เปิดวิสัยทัศน์ COM7 จากร้านคอมเล็กๆ สู่ค้าปลีกสินค้า IT เบอร์หนึ่งในประเทศไทย

COM7 เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และถึงจะเผชิญกับ COVID-19 ตัวธุรกิจก็ยังมีอัตราเติบโต ดังนั้นลองมาศึกษาวิสัยทัศน์ของ “สุระ คณิตทวีกุล” CEO ของ COM7 ว่าเขาต้องวางแผนธุรกิจอย่างไรบ้าง

com7

ตั้งสติ และผลักไปออนไลน์คือเรื่องแรก

ด้วยกลุ่ม COM7 มีหน้าร้านทั่วประเทศไทยกว่า 800 แห่ง ไล่ตั้งแต่ร้านจำหน่ายสินค้า IT ในชื่อ Banana, ร้านจำหน่ายสินค้า Apple ในชื่อ Studio7, BKK Mobile ที่เน้นจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ รวมถึงศูนย์ซ่อมบำรุง iCare และร้าน True Shop ที่เป็นอีกพาร์ทเนอร์หลัก ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในศูนย์การค้าเป็นหลัก

ทำให้ COM7 ต้องปรับตัวอย่างหนักในช่วงเวลาที่ศูนย์การค้าปิดให้บริการเมื่อช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะเริ่มทำตลาดสาขาแบบ Standalone ออกมาบ้างแล้ว แต่ก็ไม่สามารถชดเชยได้ ดังนั้นการปรับตัวไปออนไลน์ และหาวิธีจำหน่ายสินค้ารูปแบบใหม่มาช่วยประคองธุรกิจเวลานั้นจึงจำเป็น

com7

“เราตั้งสติก่อนเลย เพราะ 90% ของสาขา COM7 อยู๋ในศูนย์การค้า ดังนั้นการจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ และการพัฒนาสาขาแบบ Pop-up Store จึงเดินเกมแบบเข้มข้นกว่าเดิม นอกจากนี้เรายังจำหน่ายสินค้าด้วยกลยุทธ์ใหม่ เช่นการเช่าใช้คอมพิวเตอร์ และการหันมาโฟกัสกลุ่มองค์กรมากขึ้นเพื่อรับกระแส Work from Home” สุระ กล่าว

ยอดขายออนไลน์กลายเป็น 5% ของพอร์ต

จากกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ COM7 สามารถประคองตัวให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ โดยเฉพาะไตรมาส 3 ที่ศูนย์การค้าเริ่มเปิดให้บริการอีกครั้งทำให้ยอดขายกลับมาเติบโตยาวถึงสิ้นปี 2563 และในฝั่งยอดขายออนไลน์จากเดิมที่กินสัดส่วนยอดขายรวม 2% ได้ปรับขึ้นเป็น 5% และ COM7 วางแผนว่าจะเติบโตจนกินสัดส่วน 10% ได้

com7

“ผมเชื่อว่าภาพรวมตลาดสินค้าไอทีราว 2 แสนล้านบาท COM7 กินส่วนแบ่งไป 30,000-40,000 ล้านบาทก็ถือเป็นที่น่าพอใจ และจากสัดส่วนนี้ทำให้เรากินส่วนแบ่งแค่ 20% ของตลาด ดังนั้นโอกาสการเติบโตมันยังไปได้อีกไกล เพียงแค่ต้องเดินกลยุทธ์ให้ถูกต้อง”

ขณะเดียวกันการเข้ามาของ iPhone 12 ในไตรมาสสุดท้ายยังเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัท ดังนั้นถึงปีนี้จะมีวิกฤตหนักเข้ามา แต่ COM7 จะสามารถประคองตัวให้ผ่านพ้น และเติบโต พร้อมกับพาพนักงาน 4,000 คนให้เติบโตไปกับองค์กรเช่นกัน

banana it

ดูแลพนักงานทุกคนเหมือนตอนทำธุรกิจใหม่ๆ

“COM7 ค่อนข้างใส่ใจเรื่องการดูแลพนักงาน เพราะพวกเขาคืออีกฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้า ดังนั้นการทำให้พวกเขามีความสุขถือเป็นเรื่องจำเป็น ทั้งยังต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัย จะให้ดูแลอย่างที่เราเข้าใจเมื่อก่อนคงไม่ได้ แค่สำคัญคือผมจะนึกเสมอว่าผมจะใส่ใจพวกเขาเหมือนกับผมทำธุรกิจนี้ช่วงแรกๆ”

ช่วงแรกของ COM7 จะอยู่ในห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ เป็นห้องเล็กเช่าเล็กๆ พร้อมพนักงาน 5 คน โดยคุณสุระจะเป็นผู้เปิดปิดหน้าร้านเองตลอด และดูแลพนักงานจากจุดนั้นจนมาเปิดสาขานอกพันธุ์ทิพย์ฯ ก่อนขยายไปทั่วประเทศไทยจนกลายเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดด้วยสาขา และยอดขาย

com7

แม้คุณสุระจะถอยออกมาดูภาพกว้างของธุรกิจมากขึ้น เพราะด้วยตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และความเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจนี้ แต่การเอาใจใส่พนักงานก็ยังมีอยู่เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน, และการมีห้องสันทนาการเพื่อให้พนักงานมีความสุขที่สุดเมื่อมาทำงานเป็นต้น

เข้าต่างจังหวัดจริงจัง-ขยายไปธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับแผนในปี 2564 ของ COM7 เบื้องต้นจะมีการขยายไปต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่นอกหัวเมืองใหญ่ เพราะคนต่งจังหวัดเริ่มมีความต้องการสินค้าไอทีมากกว่าเดิม ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้ COM7 เพิ่มโอกาสการทำตลาด และสร้างการเติบโตในอนาคต

com7

นอกจากนี้ COM7 ยังเตรียมขยายไปร่วมมือกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เช่นการลงทุนใน NCAP บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อย เพื่อนำมาต่อยอดกับธุรกิจหลักของบริษัทให้เติบโตไปอีกขั้นได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับธุรกิจอื่นๆ เพื่อเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ของบริษัท

“ต้องบอกว่าตั้งแต่เราเข้าตลาดหลักทรัพย์ COM7 มีอัตราการเติบโต 10-20% โดยตลอด เราจึงอยากเอาความแข็งแกร่งนี้มาช่วยให้พาร์ทเนอร์รายใหม่ๆ ที่อนาคตอาจได้ร่วมงานกันสามารถเติบโตไปพร้อมกับเรา และขยายธุรกิจออกไปได้มากกว่าเดิม”

สรุป

COM7 สามารถฝ่าวิกฤต COVID-19 ได้ดีพอสมควร ผ่านการปรับตัวทั้งการทำช่องทางออนไลน์ที่ดีขึ้น และการจำหน่ายสินค้ารูปแบบใหม่ที่ไม่ได้ผูกกับแค่การขายขาดอีกต่อไป ดังนั้นในปี 2564 ตัว COM7 ยังมีโอกาสเติบโต 10-20% ตามแนวโน้มเดิม ยิ่งหากได้จับมือกับพาร์ทเนอร์ที่น่าสนใจ ตัวธุรกิจก็มีโอกาสเติบโตมากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา