Corporate Venture Capital นั้นสำคัญอย่างไรต่อ startup

ปีนี้เกิด Corporate Venture Capital หรือ CVC ขึ้นอย่างต่อเนื่องในบ้านเรา สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของวงการ startup ที่เริ่มต้นจากการมีกลุ่มผู้บุกเบิกแจ้งเกิดในไทย ต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจ มี Venture Capital หรือ VC ที่เป็นกองทุนจากต่างประเทศเข้ามาช้อปปิ้งไป

และสุดท้ายองค์กรใหญ่ในแต่ละอุตสาหกรรมก็เริ่มรู้ตัวว่าถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง การ Disruption กำลังเกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรม และในอีกทางหนึ่ง startup เองก็เริ่มเห็นแล้วว่าต่อให้ไอเดียเจ๋งแค่ไหน แต่ถ้าเข้าไม่ถึงตลาด ค้นหาลูกค้าไม่เจอ ก็ไม่สามารถแจ้งเกิดได้โดยง่าย

ทำให้ปีนี้ CVC จากหลากหลายอุตสาหกรรมจึงเกิดขึ้นและถูกกล่าวถึงบ่อยขึ้น และนี่คือ 4 CVC จาก 4 อุตสาหกรรมที่น่าจับตามอง ได้แก่ InVent, Beacon Venture, PTT และ SIRI Venture จะมาพูดถึงความเคลื่อนไหวและแนวทางในแต่ละอุตสาหกรรม

Beacon จับกลุ่ม FinTech ลงทุน พัฒนาบริการเพื่อ KBank

สำหรับ Beacon Venture กล่าวได้ว่าเป็น CVC ที่เกิดขึ้นมาล่าสุด เตรียมงบลงทุน 1,000 ล้านบาท ปิดดีลกับ FlowAccount สตาร์ทอัพด้านบัญชีสำหรับ SME ได้ตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัว รวมถึงร่วมลงทุนใน Dymon Asia กองทุนด้านสตาร์ทอัพระดับเอเชีย เพื่อเข้าถึงข้อมูล FinTech ให้มากขึ้น

แม้จะเป็นน้องใหม่แต่คนกุมบังเหียนคือ ธนพงษ์ ณ ระนอง พี่ใหญ่ของวงการที่มากด้วยประสบการณ์ และรู้ว่า การ Disrupt ในวงการการเงินการธนาคารรุนแรงมากทั่วโลก การจะทำให้ธนาคารมีธุรกิจที่ยั่งยืน ต้องกระโดดเข้ามาร่วมด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เป้าหมายคือ ลงทุนและพัฒนาบริการใหม่ๆ ให้กับ KBank เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการทุกคน จากเดิมการจะพัฒนาบริการใหม่สักอย่างให้เกิดขึ้น ธนาคารต้องใช้กำลังคนไอทีอย่างน้อย 2-3 คน กับงบ 30 ล้านบาท ในเวลาอย่างน้อย 6 เดือน แต่สำหรับสตาร์ทอัพ อาจใช้ไม่ถึงครึ่ง

PTT ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ไม่นิ่งนอนใจ

ทั่วโลกธุรกิจพลังงานเคยติดอยู่อันดับต้นๆ ของธุรกิจที่มีมูลค่าสูงในตลาดหุ้น (ไทยก็ยังเป็นเช่นนั้น) แต่ถ้าดูในต่างประเทศ ต้องยอมรับว่ากำลังลดระดับลง สำหรับที่ PTT เองก็รู้และเข้าใจเรื่องนี้ดี จึงมีส่วนงานที่เรียกว่า Innovation Lab มาศึกษาธุรกิจใหม่ในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมประสิทธิภาพ และปัจจุบันได้ผนวกหน้าที่ด้าน CVC เข้ามาด้วย

แม้จะยังเป็นหน่วยงานภายในองค์กร ยังไม่ได้ตั้งเป็นบริษัทแยกอย่างชัดเจน แต่ก็มีงบลงทุน 45 ล้านดอลลาร์ต่อปี เน้นในธุรกิจด้าน EnergyTech, Science and Software รวมถึง Smart Grid, alternative Fuel และลงทุนในกองทุนต่างๆ เพื่อเรียนรู้

ต้องยอมรับว่า PTT ยังขยับตัวไม่เร็วนักเมื่อเทียบกับทั่วโลก เพราะธุรกิจหลักของ PTT คือธุรกิจพลังงานจาก fossil คือ น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเชื่อว่าการ Disrupt ทำได้ไม่ง่ายและยังมีเวลา แต่วันนี้ PTT ได้เริ่มต้นแล้ว

SIRI Venture เริ่มจากตั้งคำถาม แล้วหาคำตอบที่เป็นไปได้

ด้าน SIRI Venture จากอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์การร่วมทุนของ แสนสิริ และ SCB เน้นด้าน PropTech นำเทคโนโลยีมาใช้ตั้งแต่การออกแบบก่อสร้างจนถึงเรื่องไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย ซึ่งต้องบอกว่า อสังหาริมทรัพย์ เป็นธุรกิจรุ่นเดิมๆ เน้นการลงทุนและสร้างที่อยู่อาศัยเป็นหลัก

ดังนั้นการลงทุนด้านเทคโนโลยี จึงเน้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้อยู่อาศัย ดังนั้น นวัตกรรม จึงเป็นสิ่งสำคัญ

การเริ่มต้นจึงเริ่มจากการตั้งคำถาม เช่น ถ้าไม่ต้องเป็นเจ้าของบ้านจะเกิดอะไรขึ้น? เหมือนไม่เป็นเจ้าของรถแต่ก็เดินทางได้ จากนั้นก็เริ่มหาคำตอบ

InVent เน้นความช่วยเหลือใน 4 ด้านที่สตาร์ทอัพต้องการ

สำหรับ InVent ที่มีประสบการณ์มากที่สุด ได้แนะนำว่า CVC คือสิ่งที่สตาร์ทอัพต้องการ และจะให้ความช่วยเหลือ 4 ด้านสำคัญสำหรับ สตาร์ทอัพในแต่ละระดับ

  1. เงิน แน่นอนว่า เงิน คือพลังในการขับเคลื่อนธุรกิจ การเริ่มต้นต้องมีเงินเป็นองค์ประกอบสำคัญ
  2. ทรัพยากร CVC เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีทรัพยากรหรือ resource เป็นจำนวนมากที่จะช่วยสตาร์ทอัพได้
  3. เครือข่าย ทั้งลูกค้าและพันธมิตร เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพได้เข้าถึงตลาด หรือการมี CVC เป็นแบ็คอัพก็ช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าได้ไวขึ้น สร้างความเชื่อมั่นให้กับพันธมิตรอื่นๆ ในอนาคต
  4. ความเชี่ยวชาญ ทั้งด้านกฎหมาย ภาษี และการขยายธุรกิจ เป็นสิ่งที่สตาร์ทอัพต้องการ

บทสรุป CVC สำคัญอย่างไรต่อ startup

CVC ทั้ง 4 ได้สรุปใจความสำคัญระหว่าง CVC และ startup ได้ว่า

  1. องค์กรที่จะจัดตั้ง CVC ต้องเข้าใจความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เพราะ startup จะมาพร้อมกับไอเดียที่เป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นจึงไม่มีการยืนยันว่าจะสำเร็จหรือไม่
  2. การจัดตั้ง CVC จะทำให้องค์กรต้อง refresh ตัวเองใหม่ ปรับแนวคิดทัศนคิตของคนในองค์กรให้ทันการแข่งขันธุรกิจยุคใหม่ ให้ทันกับโลกใบใหม่ ซึ่งต้องมาสัมผัสจริงถึงจะรู้
  3. การทำหน้าที่ CVC ที่ดีคือ การเข้าไปตรวจสอบและบริหารความเสี่ยงให้กับ startup โดยการสร้าง Corporate Framework ไม่ใช่การ Control
  4. ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพบกันของ CVC และ startup คือช่วงเวลาทำความรู้จักกัน โดยไม่มีเรื่อง raise fund เข้ามาเกี่ยวข้อง
  5. สำหรับ startup รู้หรือไม่ งานทุกด้านต้องการ startup ที่นำเสนอแนวคิดใหม่ ไม่ใช่เพราะ front end แต่รวมถึง back end ซึ่งปัจจุบันมีน้อยมาก เช่น HRTech เป็นต้น
  6. startup ที่มีไอเดียดีๆ อย่ารอช้า รีบเข้ามาคุยกับ CVC ที่ตรงกับธุรกิจ รู้ไว้เลยว่า มีเรื่องต้องปรับเยอะมาก ตั้งแต่กระบวนการทำงาน จนถึงตัวบริการที่ต้องปรับให้เข้ากับตลาด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา