เปิดเบื้องหลังไส้กรอกแดงในตำนาน ทำไมถึงอร่อยตัวแม่ ไม่แคร์โภชนาการ?

หากอยากจะหาของกินเล่นสักอย่าง รสชาติถูกปาก หาซื้อง่ายไม่ยุ่งยาก เชื่อว่า ‘ไส้กรอกแดง’ คงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในใจหลายคน ของว่างยอดฮิต ที่คอยเติมความกรุบกรอบให้ชีวิตเราเสมอมา โดยที่เราทุกคนต่างแอบซ่อนความรู้ด้านโภชนาการเอาไว้ในใจ แล้วขอตามใจปากไปกับของว่างชนิดนี้ แล้วค่อยมารู้สึกผิดทีหลังก็ยังไม่สาย 

ในทุกครั้งที่ได้ลิ้มรสความกรอบอร่อยของไส้กรอกแดงที่ว่านี้ เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ไส้กรอกธรรมดาๆ มีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไร ที่ทำให้ถูกอกถูกใจ อร่อยกันทุกเพศทุวัยขนาดนี้ มาเจาะลึกเบื้องหลังความอร่อยของไส้กรอกแดงในตำนาน ของกินเล่นที่อยู่คู่กับคนไทยมานานกันเถอะ

เดินไปถึงรถเข็นขายลูกชิ้นเมื่อไหร่ หากสังเกตดีๆ เราอาจเห็นไส้กรอกแดง 2 แบบ แบบที่เสียบไม้เหมือนกับลูกชิ้นไม้อื่นๆ ในตู้ กับแบบที่ขายคู่กับลูกชิ้นปลาทอดกรอบ โดยถูกหั่นให้เป็นแฉกๆ เพื่อบวกความกรอบให้เข้าถึงทุกซอกทุกมุม แต่สุดท้ายแล้ว ทั้งสองแบบนั้น มาจากไส้กรอกแดงชนิดเดียวกัน เพียงแค่นำมาทอดในวิธีที่ต่างกันเท่านั้น ซึ่งยี่ห้อยอดฮิตขวัญใจพี่ๆ รถเข็น คือยี่ห้อ ‘แหลมทอง’ ที่มีโปรดักส์ตัวนี้ชูโรง จนหลายคนเรียกว่า ‘ไส้กรอกแดงในตำนาน’ ไปแล้ว (ถึงขนาดที่ในแคตตาล็อกสินค้าของบริษัทเอง ก็ใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า ไส้กรอกแดงในตำนาน ด้วยเช่นกัน)

ถ้าพูดถึงชื่อของบริษัทแหลมทอง หากเสิร์ชข้อมูลดูคร่าวๆ อาจจะเจอกับชื่อ ‘บริษัท แหลมทองสหการ จำกัด’ นั่นยังไม่ใช่ไส้กรอกแดงที่เราตามหา เพราะแหลมทองสหการ เป็นกิจการผลิตอาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงปศุสัตว์ในฟาร์ม ไข่ไก่ แป้งสาลี ไก่สดและไก่ปรุงสุก แล้วใครล่ะ ผลิตไส้กรอกแดงในตำนานที่เรากินอยู่ทุกวัน? จะว่าไม่ใช่บริษัทแหลมทองไปเลยก็ไม่ใช่ จริงๆ ก็คงต้องบอกว่าบริษัทในเครือแหลมทองนี่แหละ แต่เป็น ‘บริษัท แหลมทองโปรตีนฟู้ด จำกัด’ ที่อยู่ในประเภทธุรกิจผลิตเนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์ปีกด้วยการอบแห้ง การทำเค็มหรือ การรมควัน และปรากฎชื่ออยู่บนซองไส้กรอกแดงในตำนานอีกด้วย

นอกจากไส้กรอกแดงแล้ว ยังมีโบโลน่า ลูกชิ้น และไส้กรอกสารพัดชนิด โดยในปี 2564 บริษัทได้กำไรสุทธิไปกว่า 50 ล้านบาท ตัวเลขนี้อาจช่วยยืนยันว่ายี่ห้อนี้เป็นที่นิยมในตลาดขนาดไหน

‘แหลมทอง’ กลายมาเป็นเจ้าของตำนานไส้กรอกแดงได้ยังไง?

หากกลับไปที่จุดเริ่มต้น ชื่อของ ‘กลุ่มบริษัทแหลมทองสหการ’ ที่มีมายาวนานกว่า 70 ปี เดิมทีเริ่มต้นจากการค้าขายทั่วไป จนกระทั่งก่อตั้งบริษัท ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านในปีพ.ศ. 2489 หลังจากนั้นไม่นาน ในปีพ.ศ. 2493 ได้จดทะเบียนกิจการในนามห้างหุ้นส่วนจำกัดทองไทย และ บริษัท นิวไทยค้าพืช จำกัด โดยเริ่มจากการส่งออกพืชผลทางการเกษตร ขยายตลาดไปสู่สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และญี่ปุ่น

จากการส่งออกพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว ก็เริ่มขยับขยายเป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรมเต็มตัว โดยเริ่มที่โรงงานผลิตกระสอบปอ ในปีพ.ศ. 2506 และยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น ปีพ.ศ. 2510 ได้เพิ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ (สำหรับสมัยนั้น) ได้แก่ งานบริการจากไซโล ท่าเรือ และการผลิตแป้งสาลี แป้งสำเร็จรูปชนิดต่างๆ เช่น แป้งทำขนมปัง เค้ก บะหมี่ ปลาท่องโก๋ เป็นต้น และในช่วงปีพ.ศ. 2517-2522 เป็นช่วงที่หันมาจับธุรกิจด้านปศุสัตว์ อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ จนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่มบริษัทแหลมทองสหการไปแล้ว

จนกระทั่งในปัจจุบัน กลุ่มบริษัทแหลมทองสหการ ที่เป็นบริษัทแม่มีธุรกิจหลักอยู่ที่ปศุสัตว์และผลิตอาหารสัตว์ ได้มีบริษัทย่อยๆ สำหรับผลิตภัณฑ์ในประเภทอื่นๆ อีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น แป้งสาลี นมพร้อมดื่ม ไก่สดและไก่ปรุงสุก ไส้กรอก ไข่ไก่ ปศุสัตว์และอาหารสัตว์ บรรจุภัณฑ์และพลาสติก และอสังหาริมทรัพย์ 

จากการแตกไลน์ธุรกิจของกลุ่มบริษัทแหลมทองสหการ ทำให้เราพอเห็นภาพว่า กว่าจะมาเป็นไส้กรอกแดงในตำนานได้ เริ่มจากการมีวัตถุดิบที่ดีอยู่ในมือ นำมาผลิตเป็นอาหารแปรรูป ที่ทางแบรนด์เคลมว่า ผลิตจากเนื้อไก่อนามัย ปราศจากฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะ ไม่ใส่สารบอแรกซ์ ไม่ใส่โปรตีนสังเคราะห์ทดแทน ไม่ใส่วัตถุกันเสียสังเคราะห์ และผลิตภายใต้การควบคุมคุณภาพได้รับการรับรองมาตรฐาน HACCP GMP และ HALAL จึงได้มาเป็นไส้กรอกแดงในตำนาน ที่ยังคงความอร่อยผ่านกาลเวลากว่า 30 ปี

ทำไมไส้กรอกแดงถึงอร่อยไม่แคร์โภชนาการ

แม้เราจะล้อเลียนเจ้าไส้กรอกแดงกันจนติดปาก ว่าเป็นไส้กรอกแป้งล้วน แต่ถ้าเป็นยี่ห้อยอดฮิตอย่างแหลมทอง ลองมาพลิกดูส่วนผสมบนฉลาก พบว่าส่วนผสมนั้น เป็น ไก่ถึง 70% ที่เหลือเป็น น้ำ แป้ง และเครื่องปรุงรส ด้วยสัดส่วนนี้ ทำให้รสชาติของไส้กรอก ไม่ได้เป็นเพียงแป้งผสมสีผสมกลิ่น ทางแบรนด์เองจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมยี่ห้อนี้ถึงเป็นที่นิยมจากทั้งผู้ขายและผู้บริโภค 

นอกจากเรื่องส่วนผสมแล้ว จะว่าไป ไส้กรอกแดงเนี่ย จะเอาไปต้ม นึ่ง ลวก ปิ้ง ย่าง ยังไงก็ไม่อร่อยเท่ากับเอาไปทอดจนฟูกรอบทั่วทั้งชิ้น อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ ทำไมของทอดถึงทำให้เรารู้สึกอร่อยมากกว่ากรรมวิธีอื่น มันอร่อยกว่าจริงๆ หรือเราแค่คิดไปเองกันแน่นะ

นายแพทย์ Charles Spence ศาสตราจารย์ด้านการทดลองด้วยประวบการณ์เกี่ยวกับจิตใจ จาก University of Oxford ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “พวกเราเกิดมาชอบอาหารที่มีเสียงกรุบกรอบอยู่แล้ว แม้ว่าเสียงจะไม่ได้ให้คุณค่าทางโภชนาการ แต่เราไม่ชอบอาหารเหี่ยวๆ ชืดๆ แม้ว่ารสชาติจะเหมือนกันก็ตาม ดังนั้น เสียงกรุบกรอบจึงเป็นเรื่องสำคัญ” แม้ว่าอาหารสองอย่างมีรสชาติเหมือนกัน แต่ถ้าอันนึงกรอบ อันนึงไม่กรอบ ความพึงพอใจต่ออาหารนั้นก็จะต่างกันแล้ว เช่นเดียวกับของทอดอื่นๆ เช่น ไก่ทอด มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ เฟรนช์ฟราย เป็นต้น

ดูเหมือนว่า กุญแจสำคัญจะอยู่ที่ ความกรอบ ซึ่งความกรอบที่ได้มานั้น มาจากกระบวนการที่เรียกว่า oil uptake คือ การที่อาหารสูญเสียน้ำ ความชื้นในตัวเองไป แล้วน้ำมันเข้าไปแทนที่ ทำให้เกิดสัมผัสที่กรอบ แห้ง มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในการทอด 

เมื่อความกรอบเป็นสัมผัสแรกที่เราได้รับ เป็นเหมือนสิ่งดึงดูดใจให้เราเพลิดเพลินไปกับสัมผัสของอาหารคำนั้น นอกจากสัมผัสแล้ว เสียงของความกรอบ ก็ยังช่วยเพิ่มอรรถรสในการกินอีกด้วย ลองนึกถึงภาพโฆษณาของทอดสักอย่าง เช่น ไก่ทอดเจ้าดัง ที่มักจะเน้นย้ำไปที่ความกรอบ ภาพของแป้งทอดกรอบที่แค่มองก็รู้แล้วว่ามันจะกรอบแค่ไหน หรือแม้แต่เสียงในตอนที่กัดเข้าไปหนึ่งคำ 

หากจะหาของกินเล่นสักอย่าง ไส้กรอกแดงจึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างตอบโจทย์ ด้วยความกรุบกรอบที่ยั่วน้ำลายตามสัญชาตญาณ ราคาที่จับต้องได้ หาซื้อง่ายตามสตรีทฟู้ดทั่วไป กินได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กๆ รอซื้อหน้าโรงเรียนหลังเลิกเรียน ไปจนพนักงานออฟฟิศ กินเล่นรองท้องช่วงบ่าย ชื่อของไส้กรอกแดงจึงเป็นตัวเลือกอันดับแรกของหลายคนเสมอ

 

อ้างอิง

https://www.mentalfloss.com/article/531186/science-behind-why-we-crave-loud-and-crunchy-foods 

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/17196541/ 

http://www.laemthong.com/chicken-sausage-th.php 

https://ap.mju.ac.th/data_silo/newsys/2021-03-02-11-01-02-733164EFP.pdf 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา