แม้ผู้คนต้องการใช้เครื่องมือสื่อสารมากขึ้นในยุคโควิด แต่บริษัทค้าปลีกอุปกรณ์ไอทีก็ถูกกระทบไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ แล้วอะไรที่ทำให้ COM7 ยังมีกำไรโตเท่าตัวในช่วงเวลาแบบนี้?
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค กลายเป็นสิ่งของจำเป็นต่อผู้คนมากกว่าครั้งไหนๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าธุรกิจไอทีจะสร้างกำไรขึ้นมาได้ทันที เพราะแน่นอนว่าธุรกิจก็ถูกกระทบจากการสั่งปิดร้านในพื้นที่เสี่ยง การจำกัดการเดินทาง และความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภคเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ
พูดกันง่ายๆ ถ้าจะตอบรับความต้องการซื้อมหาศาลในช่วงที่ทุกอย่างมีข้อจำกัด บริษัทต้องมีการปรับกลยุทธ์กันยกใหญ่เพื่อเปลี่ยนอุปสงค์ที่พุ่งสูงให้เป็นกำไร
มาดูกันว่า บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 ทำอย่างไรถึงมีกำไรโตเท่าตัวในช่วงไตรมาส 2/2564
COM7 กำไรโตเท่าตัวในไตรมาส 2/2564
COM7 มีผลประกอบการที่น่าประทับใจในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา สามารถทำรายได้กว่า 11,562 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตที่ 48.7% หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรสุทธิกว่า 587 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 113.9% หรือพูดง่ายๆ คือเกินเท่าตัว หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
คุณณรงค์ ศรีวรรณวิทย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสายงานขาย และธุรกิจค้าปลีก บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่าแม้ตัวเลขการเติบโตจะดูเยอะ แต่ต้องไม่ลืมว่า ไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมาคือช่วงเวลาที่โควิดเริ่มระบาดเป็นครั้งแรกทำให้ร้านสาขาต้องปิดไป 1 เดือนเต็มๆ โดยไม่มีรายได้และกำไร แต่อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ
สำหรับสินค้าที่มียอดขายเติบโตมากที่สุดในช่วงไตรมาส 2 คือ สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่มียอดขายเติบโตจากช่วงไตรมาส 2/2563 ถึง 65% และ 78% ตามลำดับ เพราะสินค้าเหล่านี้ทวีความจำเป็นต่อผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา
COM7 ระบุว่า ยอดขายของสินค้าไอทีมีความพิเศษคือ แม้จะมียอดขายร่วงลงในช่วงที่รัฐสั่งปิดสาขาต่างๆ แต่เมื่อกลับมาเปิดยอดขายก็จะทบกลับมาอยู่ดีเพราะถึงร้านค้าจะปิดแต่สินค้าก็ยังมีความจำเป็น ลูกค้าจะกลับมาซื้อใหม่อีกครั้งเมื่อร้านค้าเปิด
อย่างไรก็ตาม COM7 ไม่ได้นิ่งเฉยต่อความท้าทายใหม่อย่างการแพร่ระบาดของโควิด แต่เตรียมกลยุทธ์เพื่อตอบรับกับอุปสงค์สินค้าไอทีที่เพิ่มขึ้น ทั้งปรับปรุงเพิ่มเติมช่องทางออนไลน์ และขยายสาขาในรูปแบบใหม่ๆ
หันไปหาช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น
หลังสิ้นสุดไตรมาส 2/2564 บริษัทมีสาขาทั้งสิ้น 936 สาขา ครอบคลุม 75 จังหวัด มีการขยายสาขาเพิ่มจากช่วงไตรมาส 2/2563 ทั้งสิ้น 157 สาขา แต่หลังจากโควิดระบาดระลอกใหม่ คุณณรงค์ระบุว่า COM7 จำเป็นต้องปิดสาขาชั่วคราวกว่าครึ่ง เหลือสาขาที่ยังสามารถเปิดได้อยู่เพียง 400 สาขาเท่านั้น และสามารถให้บริการครอบคลุมเพียง 48 จังหวัด
ทางออกของปัญหาเบื้องต้น คือการหันไปพึ่งพาช่องทางออนไลน์เพื่อให้บริการของ COM7 ยังครอบคลุมผู้บริโภคทั่วประเทศดังเดิม โดยการจัดจำหน่ายผ่านช่องทาง BNN.in.th โดยมีบริการผู้ช่วยช็อปผ่าน LINE@ ขั้นต่ำ 1 คน ต่อ 1 จังหวัด และเมื่อทำการสั่งซื้อ COM7 ก็มีบริการส่งฟรีไม่มีขั้นต่ำ ไม่ผลักภาระให้กับผู้บริโภค
ลูกค้าของ COM7 ค่อนข้างปรับตัวย้ายช่องทางการสั่งซื้อได้ดี สังเกตได้ว่าหลังจากโควิดระบาดอีกระลอกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา ยอดขายออนไลน์ในทุกหมวดหมู่มีการปรับตัวขึ้นอย่างต่ำๆ ก็ 2 เท่า
ตัวอย่างเช่น สมาร์ทโฟน ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่โควิดยังไม่ระบาดหนักจนถึงขั้นล็อกดาวน์ ยอดขายสมาร์ทโฟนผ่านช่องทางออนไลน์ (เทียบกับช่องทางอื่น) คิดเป็น 1% แต่หลังจากเดือนกรกฎาคม ยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์กระโดดมาอยู่ที่ 6%
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าลูกค้าทุกคนจะสามารถเข้าถึงช่องทางออนไลน์ได้หมด และสินค้าบางประเภท เช่น โทรศัพท์ลูกค้าอยากจะเล่นเครื่องจริงที่สาขาดูก่อน ยังมีลูกค้าอีกกว่า 94% ที่ยังซื้อโทรศัพท์ผ่านทางออฟไลน์ COM7 จึงยังมีกลยุทธ์อื่นๆ เพิ่มเติมอีกนอกเหนือไปจากออนไลน์
เน้น Pop Up Store: สาขาไม่เยอะ แต่บริการครอบคลุมกว่าเดิม
ล่าสุด COM7 จะเปิด Pop Up Store เพิ่มกว่า 57 สาขา ทดแทนสาขาที่ปิดไปเพราะมีคำสั่งจากทางรัฐบาลให้งดเปิดสาขาที่อยู่ในห้างและพื้นที่อื่นๆ ที่ระบุ
แม้ว่าในแง่จำนวนอาจจะไม่สามารถทดแทนสาขาที่ปิดตัวลงเป็นการชั่วคราวกว่า 400 สาขา แต่ Pop Up Store จะชูจุดเด่นในการให้บริการที่ครอบคลุมช่วยให้ COM7 ให้บริการได้ถึง 74 จังหวัด เพิ่มขึ้นจากเดิมที่โดนสั่งปิดไปจนสามารถให้บริการครอบคลุมแค่ 48 จังหวัด เท่านั้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา