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการชำระเงินชั้นนำของโลกจากสหรัฐอเมริกา โดยธนาคารไทยพาณิชย์นับเป็นสถาบันการเงินไทยแห่งแรกที่ริเริ่มลงทุน ศึกษา และทดลองการโอนเงินระหว่างประเทศบนเทคโนโลยี Blockchain
  • Pulse iD สตาร์ทอัพด้านการบริการข้อมูลเพื่อระบุพิกัดซึ่งก่อตั้งขึ้นในฮ่องกง มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อระบุตัวตนสำหรับใช้ในธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างระบบความปลอดภัยทางการเงิน การระบุตัวตนลูกค้า และการสร้างความผูกพันกับลูกค้าให้เหนือระดับยิ่งขึ้น
  • PayKey สตาร์ทอัพจากอิสราเอล ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มปฏิวัติการชำระเงินรูปแบบใหม่บนคีย์บอร์ด ของอุปกรณ์สื่อสารที่ช่วยให้ลูกค้าธนาคารสามารถโอนเงินผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คที่หลากหลาย โดยเชื่อมโยงเข้ากับแอพพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งของธนาคาร
  • IndoorAtlas ผู้พัฒนาเทคโนโลยีระบุพิกัดตำแหน่งพื้นที่ในร่มจากฟินแลนด์ ซึ่งดิจิทัล เวนเจอร์ส ได้ใช้เทคโนโลยีนี้ร่วมพัฒนาในแอพพลิเคชั่น Chatuchak Guide ที่เป็นหน้าร้านออนไลน์ให้กับร้านค้าในตลาดนัดจตุจักร ซึ่งเทคโนโลยีนี้ช่วยอำนวยความสะดวกในการนำทางให้ผู้ซื้อเดินหาร้านค้าได้แม่นยำและรับข้อเสนอพิเศษต่าง ๆ จากร้านค้าได้แบบเรียลไทม์
  • 1QBit ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านเทคโนโลยีควอนตัมและควอนตัมคอมพิวเตอร์จากแคนาดา มีศักยภาพในการแก้ปัญหาทางธุรกิจที่มีความสำคัญสูง สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุน การบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ และการรักษาความปลอดภัย

นอกจากจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสตาร์ทอัพชั้นนำที่มีศักยภาพ เวนเจอร์แคปปิตอล และผู้นำทางความคิดด้านฟินเทคทั่วโลกแล้ว ธนาคารยังสามารถแบ่งปันความรู้และเทคโนโลยีเหล่านี้ให้แก่ผู้บริหารของธนาคารเอง และลูกค้าองค์กรผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น สัมมนา เวิร์คช็อป เช่น งาน SCB Faster Future Forum เพื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการพัฒนาสังคมดิจิทัลต่อไป

ตอกย้ำกลยุทธ์ Upside Down

อารักษ์ กล่าวว่า นโยบายการลงทุนครั้งนี้ มุ่งเน้นในผลิตภัณฑ์และบริการ และเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) บล็อกเชน ความปลอดภัยบนไซเบอร์ (Cybersecurity) กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data / Data Analysis) และอื่นๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้กับบริการต่างๆ ของธนาคาร เช่น บริการสินเชื่อ การบริหารความมั่งคั่ง ธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจประกัน

การเพิ่มเงินลงทุนเชิงกลยุทธ์ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการเฟ้นหาและเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับธนาคาร เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินให้แก่ลูกค้าในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้กลยุทธ์นี้ยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ Going Upside Down หรือ ตีลังกากลับหัว ที่จะทำให้ธนาคารมีศักยภาพด้านดิจิทัล และมีโมเดลการทำงานที่เหมาะสมกับความท้าทายของโลกดิจิทัลในอนาคต สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคการเงินการธนาคาร เศรษฐกิจในภาพรวม และการพัฒนาสังคมของประเทศไทยให้ก้าวทันโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา