คลินิกแก้หนี้แป้ก! ธปท.เร่งเพิ่ม Non-Bank 19 เจ้า แก้หนี้เสียบัตรเครดิต-Ploan

เมื่อคนไทยมีหนี้เสียจากบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลกว่า 490,000 คน เลยเป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติ หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องหาทางลดหนี้ของคนในชาติ

เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาเลยเกิดโครงการ “คลินิกแก้หนี้” เพื่อให้คนไทยปลดหนี้กลุ่มนี้ได้ง่ายขึ้นแต่ผลงานเป็นอย่างไร และคลินิกแก้หนี้ระยะที่ 2 ที่จะเริ่มปีนี้จะแตกต่างจากเดิมหรือไม่?

ชี้ปัญหาคลินิกแก้หนี้#1 โครงการดีแต่คนผ่านเงื่อนไขแค่ 1,500 คน

คลินิกแก้หนี้ที่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2560 จนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2562 มีผู้ผ่านเงื่อนไขและทำสัญญาเข้าร่วมโครงการเพียง 1,500 ราย (จากคนสมัครกว่า 37,000 ราย) มูลค่าหนี้เสียที่แก้ไขได้อยู่ที่ 405 ล้านบาท โดยลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ในโครงการนี้ส่วนใหญ่จะมีหนี้เสียใน 3 สถาบันการเงิน และมีหนี้เฉลี่ย 300,000 บาทต่อราย

สาเหตุหลักที่ประชาชนสมัครแล้วเข้าโครงการไม่ได้ เพราะเคสไม่ตรงกับเงื่อนไขในโครงการ เช่น เป็นหนี้เสียกับธนาคารแห่งเดียว (ตามเงื่อนไขต้องเป็นหนี้เสีย 2 สถาบันการเงินขึ้นไป) บางรายมีหนี้เสียกับบริษัทบัตรเครดิตไม่ใช่ธนาคาร มีคำพิพากษาจากศาลแล้ว ฯลฯ

ปัจจุบันคนไทยที่มีหนี้เสีย (ผิดนัดชำระหนี้ 90 วันขึ้นไป) จากสินเชื่อบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล (Ploan) อยู่ที่ 490,000 ราย มูลค่าหนี้รวมกว่า 48,700 ล้านบาท

คลินิกแก้หนี้ clinic debt sam

คลินิกแก้หนี้ระยะที่ 2 ปลดหนี้ได้ทั้งธนาคารและ Non-bank รวม 35 แห่ง

คลินิกแก้หนี้ระยะที่ 2 ต่างจากระยะที่ 1 ได้แก่ มี Non-bank เข้าร่วมอีก 19 แห่ง, เปิดให้ลูกหนี้ที่มีหนี้เสียก่อน 1 ม.ค. 2562 (ต้องไม่มีผลการพิจารณาคดีจากศาลฯ),

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า จากปัญหาก่อนหน้า คลินิกแก้หนี้ระยะที่ 2 นี้จะเพิ่มสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) อีก 19

แห่ง (เช่น กรุงศรีคอนซูมเมอร์ KTC ฯลฯ) เพื่อให้ลูกหนี้เข้ามาใช้โครงการได้มากขึ้น และถือว่าครอบคลุมหนี้เสีย 99% ของตลาดสินเชื่อไม่มีหลักประกัน (สินเชื่อบัตรเครดิต Ploan)

“ปัญหาดั้งเดิมของคนเป็นหนี้เสียบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล ปรับโครงสร้างหนี้ยากเพราะต้องไปเจรจาทุกธนาคาร หรือแต่ละบริษัทเพื่อจัดการหนี้ แต่เมื่อมีคลินิกแก้หนี้ ลูกหนี้ที่มีหนี้เสียตามเงื่อนไขแค่มาที่ SAM หรือ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยื่นเรื่องขอเข้าโครงการได้เลย ข้อดีคือผ่อนได้นานขึ้น ดอกเบี้ยถูกลง และมีคนไปเจรจากับเจ้าหนี้ทุกแห่งให้ เวลาจ่ายค่างวดก็จ่ายที่เดียวซึ่ง SAM จะไปจ่ายหนี้คืนให้เจ้าหนี้สัดส่วนตามมูลค่าหนี้สิน”

ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง (ประมาณ 80%) จึงเข้ามาโฟกัสหนี้เสียโดยเฉพาะในสินเชื่อรายย่อย เช่น 2 ปีที่ผ่านมาออกเกณฑ์กำกับสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล (เช่น คุมดอกเบี้ย 18% ต่อปี) ปีที่ผ่านมาออกเกณฑ์คุมสินเชื่อบ้าน (LTV) และต้นปีนี้คุมสินเชื่อรถยนต์ (จำนำทะเบียน) ระยะนี้ทางธปท.อยู่รณรงค์การให้สินเชื่อ Responsible Lending (การปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ) โดยจะดูความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลัก

ปัจจุบันถ้าดูจากฐานสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในระบบ ณ วันที่ 30 พ.ย. 2561 ในประเทศไทยมีหนี้เสียรวม 490,000 ราย มูลค่าหนี้เสียรวม 48,700 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่  

  1. เป็นหนี้เสียกับ Non-bank 2 แห่งขึ้นไป มีอยู่ 309,000 ราย มูลค่าหนี้เสียรวม 21,800 ล้านบาท
  2. เป็นหนี้เสียกับธนาคารและ Non-bank 2 แห่งขึ้นไป มีอยู่ 96,000 รายมูลค่าหนี้เสีย 8,300 ล้านบาท
  3. เป็นหนี้เสียกับธนาคาร 2 แห่งขึ้นไป มีอยู่ 87,000 รายมูลค่าหนี้เสีย 18,600 ล้านบาท

แม้ 2 ปีที่ผ่านมาหลังเริ่มต้นโครงการคลินิกแก้หนี้มีลูกหนี้สามารถปรับโครงสร้างได้เพียง 1,500 รายแต่ภายในสิ้นปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าภายในสิ้นปี 2562 จะมีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า 7,500 ราย

สรุป

คนไทยมีหนี้เสียในสินเชื่อไม่มีหลักประกัน (บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล) เยอะมากอยู่ที่ 490,000 ราย ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเมื่อลูกหนี้หนึ่งรายมีสินเชื่อหลายอย่างทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เมื่อถึงงวดต้องจ่ายหนี้แต่เงินไม่พอคนส่วนใหญ่ก็เลือกไปจ่ายบ้าน จ่ายรถยนต์ก่อน ทำให้หนี้เสียมากระจุกตัวในกลุ่มนี้และกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา