Creator Economy มีมูลค่าแตะ 2.5 แสนล้านเหรียญ Goldman Sachs คาดพุ่งเกือบ 2 เท่าในอีก 4 ปี 

Creator Economy หรือธุรกิจสายคอนเทนต์ออนไลน์ยังไปต่อ Goldman Sachs รายงานมีมูลค่าอุตสาหกรรม 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐหรือเกือบ 8.8 ล้านล้านบาทในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

เศรษฐกิจของสายคอนเทนต์เกิดมาจากที่อินฟลูเอนเซอร์บนโซเชียลมีเดียอย่าง YouTube และ Instagram มีมากขึ้นจนกลายเป็นคำที่ใช้อธิบาย Ecosystem ของธุรกิจที่เกิดขึ้น 

Creator Economy ไม่ได้รวมแค่รายได้ของอินฟลูเอนเซอร์เท่านั้นแต่ยังรวมถึงคนที่เชี่ยวชาญในด้านอื่น ๆ ที่ทำงานร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเอเจนต์ ผู้จัดการส่วนตัว ผู้ช่วย นักตัดต่อวิดีโอ ไปจนถึงผู้ก่อตั้งบริษัทสาตาร์ทอัพและเทคโนโลยีที่สร้างแพลตฟอร์มที่อินฟลูเอนเซอร์ใช้สร้างรายได้และสร้างกลุ่มผู้ติดตาม

จากจุดเริ่มต้น อุตสาหกรรมครีเอเตอร์เติบโตจากแค่เรื่องแฟชั่นและไลฟ์สไตล์มาสู่อินฟลูเอนเซอร์ที่ถนัดในหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงิน เกม การท่องเที่ยว จนหลายคนทำรายได้ได้มหาศาล

Goldman Sachs ยังได้ประมาณมูลค่าของอุตสาหกรรมนี้ไว้ว่าจะถึง 4.8 แสนล้านเหรียญหรือ 16 ล้านล้านบาท หรือเกือบเป็น 2 เท่าของมูลค่าในปี 2023 

นักวิเคราะห์คาดว่า การเติบโตจะมาจากการลงทุนทำการตลาดของอินฟลูเอนเซอร์ การเกิดขึ้นของโมเดลธุรกิจการโฆษณา โดยเฉพาะในรูปแบบวิดีโอขนาดสั้น บนแพลตฟอร์มอย่าง Instagram, TikTok และ YouTube

Shannae Ingleton Smith ซีอีโอของ Kensington Grey Agency มองว่า Creator Economy จะยังไม่ชะลอตัวลงในเร็ว ๆ นี้ และจะเห็นคนมากขึ้นกลายเป็นครีเอเตอร์ เขามองว่าเป็นอาชีพที่สร้างความสำเร็จได้และหลายคนทำรายได้มากกว่างานสายเทคโนโลยีระดับสูง ๆ ด้วยซ้ำ แถมเม็ดเงินโฆษณาก็เป็นตัวบ่งบอกถึงความยั่งยืนที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ครีเอเตอร์ทุกคนที่จะสร้างรายได้ได้มาก ผลสำรวจครีเอเตอร์จำนวน 689 รายจาก Mavrck แพลตฟอร์มการโฆษณาที่ใช้อินฟลูเอนเซอร์พบว่า ราว 51% ทำรายได้ต่ำกว่า 500 เหรียญหรือ 17,600 บาทต่อเดือน ขณะที่เกือบ 1 ใน 4 กล่าวว่าทำรายได้มากกว่า 70,000 บาท และราว 4% ทำรายได้มากกว่า 350,000 บาทต่อเดือน

อีกสิ่งที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อน Creator Economy ก็คือ AI ในปีนี้ YouTube ได้เพิ่ม AI และฟีเจอร์ที่ช่วยให้การสร้างคอนเทนต์ง่ายขึ้น อุตสาหกรรมยังมีเป้าหมายให้ AI เข้ามาช่วยเพิ่ม Productivity และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับครีเอเตอร์แทนที่จะเข้ามาแทนที่คน

ในการสำรวจอินฟลูเอนเซอร์ 2,000 คนจากแพลตฟอร์ม Creator Now พบว่า อินฟลูเอนเซอร์ 90% ใช้ ChatGPT ในการสร้างคอนเทนต์และ 31% กล่าวว่า พวกเขาใช้ Midjourney ส่วนเหตุผลที่ใช้ก็เพราะว่าช่วยเพิ่มความเร็วในการสร้างคอนเทนต์

จากการสำรวจของธนาคารเพื่อการลงทุน Piper Sandler ในปัจจุบัน YouTube กลายเป็นแพลตฟอร์มที่วัยรุ่นใช้เป็นประจำทุกวันมากที่สุด แซงหน้า Netflix โดยวัยรุ่น 29.1% ใช้ YouTube ทุกวันขณะที่ 28.7% ใช้ Netflix 

ที่มา – Business Insider

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา