เริ่มจากในองค์กร Culture Transformation สู่โครงการ “พลิกไทย” ชวนทุกคนเปลี่ยนเพื่อสังคม

การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นองค์กรใหญ่ต้องใช้พลังร่วมกันของคนทั้งองค์กรเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ หนึ่งในองค์กรที่ประกาศ Brand Platform ภายใต้แนวคิด Flip it คือ dtac

ความน่าสนใจคือ การ Flip it หรือการเปลี่ยนแปลง จะเกิดขึ้นทั้งองค์กร อะไรที่อยากทำแล้วทำไม่ได้ หรือยังไม่ได้ทำ จะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่เป็น “ต้องทำให้ได้ ไปด้วยกัน” และแนวคิดนี้ยังต่อยอดไปถึงการให้บริการลูกค้า และล่าสุดเริ่มขยายไปถึงสังคม

Culture Transformation ครั้งนี้ เริ่มจากในองค์กร แต่กำลังต่อยอดโดยการชวนทุกคนมาเปลี่ยนเพื่อสังคมด้วยกัน

อรอุมา วัฒนะสุข ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของ dtac

เปลี่ยนภายในด้วย Flip it Challenge เสนอไอเดียเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

อรอุมา วัฒนะสุข ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของ dtac บอกว่า การจะเปลี่ยนองค์กรต้องเริ่มจากวัฒนธรรมและทัศนคติ แนวคิดต่างๆ อยากให้ทุกคนกล้าคิด กล้าทำ มี passion ในการทำงาน วิธีการคือ ชักชวนให้คน dtac รวมกลุ่มกันเสนอไอเดียความคิดที่ต้องการเปลี่ยนอะไรก็ได้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นโครงการ Flip it Challenge

“Flip it Challenge เปิดให้คน dtac รวมกลุ่มกันนำเสนอไอเดียอะไรก็ได้ ที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าให้เกิดขึ้นภายในองค์กร ซึ่งทำให้เห็นว่าคน dtac มีความคิดดีๆ เยอะมาก ขอแค่มีเวทีเปิดและให้โอกาส จากทั้งหมดตอนนี้คัดเลือกเหลือ 8 ไอเดีย ซึ่งทุกไอเดียจะต้องนำมาทำจริงๆ”

ทุกไอเดียมีคณะกรรมการร่วมให้คำแนะนำและพิจารณา รวมถึง ลาร์ส นอร์ลิ่ง CEO ของ dtac ก็ลงมาทำหน้าที่ mentor ด้วยตัวเอง

และหนึ่งในไอเดียจากโครงการ Flip it Challenge คือโครงการ “พลิกไทย” เป็นไอเดียที่จะต่อยอดออกมาสู่สังคม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และเปิดตัวในวันที่ 7 ส.ค. นี้

พลิกไทย เพื่อสังคมที่ดีกว่า

จุดเริ่มต้นจากความเชื่อที่ว่า ปัจจุบันคนไทยยุคใหม่เป็น Active Citizen คือไม่รอตั้งคำถามว่าเป็นหน้าที่ของใคร แต่ทุกคนมีความคิดที่อยากทำสิ่งที่ดีเพื่อสังคม อาจจะเริ่มจากมีไอเดีย แต่ยังไม่มีทิศทาง ไม่มีทักษะ ไม่มีเงินทุน หรือไม่มีเครือข่ายที่จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรม

ขณะที่จุดแข็งของ dtac คือ การสร้าง Connectivity ของสิ่งที่ขาดให้เกิดขึ้น สามารถช่วยรวมกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน นำไปเจอคนที่มีทักษะในการสร้างสรรค์ร่วมกัน พาไปหาแหล่งเงินทุนที่จะสนับสนุนแนวคิด และค้นหาเครือข่ายพันธมิตร เพื่อแสดงพลังในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือว่าสำคัญที่สุด

“ใครมองเห็นปัญหารอบตัว และมีไอเดียที่จะจัดการ มาคุยกับโครงการพลิกไทย เบื้องต้นจะคัดเลือก 10 โครงการ มีเงินทุนตั้งต้น 100,000 บาท พร้อมระดมทุนเพิ่มผ่าน Crowd Funding คือ MeeFund.com เฟ้นหาอาสาสมัครที่จะมาร่วมกันทำงาน และสุดท้ายคือ เครือข่ายที่นำไปสู่ความสำเร็จ”

ร่วมมูลนิธิกองทุนไทย ทดสอบนำร่องในทัณฑสถาน

เพื่อเป็นการทดสอบว่า จะมีผู้สนใจเสนอไอเดียมากน้อยแค่ไหน จึงเกิดโครงการพลิกไทยระยะนำร่องขึ้น โดย dtac ร่วมกับมูลนิธิกองทุนไทย ประกาศรับแนวคิดผ่านทาง Facebook ของมูลนิธิเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ได้รับความสนใจอย่างดีมีเสนอเข้ามา 22 แนวคิด จากกลุ่มๆ 15 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งโครงการนำร่องที่ได้รับเลือกเป็นของเจ้าหน้าที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

แนวคิดเป็นของ มนัสวี บุญมาก และทีมเจ้าหน้าที่ ต้องการเห็นการอบรมรูปแบบใหม่ๆ ให้กับผู้ต้องขังหญิง เพื่อช่วยในการปรับแนวคิดทัศนคติ การใช้สติ การสื่อสารและการรับฟัง เพื่อให้สามารถกลับเข้ามาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่ทำผิดซ้ำและไม่ต้องกลับเข้าสู่ทัณฑสถานอีก

ทุกคนเห็นว่า นี่ไม่ใช่งานที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยเหลือกันได้ ผู้ต้องขังมีการฝึกอบรมทางอาชีพแล้ว อยากให้มีการฝึกอบรมด้านจิตใจร่วมด้วย

สรุป

แนวคิดการ Flip it ของ dtac นอกจากต้องการเปลี่ยนภายในองค์กรแล้ว ยังต่อยอดแนวคิดมาถึงการเปลี่ยนในสังคม เพื่อสร้างสิ่งที่ดีขึ้น หลายคนมีไอเดีย แต่ไม่สามารถลงมือทำ หลายคนลงมือทำแต่ขาดเงินทุน หลายคนมีเงินทุนแต่ขาดเครือข่าย ซึ่ง dtac สามารถเป็นแบ็คอัพช่วยตามความต้องการได้ ทุกโครงการที่ผ่านการคัดเลือกจะได้ทดลองจริง ส่วนโครงการไหนที่ไม่ผ่านการคัดเลือก หรือทดลองทำแล้วไม่ได้ผล อย่างน้อยก็เป็นการเรียนรู้ที่ดี แต่ถ้าประสบผลสำเร็จ นั่นคือ ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และนำไปสู่การขยายผล เพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นในอนาคต

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา