CPN แจงชัด Central Village พื้นที่ติดทางหลวงแผ่นดิน ไม่ใช่ที่ของทอท.

CPN ยังคงยืนยันว่า Central Village ได้รับอนุญาต และก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน โดยที่ดินติดทางหลวงแผ่นดิน 370 ไม่ใช่พื้นที่ของทอท.แต่อย่างใด

3 ประเด็นจากปากผู้บริหาร วอนหาข้อยุติ อย่าตีความฝ่ายเดียว

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคม เมื่อเซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN ได้ประกาศว่าจะเปิดให้บริการโครงการ Central Village (เซ็นทรัล วิลเลจ) ในวันที่ 31 สิงหาคม 2562 นี้ ซึ่งเป็น Luxury Outlet แห่งใหญ่มูลค่า 5,000 ล้านบาท ริมถนนสุวรรณภูมิ 3 ใกล้เคียงกับสนามบินสุวรรณภูมิ

แต่แล้วก็เจอทางท่าอากาศยานไทย หรือทอท.สะกัดขาด้วยการนำเตนท์มาปิดทางเข้าออกของโครงการ โดยให้เหตุผลว่าเป็นเขตพื้นที่ทางการบิน อยู่ในความรับผิดชอบของทอท. ทำให้ทาง CPN ก็ชี้แจงยกใหญ่ว่ามีการก่อสร้างอย่างถูกกฎหมาย

ล่าสุดวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ทาง CPN ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงถึงรายละเอียดต่างๆ พร้อมกับยืนยันว่าจะเปิดให้บริการตามกำหนด ขอให้หาขอยุติกันได้ตามกฎหมาย ไม่เป็นผลดีกับทั้ง 2 ฝ่าย

โดยที่ “ปรีชา เอกคุณากูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชี้แจงทุกประเด็น มีเนื้อหาสำคัญดังนี้

  1. พื้นที่โครงการติดทางหลวงแผ่นดิน 370 ไม่ได้อยู่ภายใต้ทอท. 

พื้นที่โครงการมีการเชื่อมทางเข้าออกอย่างถูกต้อง ไม่มีการรุกล้ำที่ดินของภาครัฐ (ที่ราชพัสดุ ลำรางสาธารณะ) และไม่ได้เป็นที่ดินตาบอด

  • ที่ดินโครงการ Central Village ตั้งอยู่บนที่ดินที่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท. ทำให้ทาง CPN ไม่ได้เจรจากับทางทอท.โดยตรง แต่พูดคุยกับทาง “สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย” หรือกพท. ถึงข้อระเบียบการบิน ซึ่งเป็นองค์กรที่กำกับดูแลทอท.อยู่แล้ว
  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เดิมเป็นที่ราชพัสดุ ต่อมากรมทางหลวงได้พัฒนาเป็นทางหลวงแผ่นดิน โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทำให้ไม่มีสถานะเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 7 (2) พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 และเป็นพื้นที่คนละบริเวณกันกับที่ภาครัฐเวนคืนมาเพื่อสร้างสนามบินที่ ทอท. ดูแล

  • โครงการได้รับอนุญาตเชื่อมทางอย่างถูกต้องจากกรมทางหลวง ซึ่งเป็นผู้ซึ่งมีอำนาจเต็มในการอนุมัติการเชื่อมทางแต่เพียงผู้เดียว
  • พื้นที่ทางหลวงหมายเลข 370 หมายรวมถึง เขตทาง และไหล่ทาง ซึ่งติดกับที่ดินของเอกชน 2 ข้างถนน ซึ่งที่ดินของโครงการมีแนวเขตแนบสนิทต่อเนื่องกับเขตทางของ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ดังนั้น ที่ดินของโครงการจึงไม่ใช่ที่ดินตาบอด
  • ที่ดินนี้อยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 และมีป้ายเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างชัดเจน 
ป้ายที่ทางทอท.ติดอยู่หน้าโครงการ Central Village
  • โดยทางหลวงแผ่นดิน 370 ซึ่งเคยเป็นที่ราชพัสดุ และมอบให้กรมทางหลวงสร้างและเป็นผู้ดูแล ซึ่งเป็นพื้นที่คนละส่วนกับพื้นที่ดินเวนคืนของสนามบินสุวรรณภูมิที่ ทอท ดูแล อีกทั้ง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ถือเป็นทางหลวงสาธารณะ ที่ใช้เงินภาษีอากรของประชาชน ไม่ใช่ขององค์กรเอกชนใดที่จะมากล่าวอ้างเป็นเจ้าของได้ 
  • ทำให้ชี้ได้ว่า สิทธินี้เป็นของกรมทางหลวง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ประโยชน์เข้าออกได้ต่อเนื่องมาโดยตลอดแล้วจำนวน 88 ราย โดยแบ่งเป็น ผู้ที่ยื่นขออนุญาตเชื่อมทางกับกรมทางหลวงจำนวน 37 ราย และทางทอท. เองก็ได้ขออนุญาตจากกรมทางหลวงในการใช้ประโยชน์ เช่น จากหลักฐานล่าสุดเมื่อ 14 พ.ค. 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท. เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก ทั้งนี้ ไม่มีผู้ใช้ประโยชน์รายใด เคยยื่นขออนุญาตเชื่อมทางจาก ทอท. เลย
  1. โครงการปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองอย่างเคร่งครัด 

  • โครงการนี้ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องในการก่อสร้างในพื้นที่สีเขียว บริเวณ ก1-10 ไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินพื้นที่สีเขียวบริเวณดังกล่าว โดยโครงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายผังเมือง และไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด

  1. ก่อสร้างอย่างถูกต้องตามหลักการบิน

ทาง CPN ได้มีการขออนุญาตก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอย่างถูกต้อง

  • โครงการมีความปลอดภัยต่อการบิน ไม่ได้ละเมิดกฏใดๆ ทั้งด้านความสูง และไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสนามบิน หรือรบกวนการบินแต่อย่างใด โดยแบบมีความสูงที่ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการติดธงแดงตามที่มีการกล่าวอ้าง 

ทั้งนี้ทาง CPN ยังเสริมอีกว่า อยากให้หาข้อยุติกันได้ตามกฎหมาย การเปิด Luxury Outlet น่าจะเป็นผลดีต่อทางทอท.ในการช่วยดึงนักท่องเทีย่วต่างชาติเข้ามาด้วยซ้ำ ไม่ควรตีความไปฝ่ายเดียว

ส่วนประเด็นที่มองว่าจะเป็นการกีดกันทางธุรกิจของธุรกิจดิตี้ ฟรีรายใหญ่หรือไม่ ปรีชาบอกว่า ไม่อยากคาดเดาไปเอง เพียงแต่มองว่าคนละตลาดอัน และอาจจะเสริมกันด้วยซ้ำไป นักท่องเที่ยวไปมาช้อปที่เอาท์เล็ต ก็ไปช้อปปิ้งในดิวตี้ ฟรีในสนามบินต่อได้ ซึ่งสินค้าในเอาท์เล็ตกับดิวตี้ ฟรีก็ต่างกัน ในดิวตี้ ฟรีมีความใหม่กว่าอยู่แล้ว ส่วนเอาท์เล็ตชูเรื่องความคุ้มค่า คุ้มราคา เป็นแบรนด์เนมที่เข้าถึงได้ง่าย

อย่างไรก็ตามทาง CPN ยังคงยืนยันว่าจะเปิดให้บริการตามแผนเดิมในวันที่ 31 สิงหาคม 2562 นี้ ภายในโครงการมีร้านค้ารวม 150 ร้านค้า แต่อาจจะมีร้านค้าจำนวน 70% ที่พร้อมเปิดให้บริการ คาดว่าภายใน 1-2 เดือนจะเปิดครบเต็ม 100% ตั้งเป้ามีผู้ใช้บริการวันละ 20,000 คน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา