ไม่ไหวบอกไม่ไหว! หมดไฟก็พัก เรียนรู้วิธีทำงานใหม่ ไม่ไหวอย่าฝืน หมดไฟให้พักก่อน

ภาวะหมดไฟ หรือ Burnout เกิดขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะกับมนุษย์เงินเดือนที่ต้องเจอกับความเหนื่อยล้าทุกวัน สภาพการทำงานที่ทำให้เกิดความเครียดเรื้อรัง สะสมนานวันเข้าจึงกลายเป็นภาวะหมดไฟในที่สุด ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้เผยผลการศึกษาประเทศที่มีคนหมดไฟมากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่

  • ประเทศอังกฤษ 57%
  • ประเทศสหรัฐอเมริกา 50%
  • ประเทศสเปน 37%
  • ประเทศเยอรมัน และฝรั่งเศส 30%
ภาวะหมดไฟ burnout ภาพจาก Shutterstock

สาเหตุหนึ่งของภาวะหมดไฟนอกจากความเครียดเรื้อรัง และความกดดันในที่ทำงานแล้ว ยังเกิดขึ้นจากการฝืนมาทำงานแม้ป่วย หรือทำงานเกินความสามารถของตัวเอง ซึ่งมีคำเรียกว่า Presenteeist Culture ด้วย

แม้ว่ามันอาจดูเหมือนเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน แต่ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง เพราะทำลายทั้งสุขภาพ และลดประสิทธิภาพในการทำงาน

แม้ว่าการฝืนมาทำงานแม้ป่วย ดูเหมือนว่าจะเป็นผลดีแก่บริษัท เพราะไม่มีพนักงานคนไหนลางาน ทุกคนมาทำงานได้เหมือนเดิม ไม่ต้องหาคนมาทำงานแทน แต่ความจริงแล้วส่งผลเสียกับบริษัทมากกว่าจะเป็นผลดี เพราะในระยะยาวพนักงานที่ฝืนมาทำงานจะเจ็บป่วย สุดท้ายก็ต้องยอมลางานในที่สุด

องค์การอนามัยโลกจัดให้ภาวะหมดไฟ เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการทำงาน และความเครียดเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษาให้หายขาด แม้ไม่ใช่โรค หรืออาการเจ็บป่วยแต่ก็ต้องได้รับการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ โดยมีอาการที่เห็นได้ 3 ด้าน คือ

  • รู้สึกไม่มีแรง และอ่อนเพลีย
  • มีความรู้สึกในแง่ลบ ดูถูกงานตัวเอง และไม่พอใจกับงานที่ทำ
  • ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

เห็นแบบนี้แล้วคงไม่มีใครอยากให้ภาวะหมดไฟเกิดขึ้นกับตัวเอง ดังนั้นควรหาทางป้องกันภาวะหมดไฟ ดีกว่าแก้ไขเมื่อเป็นแล้ว

ภาพจาก Pixabay

เปลี่ยนนิสัยใหม่ หัวหน้าทำก่อน แล้วลูกน้องตาม

ในหลายๆ บริษัทมีวัฒนธรรมองค์กรที่ลูกน้องทำตามหัวหน้า ถ้าหัวหน้าบ้างาน ทำงานหนักตลอดเวลา ลูกน้องก็จะทำตามไปด้วย ดังนั้นหัวหน้าจึงควรเริ่มเปลี่ยนนิสัยเป็นตัวอย่างให้ลูกน้อง เช่น พักทานข้าวให้ตรงเวลา ไม่ทานข้าวกลางวันเลท ระหว่างวันหยุดพักบ้าง เดิน ยืดเส้นยืดสาย เปลี่ยนบรรยากาศ และกลับบ้านให้ตรงเวลา ไม่อยู่ทำงานจนดึกทุกวัน หรือทางที่ดีควรจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพให้พนักงานได้ปรึกษา หากพวกเขาเริ่มมีภาวะเครียดจากการทำงาน

อย่ามัวแต่รอ เริ่มได้จากตัวเอง ถ้าคุณไม่ดูแลตัวเอง แล้วใครจะดูแลคุณ เพราะสุขภาพที่ดีหาซื้อไม่ได้ คุณควรดูแลตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก มีหลายวิธีที่จะช่วยลดความเครียดจากการทำงานที่คุณสามารถทำตามได้แบบง่ายๆ ดังนี้

1. จัดลำดับความสำคัญในชีวิต ในปีนี้คุณตั้งเป้าหมายไว้อย่างไร ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว อะไรที่คุณควรให้ความสำคัญมากกว่าเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อรู้ความสำคัญแล้วก็ค่อยๆ เริ่มลงมือทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยไม่ต้องรีบ

2. ตั้งเป้าหมายในแต่ละเดือน จากข้อ 1 เมื่อคุณจัดลำดับความสำคัญและเริ่มลงมือทำได้แล้ว ลองตั้งเป้าหมายในแต่ละเดือนว่าคุณจะต้องทำอะไรให้เห็นผลบ้าง เช่น คุณต้องการเก็บเงินเพื่อไปเที่ยว ในแต่ละเดือนคุณสามารถตั้งเป้าเก็บเงินเดือนละ 5 พันบาทหรือน้อยกว่า หรือมากกว่านี้ก็ได้ ตามศักยภาพที่คุณทำได้

นอนหลับ
ภาพจาก pixabay.com

3. เหนื่อยนัก ต้องพักสักหน่อย โดยเฉพาะการนอนหลับให้เพียงพอในทุกวัน เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ทำให้ไม่เจ็บป่วยบ่อย โดยอาจเริ่มจากเลิกเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ก่อนนอนสัก 2 ชั่วโมง จะช่วยให้หลับง่ายมากขึ้น

4. ลุกบ้าง อย่านั่งอย่างเดียว โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งอยู่กับที่นานๆ ลองลุกขึ้นมาเดิน ให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวบ้าง จะดีกว่านั่งอยู่เฉยๆ

5. ช่วยเหลือคนอื่น ลดความเครียดได้ บางครั้งเมื่อคุณจมอยู่กับเรื่องเดิมนานๆ อาจเกิดความเครียดขึ้นได้ ลองลุกไปพูดคุย ให้คำปรึกษากับเพื่อนร่วมงานดูบ้าง จะเป็นการพักสมองจากเรื่องที่คุณคิด ซึ่งจะช่วยลดความเครียดได้ดี

ที่มา – weforum, WHO

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา