รู้จัก Lazy Marketing การตลาดแนวใหม่ จับใจ “มนุษย์ขี้เกียจ”

CMMU เผยงานวิจัยสำหรับตลาดคนขี้เกียจ เปิดโพล 3 ความขี้เกียจครองชีวิตคนไทย ขี้เกียจออกกำลังกาย, ขี้เกียจรอ และขี้เกียจทำความสะอาด สร้างโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้

Photo : Shutterstock

เจาะอินไซต์มนุษย์ขี้เกียจสไตล์ไทยๆ

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU ได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “ตลาดคนขี้เกียจ หรือ Lazy consumer” ที่กำลังเป็นที่จับตามอง และเป็นโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ เนื่องจากคนทั่วไปมีพฤติกรรมรักความสบาย และหันมาพึ่งเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น

ได้ทำการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,200 คน ใน 4 กลุ่มอายุ โดยแบ่งเป็น Gen Z, Gen Y, Gen X และ Baby Boomers พบว่า 10 อันดับกิจกรรมที่ในไทยขี้เกียจมากที่สุด ได้แก่  1.ออกกำลังกาย 84% 2.รอคิวซื้อของ 81% 3.ทำความสะอาดบ้าน 77% 4.อ่านหนังสือ 70% 5.ทำอาหาร 69 % 6.พูดคุยหรือเจอคนเยอะๆ 68% 7.ดูแลผิวพรรณตัวเอง 68% 8.เรียน/ทำงาน 65% 9.ออกไปช้อปปิ้ง 64%  และ 10.เดินทางไปไหนมาไหน 60%

เมื่อทำการวิเคราะห์เชิงลึก 5 อันดับแรกของพฤติกรรมที่คนทั่วไปขี้เกียจที่สุด พบว่า

  • กลุ่มมนุษย์อยากดูดีแต่ไม่มีแรงหรือการขี้เกียจออกกำลังกาย คนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 84% หรือประมาณ 55 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน
  • มนุษย์ชอบช็อป แต่ไม่ชอบรอหรือขี้เกียจรอคิวซื้อของ คนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 81% หรือประมาณ 53 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน
  • มนุษย์บ้านรกสกปรกค่อยทำ พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 77% หรือประมาณ 50 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน

  • มนุษย์ไม่ชอบอ่านแค่ผ่านๆ ก็พอหรือขี้เกียจอ่านหนังสือ พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 70% หรือประมาณ 46 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน
  • มนุษย์ชอบกินแต่ไม่อินทำอาหารหรือขี้เกียจทำอาหาร พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 69 % หรือประมาณ 45 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าไม่มีเวลา รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีแรงจูงใจ และทำไม่เป็น

ตลาดขี้เกียจมีความเป็นมาอย่างไร

สำหรับการตลาดขี้เกียจหรือเศรษฐกิจขี้เกียจนั้นเกิดขึ้นในช่วงปี 2561 หลังจากที่เว็บไซต์ Taobao อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในประเทศจีนได้เก็บข้อมูลของลูกค้าและพบว่าคนจีนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปี 1995 มีการใช้จ่ายไปกับอุปกรณ์สำหรับคนขี้เกียจมากถึง 70% คนกลุ่มนี้เรียกว่า “รักสบาย จ่ายหนัก” ยอมจ่ายเงินเพื่อขจัดงานที่น่าเบื่อ และเสียเวลารอนาน ผู้บริโภคใช้เงินซื้อสินค้าเหล่านี้มูลค่า 2,310 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยเป็นการจับจ่ายสินค้าที่อยู่ในหมวดอาหารพร้อมรับประทาน เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อุปกรณ์ดิจิทัล และเครื่องสำอาง และจากการศึกษายังพบอีกว่าความต้องการที่เพิ่มขึ้นของคนขี้เกียจ ส่งผลให้สินค้าและบริการต้องปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น และเป็นวาระสำคัญของๆ หลายบริษัท

สินค้ายอดนิยมที่สุดใน Taobao ได้แก่ 1. อายแชโดว์แบบปาดครั้งเดียวจบ 2. หม้อร้อนอเนกประสงค์ 3. เก้าอี้เล่นเกมปรับนอนได้ 4. เครื่องใช้ในบ้านอัจฉริยะ

Lazy Economy ยุคเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ตอบโจทย์คนขี้เกียจ

จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลง ต้องการความสะดวกสบายขั้นสุด ทำให้ธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้รับความนิยมสูงอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งต้องบอกว่าตอนนี้ไม่ใช่แค่ประเทศจีนเท่านั้นที่มีการใช้จ่ายในเรื่องความขี้เกียจ เพราะขณะนี้เริ่มมีกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยที่เน้นทำการตลาดไปที่กลุ่มเป้าหมายนี้ โดยเฉพาะธุรกิจประเภทรับสั่งอาหาร (Food Delivery) ที่กำลังมาแรง เนื่องจากผู้บริโภคยังคงต้องการอาหารที่มีคุณภาพ และรสชาติดีแต่ไม่ต้องการเสียเวลาไปรอคิว หรือเดินทางไปซื้อเอง

ยกตัวอย่างเช่น Stitch Fix สไตลิสต์ที่ทำการเลือกชุดใส่ไปงานต่างๆ แล้วจัดส่งให้ถึงบ้าน ถ้าชอบใจก็จ่ายเงิน แต่ถ้าไม่ถูกใจก็จัดส่งคืนได้

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจหรือบริการรูปแบบอื่นๆที่สามารถตอบสนองความขี้เกียจได้  อาทิ เครื่องพับผ้า เครื่องช่วยแปรงฟัน เว็ปไซต์ที่ช่วยเลือกเสื้อผ้า บริการจัดส่งวัตถุดิบปรุงอาหารพร้อมวิธีการทำ ฯลฯ

SLOTH  STRATEGY เร็ว กระชับ สนุก สะดวก แฮปปี้

สำหรับเคล็ดลับการทำการตลาดในยุคที่คนขี้เกียจครองเมืองนั้น เจ้าของสินค้า และบริการจะต้องมีการใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “SLOTH” เพื่อครองใจผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว โดยกลยุทธ์ “SLOTH” ประกอบด้วย

  • Speed คือต้องมีความรวดเร็ว และต้องไม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเสียเวลา
  • Lean กระชับ ตัดท่อนขั้นตอนที่ยุ่งยากออก เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน
  • EnjOy ต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุก และเกิดแรงจูงใจในการใช้สินค้าและบริการ
  • ConvenienT สินค้าหรือบริการต้องมีความสะดวก ช่วยให้ชีวิตนั้นง่ายมากขึ้น
  • Happy ความสุข จากความต้องการที่ถูกเติมเต็มและปัญหาได้ถูกแก้ไขด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด

จากการวิจัยยังพบว่า 5 ธุรกิจและบริการที่กำลังมาแรงที่สุดในไทยและคาดว่าในอนาคตจะสามารถครองใจตลาดคนขี้เกียจได้ดี คือ

1.ธุรกิจที่ทำแทนได้ อาทิ ทำบริการความสะอาดบ้าน  บริหารสั่งอาหาร  บริการซื้อของแทน

2.ธุรกิจที่ไม่ต้องขยับ ไม่ต้องจับ ไม่ต้องถือ อาทิ สินค้าประเภท Automation และ Hand Free

3.ธุรกิจที่พร้อมใช้งานทันที เช่น สินค้าประเภทพร้อมกิน พร้อมดื่ม

4.ธุรกิจร่วมมือ ร่วมใจ เช่น community ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในรูปแบบออนไลน์

5.ธุรกิจที่เน้นการฟัง เช่น Podcast content หรือ VDO content

อย่างไรก็ตามธุรกิจและบริการเหล่านี้ในอนาคตคาดว่าจะได้รับความนิยม และตอบสนองความต้องการตลาดกลุ่มคนขี้เกียจได้เป็นอย่างดี ดังนั้นหากสตาร์ทอัพที่กำลังมองหาแนวทางทำธุรกิจอาจจะหันมาศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมตลาดคนขี้เกียจ และนำไปต่อยอดได้ในอนาคต

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา