นี่คือหนึ่งใน New Normal ของคนจีนรุ่นใหม่ วิกฤตโควิดได้ทิ้งบทเรียนสำคัญไว้ให้พวกเขา
วิกฤตโควิดส่งผลต่อเศรษฐกิจจีน กำลังซื้อลดลง
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า รัฐบาลจีนได้คาดการณ์ถึงสถานการณ์หลังโควิด (Post-covid) ไว้ว่า ประชาชนจะกลับมาจับจ่ายใช้สอยกันเหมือนเดิม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจในรอบหลายสิบปีและเป็นหนึ่งในกำลังหลักของการเติบโตในภาคการบริโภคของประเทศ
แต่ในความเป็นจริง กลับกลายเป็นว่าในช่วงยุคหลังจากที่โควิดระบาดน้อยลงและกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง กลุ่มคน Gen Y และกลุ่มคน Millennials (เกิดช่วงปี 1980 – 1997) ในจีนมีพฤติกรรมในการใช้จ่ายลดลงอย่างมาก กรณีนี้สอดคล้องกับการที่ห้างในจีนซึ่งแม้จะกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง แต่ผู้คนก็ยังกังวลใจที่จะต้องเดินทางออกมาซื้อสินค้า
สิ่งนี้ทำให้รัฐบาลกังวล เนื่องจากข้อมูลในปี 2019 ระบุว่า GDP ส่วนใหญ่ของประเทศจีนมาจากการบริโภคของประชาชน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด 19 ขึ้น ยอดค้าปลีกลดลงมากถึง 19 % ซึ่งนับเพียงในไตรมาสแรกของปี 2020 เท่านั้น หากสถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไปจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศจีนในระยะยาว
ผลวิจัยยืนยัน คนจีนรุ่นใหม่ระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น
มีผลการวิจัยหลายชิ้น (เช่นชิ้นนี้) ที่ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในจีนซึ่งเกิดหลังปี ค.ศ.1990 (กลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี) ไม่ค่อยให้ความสนใจเรื่องความมั่นคงทางการเงินมากนัก เพราะเติบโตมาในยุคที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญเรื่องการแสดงความเป็นตัวตนและเชื่อว่าต้องใช้ชีวิตให้เต็มที่ พูดง่ายๆ คือเกิดมาในยุคที่ไม่มีปัญหาเรื่องเงิน
วิกฤตโควิดรอบนี้จึงเป็นเหมือน New Normal และเป็นเสมือนการ disrupt วิถีชีวิตครั้งใหญ่ เพราะวิกฤตรอบนี้ทำให้พวกเขาต้องหันมาจัดลำดับความสำคัญของชีวิตใหม่
- ผลการวิจัยเมื่อเดือนเมษายนของ The Paper and the Shanghai University of Finance and Economics ระบุว่า ผู้ที่มีอายุระหว่าง 21-30 ปีในจีนกว่า 45 % ถูกลดเงินเดือนมากที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มคนในช่วงอายุอื่นๆ
- ผลการวิจัยของ Zhongyan Research Institute ระบุว่าในช่วงโควิด ผู้บริโภคในจีนกว่า 57 % ที่เกิดหลังปี 1990 และ 63 % ของผู้ที่เกิดหลังปี 1995 มีความตั้งใจที่จะวางแผนการใช้เงินอย่างระมัดระวังมากขึ้นในอนาคต
ตัวอย่างของคนจีนรุ่นใหม่ที่ต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่” เรื่องการใช้เงิน
Song Lewen อายุ 27 ปี เล่าให้ฟังว่า ก่อนช่วงโควิด 19 เธอไม่เคยกังวลเรื่องการใช้เงินเลย เธอมักจะใช้เงินเดือน 7,000 หยวน (ประมาณ 31,000 บาท) ไปกับการรับประทานอาหาร การช้อปปิ้ง การซื้อสินค้าหรูหรา และการท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปตั้งแต่ช่วงที่มีข่าวโควิด 19 ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ได้โดนปลดออกจากงานหรือถูกหักเงินเดือน เธอก็หันมาเก็บออมเงินมากขึ้น ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยและมั่นคง เธอเสริมว่าการต้องกักตัวและประหยัดเงินก็เป็นความสุขอีกแบบของเธอ
Tang Qi อายุ 29 ปี เล่าให้ฟังว่าสภาพการเงินของเธอพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือในช่วงโควิด 19 เพราะในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เธอได้นำเงินเก็บของเธอมาเปิดสตูดิโอภาพถ่ายในเซี่ยงไฮ้ แต่เธอก็ต้องพักเรื่องธุรกิจไป 2 เดือน เพราะนโยบายการ Social Distancing ของรัฐ และถึงแม้ว่าเธอจะไม่ได้รับรายได้เลย เธอก็ต้องจ่ายค่าเช่าและเงินเดือนพนักงานตามปกติ เธอจึงพยายามตัดค่าใช้จ่ายทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ และนำของที่มีไปขายบน Xianyu แพลตฟอร์มขายของมือสองของ Alibaba เมื่อธุรกิจของเธอได้กลับมาเปิดอีกครั้งในช่วงปลายเดือนมีนาคม ยอดขายก็น้อยกว่าเป้าที่เธอตั้งไว้มาก
Miranda Chang อายุ 34 ปี ก็ต้องปรับตัวเรื่องการใช้จ่ายในช่วงสถานการณ์โควิด 19 เช่นกัน เธอทำงานในสายการเงินมาตลอด ซึ่งตามปกติ เธอจะได้ค่าคอมมิชชั่นมากถึง 2 ล้านหยวนต่อปี (ประมาณ 8,800,000 บาท) ทำให้ไม่จำเป็นต้องคิดมากหากจะใช้จ่ายอะไร แต่เมื่อเจอกับสถานการณ์โควิด 19 รายได้ของเธอก็ลดลง เธอเล่าว่าต้องลดค่าใช้จ่ายลงถึง 60 % โดยลดการซื้อเสื้อผ้า เครื่องสำอางค์ ลดการทานอาหารที่ร้าน เหลือเพียง 1 ครั้ง ต่อเดือน เมื่อต้องไปทำงานที่ออฟฟิศ เธอก็เปลี่ยนจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี่มาเป็นการเตรียมอาหารมาเองจากที่บ้าน และจากเมื่อก่อนที่นั่งแท็กซี่ไปทำงานทุกวัน เธอก็หันมาเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินมากขึ้น
สรุป
แม้ว่าผลการสำรวจและวิจัยในช่วงยุคหลังโควิดในจีนจะสะท้อนภาพของการหดหายของกำลังซื้อในหมู่คนรุ่นใหม่ แต่ถึงที่สุดแล้ว อย่าลืมว่าคนจีน Gen Y เกิดมาในยุคที่ได้เชื่อมต่อกับคนอื่นๆ อยู่เสมอ เพราะฉะนั้นความต้องการในการเสพความบันเทิง ช้อปปิ้ง หรือทำกิจกรรมที่เปิดโลกกว้างยังคงอยู่ ดังนั้นจึงมีการคาดการณ์กันว่า หลังจากนี้นับไปอีก 3-6 เดือน การบริโภคของกลุ่มคนรุ่นใหม่จีนอาจจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
ทั้งนี้ แม้ว่าการบริโภคอาจกลับมา แต่หมวดสินค้าราคาแพงหรือสินค้าหรูหราอาจจะต้องใช้เวลานานกว่านั้น เนื่องจากคนรุ่นใหม่ในจีนตระหนักถึงเรื่องการใช้จ่ายเงินมากขึ้น ไม่เหมือนยุคก่อนหน้าวิกฤตโควิดแต่อย่างใด
ที่มา: World Economic Forum
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา