COP26 ไม่ได้มาเพื่อสร้างภาพหรือรายงานตัว อินโดมาเพื่อต่อรอง สหรัฐมาเพื่อทวงบัลลังก์ผู้นำโลก

ระดับผู้นำโลกอย่างไบเดน ไม่จำเป็นต้องรายงานตัวว่าทำงานได้ตามเป้ามั้ย ไม่จำเป็นต้องถ่ายรูปแสดงความใกล้ชิดกับผู้นำคนอื่นเพื่อสร้างภาพ แต่มาให้โลกจำบทบาทใหม่ของผู้นำสหรัฐ มาเพื่อลบภาพจำผู้นำเก่าที่ไม่น่าจำ ขณะที่ผู้นำอินโดนีเซียอย่างโจโค วิโดโดก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน เขามาเพื่อต่อรอง ไม่ใช่แค่ต่อรองเพื่อประเทศตัวเอง แต่ยังต่อรองให้ประเทศกำลังพัฒนาด้วย

COP26

สิ่งที่ผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำอินโดนีเซียทำ แตกต่างกับผู้นำไทยยังไง?

แน่นอนว่าถ้าเป็นมวยก็มวยคนละรุ่น
ถ้าแบ่งลำดับชั้นได้ ก็ถือว่าคนละชั้น

สหรัฐ ขอโทษที่ถอนตัวจากความตกลงปารีส ขอโทษที่ผู้นำคนก่อนมีท่าทีที่แย่ เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่เคยถูกเพิกเฉยมาในรัฐบาลก่อนหน้า พร้อมกับเป้าหมายที่เผยให้รู้ว่าตั้งใจจะทำอะไร โน้มน้าวให้ผู้นำประเทศอื่นทำตามอย่างวิถีผู้นำที่พึงจะเป็น ส่วนผู้นำอินโดนีเซียมาเพื่อโชว์ผลงานและที่สำคัญมาเพื่อเจรจาต่อรอง

แต่ผู้นำไทยกลับวางท่าทีเป็นผู้ตามที่ดี ถูกตั้งเป้าหมายว่าต้องทำอะไร ก็ทำให้ได้มากกว่าเป้า แค่นั้น ถือว่าน่าภูมิใจสำหรับผู้นำประเทศนี้ แต่ไม่ได้ริเริ่มเป้าหมายอะไรใหม่ๆ หรือปลุกใจคนในประเทศให้ได้ภูมิใจ เชื่อใจ อย่างที่ควรจะเป็น ไม่ได้เจรจาต่อรองให้ประเทศได้แรงสนับสนุนอะไรให้กับประเทศชาติเพิ่มขึ้นจากเวทีโลก ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะมีผู้นำประเทศไว้ทำไม?

ผู้นำอินโดนีเซีย ตัวแทนผู้นำโลกของประเทศกำลังพัฒนา

หากเทียบกับผู้นำอินโดนีเซีย อาจดูใกล้ตัวขึ้นมาหน่อยเพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน Joko Widodo กล่าวในเวที COP26 ได้ดี เขาพูดถึงทรัพยากรธรรมชาติในประเทศที่มีอยู่มากล้น แต่ประเทศก็ยังจะเดินหน้าช่วยจัดการปัญหาภาวะโลกร้อนต่อไป แต่สิ่งที่จำเป็นสำหรับภารกิจดังกล่าวคือ ประเทศอินโดนีเซียต้องการแรงสนับสนุนจากประเทศพัฒนาแล้ว โจโคไม่เพียงแต่เรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วหันมาช่วยเหลือส่งเสริมประเทศตัวเอง แต่ยังเรียกร้องเผื่อไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่เหลือด้วย โจโคบอกว่า การจะทำให้ภารกิจนี้สมบูรณ์ได้ ประเทศพัฒนาแล้วต้องให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อทำให้เกมเปลี่ยน ช่วยลดโลกร้อน และช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาได้

สิ่งที่โจโคเสนอไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นจุดยืนของประเทศตัวเองแต่ยังยืนหยัดเพื่อคนอื่น กำลังเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างที่ควรจะเป็น เพื่อผลประโยชน์ที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆที่อยู่ในระดับประเทศกำลังพัฒนาเหมือนกันรวมถึงผลประโยชน์ร่วมของวงประชุม COP26 ว่า ถ้าอยากทำให้เป้าหมายมันสำเร็จ ก็มาช่วยกันหน่อย (รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนากำลังถูกกดดัน เนื่องจากต้องระดมเงินทุนให้ได้ 1 แสนล้านเหรียญเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศรายได้น้อยให้ผลักดันเป้าหมายได้สำเร็จ)

โจโคเน้นว่า ประเทศพัฒนาแล้วต้องช่วยด้วยแรงเงินและแรงเทคโนโลยีด้วย อินโดนีเซียจะทำให้สำเร็จตามเป้าได้เร็วขึ้น คำถามที่สำคัญก็คือ ประเทศที่พัฒนาแล้วจะช่วยเหลือได้มากขนาดไหน เทคโนโลยีใดที่ประเทศพัฒนาแล้วจะถ่ายโอนให้ประเทศกำลังพัฒนาได้บ้าง นี่ต่างหากคือภารกิจที่ต้องเร่งทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

นอกจากนี้ โจโคยังบอกด้วยว่า อินโดนีเซียมีการตัดไม้ทำลายป่าลดลงในระดับต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ไฟป่าลดลง 82% ในปี 2020 และยังฟื้นฟูป่าโกงกางอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแค่นี้ ยังบอกอีกด้วยว่า อินโดนีเซียเดินหน้าพัฒนาระบบนิเวศของรถยนต์ไฟฟ้าด้วย อินโดนีเซียมีโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นเดียวกับสวนอุตสาหกรรมสีเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกาลิมันตัน

ผู้นำสหรัฐฯ บอกอะไรให้โลกรู้ ?

ด้านผู้นำสหรัฐไม่เพียงกล่าวรับผิดกับสิ่งที่ทำผิดก่อนหน้า แต่ยังเผยเป้าหมายและบอกให้โลกรู้ว่าเขาโน้มน้าวประชาชนในประเทศอย่างไร ไม่เพียงเท่านั้น ยังบอกให้โลกและประชาชนชาติตัวเองรับรู้ว่า สิ่งที่ทำอยู่ก็ทำเพื่อทุกคนในประเทศด้วย การทำพลังงานสะอาด การลดโลกร้อนและจำกัดไม่ให้องศาความร้อนของโลกอยู่ที่เท่าใดยังหมายถึงการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชนในประเทศด้วย เสมือนหนึ่งว่า แม้อยู่ต่างประเทศ หัวใจผู้นำก็ยังอยู่ที่ประชาชน ไม่ใช่เพียงแค่สร้างภาพถ่ายรูปให้โลกรับรู้ราวกับว่า ผู้นำคนที่ถ่ายรูปกับตนเองยอมรับในสถานะของตนเอง

ไบเดนบอกว่า เขาไม่ควรต้องขอโทษ แต่เขาก็อยากจะขอโทษที่รัฐบาลชุดที่แล้วของสหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงปารีส ไบเดนกล่าวขณะประชุมสุดยอดผู้นำที่ Glasgow ก่อนหน้านี้ เขาประกาศว่าจะเข้าร่วมความตกลงปารีสหลังจากทำพิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐอเมริกาได้ไม่กี่ชั่วโมง เขาบอกว่า นี่คือความท้าทายร่วมกันตลอดชีวิตของทุกคน นี่คือภัยคุกคามมนุษย์ ทุกวันนี้เราช้าไปหมด ต้นทุนจากการไม่ลงมือทำอะไรมีเพิ่มขึ้นทุกวัน ช่วงเวลานี้ เรากำลังตอบคำถามประวัติศาสตร์ว่า เรามารวมตัวกันอยู่ที่ Glasgrow นี้เพื่ออะไร

Biden หวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ช่วยกันลดการปลดปล่อยพลังงาน ลดโลกร้อนที่อุณหภูมิกำลังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราสามารถทำให้ได้ตามเป้าในการจำกัดให้ภาวะโลกร้อนอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ช่วงเวลานี้จะต้องเป็นทศวรรษแห่งความทะเยอทะยานในการสรรค์สร้างนวัตกรรมเพื่อปกป้องรักษาโลกไว้ด้วยกัน

นอกจากนี้ เขายังประกาศข้อริเริ่มใหม่เพื่อแสดงให้เห็นถึงพันธสัญญาที่สร้างนวัตกรรมทุกภาคส่วน เพื่อหาทางออกความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร น้ำมันหรือก๊าซและการรับมือกับการตัดไม้ทำลายป่า สหรัฐฯ จะเผยให้เห็นยุทธศาสตร์ระยะยาวโดยการทำคำมั่นสัญญากับสหภาพยุโรปว่าจะลดการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างน้อย 30% ภายในช่วงปลายทศวรรษ

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังทำ social safety net หรือโครงข่ายรองรับทางสังคมและข้อเสนอโครงสร้างพื้นฐานที่มุ่งเป้าเพื่อแก้วิกฤตสภาพอากาศด้วย เขาย้ำว่า “เวลาเขาพูดเรื่องสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงกับคนอเมริกัน เขาจะบอกว่ามันทำให้สร้างงาน สร้างอาชีพได้”

แม้งบประมาณเรื่อง Climate Change ในสหรัฐฯ กว่า 5 แสนเหรียญสหรัฐยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่จบ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่สหรัฐ​ฯ เพิกเฉยได้ นี่คือการลงทุนกับพลังงานสะอาดครั้งประวัติศาสตร์ มันคือการให้คนงานวางสายไฟยาวหลายพันไมล์เพื่อใช้พลังงานสะอาดที่ทันสมัย สร้างรถไฟฟ้าเพื่อยุคต่อไป เพื่อช่างไฟฟ้าที่สามารถติดตั้งโครงข่ายรถยนต์ทั่วประเทศ 500,000 สถานี เพื่อวิศวกรที่จะออกแบบระบบตรวจจับคาร์บอนแบบใหม่ เพื่อคนงานก่อสร้างทั้งหลายที่จะทำให้ภาพที่ว่ามานี้เป็นจริงได้ดังใจหวัง

ไบเดนระบุว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงคือความจำเป็นทางเศรษฐกิจและคุณธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นผลประโยชน์ในตัวเองของทุกชาติ เขายังเรียกร้องโลกจงลงมือทำเพื่อสร้างแหล่งพลังงานที่หลากหลาย เพื่อแก้ปัญหาราคาพลังงานที่มีความไม่แน่นอน

ที่มา – CNN, CNA

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา