เคยไหมกับพฤติกรรมเหล่านี้?
กดสั่งเดลิเวอรี่ ทั้งที่ร้านอยู่ห่างไปแค่ซอยเดียว
กดสั่ง 7-11 ทั้งที่ร้านอยู่แค่ฝั่งตรงข้าม
ยอมจ่ายเงินจ้างคนไปต่อคิวแทน ทั้งที่ตัวเองก็ว่าง
ถ้าเคยแปลว่าคุณเองก็เป็นส่วนหนึ่งของคนที่ขับเคลื่อน Lazy Economy หรือ เศรษฐกิจขี้เกียจให้เติบโต เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็พร้อมจะยอมจ่ายมากขึ้น เพื่อซื้อความสะดวกสบายให้กับตัวเอง จนทำให้ พฤติกรรมขี้เกียจ ที่เราคุ้นเคยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้
ข้อมูลจากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) บอกว่า 34% ของสตาร์ทอัปทั่วโลก ทำธุรกิจเพื่อคนขี้เกียจ โดยงานวิจัย ‘เจาะลึกอินไซต์ พิชิตใจคนขี้เกียจ’ ของนักศึกษาสาขาการตลาดบอกว่า TOP 4 พฤติกรรมขี้เกียจที่ขับเคลื่อน Lazy Economy ได้แก่
- ขี้เกียจเดินทาง : ทำให้เกิดบริการแบบส่งตรงถึงบ้านมากมาย ทั้ง Food Delivery, ส่งด่วนทันใจใน 24 ชั่วโมงแบบ Door to door, บริการส่งตรงถึงบ้านต่างๆ อาทิ นวด สปา ทำเล็บ ทำผม แต่งหน้า ฯลฯ รวมถึงการซื้อของออนไลน์
- ขี้เกียจรอ : ทำให้เกิดบริการรับจ้างต่อคิว บริการรับจ้างซื้อบัตรคอนเสิร์ต แอปพลิเคชันจองคิว ไปจนถึงซูเปอร์แอปและบริการแบบ One Stop Service
- ขี้เกียจออกแรง : ทำให้เกิดบริการทำแทนต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นบริการทำความสะอาดบ้าน จัดสวน ซักรีด ย้ายบ้าน ดูแลสัตว์เลี้ยง ฯลฯ
- ขี้เกียจคิด-ตัดสินใจ : ทำให้เกิดธุรกิจแบบจัดการให้จบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นบริการวางแผนท่องเที่ยวแบบครบวงจร บริการจัดงานแต่งงาน บริการสไตลิสต์ส่วนตัว บริการอาหารชุดพร้อมปรุง ฯลฯ
โดย CMMU ประเมินว่า ตลาดนี้มีศักยภาพมหาศาลและมีแนวโน้มเติบโตอีกมากทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ทั้งนี้เพราะยิ่งหาเงินได้มาก คนก็จะยิ่งอยากใช้เงินแก้ปัญหา ยิ่งทำงานหนัก คนก็ยิ่งอยากทำอะไรเองน้อยลง ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้า คนก็จะยิ่งขี้เกียจได้
“ตราบใดที่ผู้คนยังแสวงหา ‘ทางลัด’ มาช่วยทำให้ชีวิต ง่าย รวดเร็ว สะดวกสบาย เศรษฐกิจขี้เกียจก็จะยังเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดไป ไม่มีวันตกเทรนด์ โอกาสแจ้งเกิดธุรกิจใหม่ๆ จึงยังเปิดกว้างเสมอสำหรับผู้ที่มองเห็น” ผศ.ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาดจาก CMMU กล่าว
- เปิดแนวคิด Bill Gates ทำไมต้องจ้างคนขี้เกียจไว้ในองค์กร: ที่เห็นว่าขี้เกียจ จริงๆ แล้วอาจจะเหนื่อย?
- รู้จัก Lazy Marketing การตลาดแนวใหม่ จับใจ “มนุษย์ขี้เกียจ”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา