Citi ได้ออกบทวิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุดของเศรษฐกิจไทยหลังจากที่จีนแบนนักท่องเที่ยว ว่ากรณีแย่สุดอาจทำให้ปีนี้นักท่องเที่ยวจีนหายจากประเทศไทยถึง 21.8% และอาจทำให้ต้องปรับลดประมาณการ GDP ไทยลงมา
สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่าง Citi ได้ออกบทวิเคราะห์ล่าสุดเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยหลังจากที่ไวรัสโคโรนาระบาดในประเทศจีนและส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนต่อ GDP ไทยสูง ซึ่ง Citi คาดว่าในกรณีที่แย่สุดของประเทศไทยนั้นนักท่องเที่ยวจากจีนในปีนี้อาจหายไปถึงประมาณ 21.8% โดยในปี 2019 ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีนได้เข้ามาในประเทศไทยอยู่ที่ 11 ล้านคน
- อ่อนค่าสุดในรอบ 8 เดือน ค่าเงินบาทล่าสุด 31.245 บาทต่อดอลลาร์ วิตกไวรัสโคโรนา
- ประยุทธ์แถลงควบคุมไวรัสโคโรนาได้ 100% พร้อมตั้ง คกก. รับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ 60 ราย
- เศรษฐกิจจีนรับศึกหนักรอบด้าน: ก่อนหน้าคือสงครามการค้า ตอนนี้คือเชื้อไวรัสโคโรนา
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นเป็นส่วนสำคัญไม่น้อยของ GDP ไทย เพราะในปี 2018 นั้นสัดส่วนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยต่อ GDP สูงถึง 11.5% ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวจีนที่มีปริมาณ 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดนั้นมีสัดส่วนคิดประมาณ 3.2% ของ GDP ไทย
ในบทวิเคราะห์ของ Citi ยังได้กล่าวว่าถ้าหากนักท่องเที่ยวจีนได้หายไปในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จะส่งผลทำให้ GDP ของไทยหายไปประมาณ 0.4% หรือสูญเสียรายได้ไปประมาณ 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ถ้าโชคดีอาจได้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวจีนมาอุดจุดนี้ไว้ในครึ่งปีหลัง
ผลกระทบของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในกรณีแย่สุดที่ Citi วิเคราะห์ไว้อาจทำให้ปีนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 36.3 ล้านคน แต่ถ้าเป็นกรณีที่ฐานจะอยู่ที่ 39.3 ล้านคน นอกจากนี้ Citi ยังคาดการณ์ว่าในกรณีของไวรัสโคโรนาอาจมีผลกระทบที่แย่กว่าสมัยโรค SARS ที่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ดี Citi ยังไม่ได้นับรวมผลกระทบกรณีการยกเลิก Visa on arrival สำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าไปไว้ในประมาณการ แต่ในบทวิเคราะห์ยังมองว่านักท่องเที่ยวจีนอาจกลับมาอีกครั้งถ้าหากจีนสามารถควบคุมไวรัสโคโรนานี้ได้
สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้ Citi คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในการประชุมรอบเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ นอกจากนี้ Citi อาจเตรียมปรับประมาณการณ์ตัวเลข GDP ของไทยใหม่อีกครั้งด้วย เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ในแง่ลบนั้นเพิ่มเติมเข้ามา
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา