การทุ่มเทกับการทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อหวังจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่การเลื่อนขั้น เพิ่มเงินเดือน คงไม่ใช่สิ่งที่คนในยุคนี้ต้องการอีกแล้ว
เพราะการทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ ไม่มี Work Life Balance ที่ดี จนทำให้งานเข้ามาเบียดบังช่วงเวลาการพักผ่อนในชีวิตส่วนตัว จะนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า การหมดไฟ หรือ Burnout ซึ่งส่งผลต่อการทำงานในระยะยาว แม้ในช่วงแรกจะดูเหมือนว่าการทำงานหามรุ่งหามค่ำ จะสร้างประสิทธิภาพการทำงานได้ดีกว่าก็ตาม
โดยองค์การอนามัยโลกจัดให้ภาวะหมดไฟ เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการทำงาน และความเครียดเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษาให้หายขาด แม้ไม่ใช่โรค หรืออาการเจ็บป่วยแต่ก็ต้องได้รับการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ โดยมีอาการที่เห็นได้ 3 ด้าน คือ
-
- รู้สึกไม่มีแรง และอ่อนเพลีย
- มีความรู้สึกในแง่ลบ ดูถูกงานตัวเอง และไม่พอใจกับงานที่ทำ
- ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ปัญหาของพนักงานที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำจนเกินพอดี เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกๆ บริษัท ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ จนหลายๆ บริษัท ต้องเปลี่ยนนโยบายให้พนักงานสามารถลาพักร้อนได้ไม่จำกัดในแต่ละปี เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานได้ผักผ่อนในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น
วันลาพักร้อนไม่จำกัดไม่ได้ผล ถ้าพนักงานไม่ยอมใช้สิทธิ์
แต่นโนบายวันลาพักร้อนไม่จำกัดดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้ผลเท่าไหร่ เพราะสุดท้ายแล้วพนักงานแต่ละคนกลับไม่ยอมใช้สิทธิ์วันลาพักร้อนที่ตัวเองมี
Chatbooks บริษัทแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาก็เจอกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน แม้บริษัทจะอนุญาตให้พนักงานลาพักร้อนได้ไม่จำกัดตั้งแต่ปี 2014 แต่กลับไม่ค่อยมีพนักงานคนไหนใช้สิทธิ์ลาพักร้อนเลย โดยเฉพาะในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วสะสมกลายเป็นปัญหาที่กระทบต่อสุขภาพจิต และการทำงาน
ในท้ายที่สุด Chatbooks จึงต้องตัดสินใจบังคับให้พนักงานใช้สิทธิ์วันลาพักร้อนของตัวเอง 5 วันติดต่อกัน ในทุกๆ ไตรมาส Dan Jimenez ผู้บริหารของ Chatbooks เล่าว่า “การกำหนดจำนวนวันลาพักร้อนขั้นต่ำ สำคัญมากกว่าการกำหนดจำนวนวันที่พนักงานสามารถลาพักร้อนได้ แค่วันลาพักร้อนไม่จำกัดเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ”
นอกจากวันลาพักร้อนที่ไม่จำกัดแล้ว Chatbooks ยังอนุญาตให้พนักงานลางานในกรณีอื่นๆ ได้ไม่จำกัดเช่นกัน เช่น การลางานไปหาหมอ การลางานไปเพื่อร่วมกิจกรรมกับลูกที่โรงเรียน
ใครตอบอีเมล์งานช่วงพักร้อน ไม่ได้เงินเดือน
SimpliFlying บริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านการตลาดแก่สายการบิน ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มีนโยบายให้พนักงานลาพักร้อนได้ไม่จำกัดตั้งแต่ปี 2016 แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบคือ ความไม่เป็นธรรมในการใช้วันลา พนักงานบางคนลางานบ่อยเกินไป ในขณะที่พนักงานบางคนก็ไม่ยอมใช้สิทธิ์ลางานที่ตัวเองมีเลย
วิธีแก้ไขปัญหาของ SimpliFlying คือการบังคับให้พนักงานลาพักร้อนยาว 1 สัปดาห์ ในทุกๆ 8 สัปดาห์ โดยต้องการให้พนักงานใช้ช่วงเวลานี้ Disconnect ออกจากการทำงาน ห้ามพนักงานที่อยู่ระหว่างการลาพักร้อนตอบอีเมล์ หรือแม้แต่ส่งข้อความในแอปพลิเคชัน Slack ซึ่งหากพนักงานฝ่าฝืนก็จะไม่ได้รับเงินเดือนในช่วงที่กำลังลางาน
ที่มา – cnn
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา