จากเป็นรองก็แกร่งได้ ศึกษาวิธีสร้างแบรนด์สไตล์น้ำดื่มคริสตัล และกะทิอร่อยดี ที่ใครๆ ก็ตามยาก

การสร้างแบรนด์ในปัจจุบันในมีหลากหลายวิธี ไม่ใช่ต้องมายึดติดแค่แผนการตลาดแบบ 4P เท่านั้น และจากการเลือกที่จะแตกต่าง ทำให้ “น้ำดื่มคริสตัล” และ “กะทิอร่อยดี” เติบโตก้าวกระโดด แถมแข่งกับเจ้าตลาดได้อย่างสูสี

สินค้าโภคภัณฑ์ก็ทำให้แตกต่างอย่างมีสไตล์ได้

สินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodity Product เป็นสินค้าที่ถูกควบคุมราคาโดยภาครัฐ และตัวผลิตภัณฑ์ก็แทบไม่ต่างกัน เช่นน้ำตาล, น้ำมัน และทองคำ ซึ่งน้ำเปล่าก็เป็นหนึ่งในนั้น และการจะสร้างแบรนด์น้ำเปล่าให้แข็งแกร่งก็เป็นเรื่องยาก เพราะใครล่ะจะไปใส่ใจ ขอแค่เป็นน้ำสะอาด ดื่มได้ ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายก็พอ

เลสเตอร์ เต็ก ชวน ตัน กรรมการผู้จัดการ บมจ.เสริมสุข ผู้ผลิต และจำหน่ายน้ำดื่มแบรนด์คริสตัล เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้มีผู้บริโภคในประเทศไทยถึง 41% ที่มองสินค้าน้ำเปล่าทุกแบรนด์เหมือนกัน ซึ่งถ้ามองแค่น้ำใสๆ มันก็เป็นเรื่องจริงที่จะไม่ต่าง แต่ถ้ามองลึกลงไปในแต่ละแบรนด์ก็จะต่างกันอย่างชัดเจน และบริษัทต้องสื่อสารเรื่องนี้ให้กับผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวรับรู้

“แม้มันจะทำให้มันต่างยาก แต่เสริมสุขก็ต้องทำให้ได้ เพราะถ้าต่าง สิ่งที่ตามมาคือเรื่อง Loyalty และทำให้เราเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งตอนนี้ทางแบรนด์เน้นเรื่องความสะอาด เช่นการได้รับรองมาตรฐาน NSF จากสหรัฐอเมริกา ประกอบกับใช้พรีเซนเตอร์ช่วยสร้างแบรนด์อีกทาง จนสามารถขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดได้ตามเป้าหมาย”

พรีเซนเตอร์คือเครื่องมือหลักของสินค้ากลุ่มนี้

สำหรับตลาดน้ำดื่มปีนี้มีมูลค่า 35,000 ล้านบาท ผู้เล่นในตลาดหลายรายต่างก็ส่งพรีเซนเตอร์ออกมา ไม่ได้มีแค่น้ำดื่มคริสตัลที่ทำอย่างนั้น อาทิน้ำดื่มสิงห์ ก็ใช้พรีเซนเตอร์หลายคน เพื่อแสดงความเป็นตัวเองอย่างแข็งแกร่ง และสื่อให้น้ำดื่มเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสิ่งต่างๆ ด้วย

ขณะเดียวกันพรีเซนเตอร์ก็ถูกใช้ในสินค้าน้ำดื่ม แต่น้ำกะทิก็เดินเกมเรื่องนี้เช่นกัน อย่างน้ำกะทิของบมจ.ไทย อกริ ฟู้ดส์ เจ้าของแบรนด์อร่อยดี ก็เพิ่งจ้างเชฟชุมพลมาเป็นพรีเซนเตอร์ เพื่อสื่อสารแบรนด์ พร้อมอาศัยความแข็งแกร่งของร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ใช้กะทิของบริษัทเป็นหลัก เพื่อช่วยสื่อให้ผู้บริโภคในไทยตัดสินใจเปลี่ยนแบรนด์

จากเน้นส่งออก สู่อีกแบรนด์ที่แข็งในประเทศ

ศศิวรรณ นวลศรี ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขาย และการตลาดภายในประเทศ บมจ.ไทย อกริ ฟู้ดส์ เสริมว่า ในต่างประเทศแบรนด์กะทิของบริษัทค่อนข้างแข็ง จึงนำจุดนี้มาเสริมแกร่งให้การทำตลาดในประเทศไทย จนทำให้เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยเฉพาะช่องทาง Traditional Trade ที่คิดเป็นกว่า 70% ของบริษัท และแข่งกับแบรนด์เบอร์หนึ่งในไทยได้ดีขึ้น

สรุป

การปั้นแบรนด์ให้แข็งแกร่งในช่วงนี้จะว่าง่ายก็ง่าย เพราะมีเครื่องมือสื่อสารไปยังผู้บริโภคมากมาย แต่จะว่ายากก็ใช่ เนื่องจากคู่แข่งของเราก็มีเครื่องมือเหล่านั้นเช่นกัน ดังนั้นอยู่ที่มุมมอง และความแตกต่างของแนวคิดแต่ละแบรนด์มากกว่า ว่าพวกเขาจะเข้าใจผู้บริโภคได้มากขนาดไหน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา