ธนาคารแห่งประเทศไทย : การเมืองกับเศรษฐกิจเชื่อมโยงกันอย่างไร?

เมื่อการเมืองเป็นเรื่องการตั้งรัฐบาลที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติ ออกนโยบาย ทำมาตรการที่ดีกับประชาชน (?) แต่เศรษฐกิจดูเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ เมื่อหลายคนสงสัยว่าการเมืองกับเศรษฐกิจเชื่อมโยงกันอย่างไร Brand Inside หาคำตอบมาให้แล้ว?

ภาพจาก Shutterstock

เปิดการ์ดความเชื่อมโยง! การเมือง-เศรษฐกิจเป็นเรื่องเดียวกัน

ปกติแล้วรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศว่าจะพัฒนาไปในทิศทางใด โดยคณะรัฐบาลจะออกนโยบาย และมาตรการผ่านกระทรวงต่างๆ ดังนั้นการเมืองตั้งแต่การก่อน-หลังการจัดตั้งรัฐบาล (ไม่ว่าจะมาจากประชาธิปไตยหรือเผด็จการ) ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ อย่างแน่นอน

ปัจจุบันการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจเกิดขึ้นทั่วโลก อย่างทฤษฎี “วัฏจักรเศรษฐกิจการเมือง” (Political Business Cycle) ของ William D. Nordhaus นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ที่ศึกษาพฤติกรรมของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย พบว่าหากรัฐบาลอยู่ครบวาระ และประเทศนั้นๆ สามารถกำหนดการเลือกตั้งได้แน่นอน เช่น มีการเลือกตั้งทุก ๆ 4 ปี 

จะเห็นว่ารัฐบาลมักอัดฉีดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงใกล้การเลือกตั้งเพื่อเพิ่มคะแนนความนิยมในระยะสั้น แต่ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มักจะใช้มาตรการรัดเข็มขัด เพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจให้ลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม (รูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ตามเวลาที่มีตารางแน่นอน จะเรียกว่า “Calender Effect”)

ทั้งนี้จะเห็นตัวอย่างในเศรษฐกิจเม็กซิกันมี calendar effect ทุกๆ 6 ปตามรอบการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยในช่วงก่อนการเลือกตั้งประมาณครึ่งปี รัฐบาลจะใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว และในปีแรกภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะสลับไปใช้นโยบายแบบรัดเข็มขัด รวมถึงการเบิกจ่ายล่าช้า ทำให้เกิดวัฏจักรทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวและชะลอตัวสลับกันไปมาเช่นนี้ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา (ข้อมูลจาก Moody’s Analytics )

อย่างไรก็ตามยังไม่มีทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับวัฎจักรการเมืองอย่างไร แต่มีหลักฐานให้เห็นชัดว่าความเสี่ยงทางการเมืองส่งผลลบต่อเศรษฐกิจได้ เช่น Bloomberg Economics วิเคราะห์ว่า หากอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) หรือ Brexit แบบไร้ข้อตกลงอาจทำให้ GDP ของอังกฤษต่ำลง 7% ภายในปี ค.ศ.2030 เมื่อเทียบกับกรณีไม่ออกจาก EU

ส่องผ่านเลนส์ประเทศไทยการเมืองทั้งกระตุ้น-ฉุดเศรษฐกิจ

จากบทความ “เปิดทฤษฎีวัฏจักรเศรษฐกิจการเมืองฉบับไทยๆ (1)” จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สรุปว่า แม้การเมืองไทยไม่มี Calendar effect ที่ชัดเจน (ไม่มีรูปแบบเฉพาะที่เกิดขึ้นตามช่วงเวลา) แต่ภาพรวมจะเห็นว่า วัฎจักรการเมือง และวัฎจักรเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กันประมาณ 20% ซึ่งหลังจากปี 2540 ที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองไทย ทำให้วัฎจักรการเมืองและวัฎจักรเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นเป็น 30%

ทั้งนี้เสถียรภาพทางการเมืองเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือ นายกรัฐมนตรีบ่อยๆ อาจสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ เช่น

  • ภาครัฐจะดำเนินนโยบายไม่ต่อเนื่อง
  • ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลอาจมีการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า
  • ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ทันสถานการณ์
  • ภาคเอกชน ภาคธุรกิจชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจนของนโยบาย
  • เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ เช่น การไหลเข้าขออกของเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ เช่น ภาคการคลังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือไม่ต่อเนื่องในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลอาจทำให้การขยายเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลง และมีความผันผวนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

สรุป

เรื่องปากท้องและเศรษฐกิจดูจะเป็นเรื่องใกล้ตัวเสมอ ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีประชาชนยิ่งจับตามองว่ารัฐบาลจะออกนโยบายมาดูแลคนในชาติอย่างไร ทว่าตอนนี้การเมืองไทยก็มีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้นทุกวันคงต้องลุ้นกันว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเซ็ตนี้จะดำเนินนโยบายอย่างไรเพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาได้จริงหรือไม่?

ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย 1, 2,

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง