รู้จัก Curve ฟินเทคสตาร์ทอัพในอังกฤษ พัฒนาแพลตฟอร์มศูนย์กลางการเงิน รวมบัญชีและบัตรไว้ที่เดียว

Curve ฟินเทคสตาร์ทอัพจากลอนดอน ได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่เน้นรวมบัตรธนาคารทั้งหมดไว้ในแอพเดียว เพื่อทำให้ผู้ใช้สามารถจัดการใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น โดยเริ่มให้บริการในรูปแบบเบต้าแล้ว แต่ยังคงจำกัดจำนวนคน คือผู้ใช้ที่สนใจจะต้องรอคิวก่อน Curve สามารถเข้าร่วมใช้งานแบบเบต้าฟรี แต่หากต้องการบัตร Curve เวอร์ชันพรีเมียมจะต้องจ่ายเพิ่มเติมอีก 50 ปอนด์

Curve mastercard ภาพจากเว็บไซต์ http://blog.imaginecurve.com/what-can-you-do-in-1-second/

วันนี้ทีมงาน Brand Inside จะพามารู้จัก Curve และฟีเจอร์คร่าวๆ ของบริการจากสตาร์ทอัพฟินเทคที่น่าสนใจนี้กัน

Shachar Bialick ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Curve กล่าวว่า การเปิดตัวสู่ผู้บริโภคครั้งนี้ถือเป็นหลักไมล์สำคัญของบริษัท ตอนนี้มีผู้เข้าคิวรอแล้วกว่า 5 หมื่นคน และมีผู้ทดลองใช้งานแล้วกว่า 1 แสนคน

Curve ให้บริการแอพที่เป็นศูนย์กลางการควบคุมการเงิน ให้ผู้ใช้ใส่บัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต/เดบิตเข้ามา เพื่อจัดการข้อมูลเกี่ยวกับการเงินได้ทุกอย่าง จากนั้นก็จะเก็บข้อมูลต่างๆ จากบัญชีเหล่านั้น เหมาะกับผู้ใช้ทั้งบุคคลและธุรกิจขนาดย่อม

การจะรวมแค่บัญชีธนาคารเข้ามาไว้ในแอพอย่างเดียวดูท่าจะไม่เพียงพอและใครๆ ก็ทำได้ Curve จึงมีฟีเจอร์สำคัญคือการใช้บัตรใบเดียว Curve Mastercard ที่รวมเครดิตและเดบิตทั้งหมดเอาไว้ ดังนั้นผู้ใช้เพียงแค่พกบัตรใบเดียว และใช้แอพ Curve ควบคุม ซึ่งมีฟีเจอร์ที่สำคัญดังนี้

  • เลือกได้ว่าเมื่อใช้บัตร Curve แล้วจะให้ตัดเงินบัตรใบไหน ทั้งเครดิตหรือเดบิต โดยสั่งผ่านแอพก่อนจะใช้
  • เป็นบัตรที่รองรับการจ่ายเงินทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น Chip & PIN, แถบแม่เหล็ก, contactless รวมถึงใช้กดเงินจากตู้ ATM ก็ได้
  • สั่งล็อกบัตรได้ด้วยการกดปุ่มในแอพ
  • ค่าใช้จ่ายเมื่อใช้จ่ายต่างสกุลเงินน้อยกว่าธนาคารทั่วไป เนื่องจากคำนวณโดยใช้อัตราแลกเงินตามตลาดบวกค่าธรรมเนียมอีก 1% ทำให้สามารถใช้จ่ายต่างสกุลเงินได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • Go Back in Time หากจ่ายผ่านบัตรและตัดเงินไปแล้ว แต่ถ้าบัตรที่ต้องการจะใช้จริงๆ เป็นอีกใบหนึ่ง มีเวลาให้ผู้ใช้เปลี่ยนได้ใน 14 วัน และจำกัดยอดใช้จ่ายไม่เกิน 1,000 ปอนด์
ฟีเจอร์ Go Back in Time ของ Curve ภาพจาก http://blog.imaginecurve.com/go-back-in-time-with-curve/

Curve มีผู้ลงทุนในบริษัทเป็นธนาคาร Santander โดยลงทุนผ่าน Santander Ventures ในการระดมทุน Series A ของบริษัทเมื่อปีที่แล้ว ในครั้งนั้นบริษัทสามารถระดมทุนได้ถึง 10 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้แล้ว Curve จะยังใช้ประโยชน์จาก Open Banking ซึ่งธนาคารจะต้องแชร์ข้อมูลร่วมกันผ่าน API กลางให้แอพเข้าถึงข้อมูลลูกค้าธนาคารได้ ซึ่ง Curve ก็มีแผนในอนาคตเหมือนกัน คือเมื่อเปิดใช้ฟีเจอร์นี้แล้ว Curve จะสามารถติดตามการใช้จ่ายของผู้ใช้ได้ทุกอย่าง ไม่ใช่แค่การใช้จ่ายผ่านบัตรเท่านั้น ซึ่งจะทำให้สามารถเห็นภาพกว้างๆ ของการเงินในชีวิตได้

ในอนาคตนั้น Curve วางแผนไว้ว่าจะนำข้อมูลการใช้จ่ายของผู้ใช้ให้บริการผ่าน Curve Connect ลักษณะเหมือนแอพสโตร์ของบริการด้านการเงิน ไอเดียของ Curve คือต้องการเชื่อมต่อบริการการเงินอันยอดเยี่ยมเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ฟินเทคไปจนถึงธนาคารขนาดใหญ่ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ได้ใช้ประโยชน์จากเงินของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในลักษณะเดียวกับที่บริษัทอื่นอย่าง Starling, Monzo, N26 ได้ทำมาแล้ว

Curve และ Xero ภาพจาก http://blog.imaginecurve.com/curve-xero-release/

สำหรับ Curve Connect ก็มีตัวอย่างที่ให้บริการแล้วใน Curve เช่น Xero บริการเก็บใบเสร็จต่าง ๆ และซิงค์ขึ้นคลาวด์ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถติดตามรายละเอียดการใช้จ่ายของตัวเองได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

Bialick กล่าวว่า แม้การจะเห็นการใช้จ่ายทุกอย่างรวมกันในที่เดียวจะเป็นสิ่งมีประโยชน์มาก แต่ผู้ใช้หลายคนเห็นการติดต่อธุรกิจและยอดเงินคงเหลือก็ทำให้เกิดการตึงเครียด จะมีไหมเครื่องมือที่ดีกว่านี้ที่จะช่วยควบคุมการเงิน ทำให้ผู้ใช้กังวลเกี่ยวกับการเงินได้น้อยลง

สรุป

Cuve ฟินเทคสตาร์ทอัพที่เน้นการจัดการเรื่องการเงินในชีวิตประจำวันแบบครบวงจร จะช่วยให้ชีวิตสะดวกมากยิ่งขึ้นเพราะสามารถรวบรวมบัญชีธนาคารหลาย ๆ บัญชีเข้ามาไว้ในที่เดียวกันได้ และมีบัตร Mastercard เอาไว้ให้ใช้จ่ายสะดวก และติดตามการใช้จ่ายของผู้ใช้ได้ทุกรูปแบบ ยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น และในอนาคตเราน่าจะเห็นฟีเจอร์ที่น่าสนใจออกมามากขึ้น รวมถึงการเปิดแพลตฟอร์มให้เชื่อมต่อกับแอพภายนอก ก็จะทำให้บริการน่าสนใจมากยิ่งขึ้นหากมีแอพภายนอกที่มีประโยชน์ใช้งานมากขึ้น

ที่มา – TechCrunch (1), (2), Curve Blog (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

คอลัมนิสต์ Brand Inside ผู้สนใจเรื่องของบริษัทเทคโนโลยี, ตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงด้านธนาคาร และการปรับตัวด้านเทคโนโลยีมาใช้ของบริษัทต่าง ๆ