CIMB ไทย ชี้ดอกเบี้ย (นโยบาย) ไม่ใช่ยารักษาทุกโรค หวังการประสานนโยบายทั้งการเงิน-การคลัง

อีกหนึ่งประเด็นเศรษฐกิจที่หลายคนจับตามอง คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย โดยรัฐบาลคาดหวังให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระประชาชน ขณะที่ผลการประชุม กนง. ครั้งล่าสุด เลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยฯ ไว้ที่ 2.5% ต่อปี เพราะมองว่าระดับปัจจุบันสอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต่ำลงเพราะปัจจัยเชิงโครงสร้าง 

Thailand

Brandinside อยากชวนมาทำความเข้าใจเพื่อเจาะลึกในแต่ละมุมมอง ถึงผลกระทบและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยฯ ของไทยในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร 

ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์การประชุมกนง. (5-9 ก.พ. 2567) เงินบาทอ่อนค่าที่สุดในภูมิภาค และโดยเฉพาะหลังตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2566 ขยายตัวต่ำจากปีก่อนหน้า และหดตัวเทียบไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งย้ำถึงแรงกดดันในการลดดอกเบี้ยในวันที่ 10 เม.ย. นี้ มากขึ้น 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย CIMB Thai ภาพจาก CIMB

ขณะเดียวกันหากตีความเหตุผลที่ กนง. อาจมองว่า ยังไม่ถึงเวลาลดอัตราดอกเบี้ย ประเมินว่ามาจาก 3 ข้อใหญ่

  1. เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ามาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ได้มาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป
    ปัญหาเชิงโครงสร้างมาที่ภาคการผลิตของไทยไปเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลก ทำให้การส่งออกโตต่ำแม้อุปสงค์ตลาดโลกกำลังฟื้นตัวได้ดี และขาดความสามารถในการแข่งขันหรือขาดสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก เช่น ไทยเป็นแหล่งผลิต Hard Disk Drive (HDD) แต่โลกกำลังเปลี่ยนไปใช้ Solid State Drive (SSD), กรณ๊การนำเข้าสินค้าจากจีนทำให้ SME ไทยต้องทยอยปิดกิจการไป ไปจนถึงการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐทั้งน้อยและล่าช้าจึงกระทบเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมา
  1. อัตราเงินเฟ้อต่ำ ไม่ได้มาจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ
    แต่อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการภาครัฐด้านพลังงานที่ทำให้ราคาพลังงานในประเทศปรับลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว และไม่ได้มาจากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ นอกจากนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังย้ำว่าระดับราคาสินค้าและบริการที่ปรับลดลงมาแต่ยังสูงเมื่อเทียบช่วงก่อน Covid-19 และมองว่าหากอุปสงค์ในประเทศยังดี การใช้นโยบายการเงินมากระตุ้นก็อาจไม่ตรงจุด ควรไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการผลิตและการส่งออกมากกว่า
    (ในมุมมองของ อมรเทพ เห็นว่า ปัจจัยอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอทำให้การปรับราคาขึ้นทำได้ยาก)
  1. ธปท. คำนึงถึงผลข้างเคียงจากการลดดอกเบี้ยที่เร็วเกินไป
    การลดดอกเบี้ยช่วงที่อุปสงค์ในประเทศยังแข็งแรง การบริโภคยังเติบโตได้ อาจส่งผลข้างเคียงให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวขึ้นมารวดเร็วช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ปรับเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย หรือเก็บ Policy space ไว้ใช้ยามจำเป็น

อย่างไรก็ดี ‘ดอกเบี้ยไม่ใช่ยารักษาทุกโรค’ โดยแม้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจะช่วยพยุงเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้กระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงกว่า 4% ทั้งนี้การลดดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.25-0.50% ไม่อาจลดรายจ่ายด้านดอกเบี้ยลงอย่างมีนัยะสำคัญ แม้จะลดความตึงเครียด รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้คนมาใช้จ่ายลงทุนได้มากขึ้น แต่การส่งผ่านของการลดอัตราดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจจริงอาจใช้เวลาถึง 6 เดือน ซึ่งจะต่างกับ ‘มาตรการทางการคลัง’ ที่อัดฉีดเงินเข้าในกระเป๋าคน และตรงกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยก็มีผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดอาการหนี้ครัวเรือนที่เพิ่ม และสินทรัพย์ไทยขาดความน่าสนใจจนต่างชาติเทขาย ทำเงินบาทอ่อนค่า กระทบสินค้านำเข้าให้มีราคาสูงขึ้นได้

“การลดดอกเบี้ยเพียง 0.25 หรือ 0.50% ไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องลดลงถึง 1.25% จึงจะมากพอ ซึ่งเป็นการปรับลดในระดับวิกฤติการเงิน และเป็นระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤติ Covid-19 ผลข้างเคียงของการลดดอกเบี้ยเช่นนี้ จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า และอาจเป็นการประกาศสงครามค่าเงินกับเพื่อนบ้าน เพราะบาทที่อ่อนจะแย่งชิงความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง และอาจลามเป็นการอ่อนค่าของค่าเงินในภูมิภาคได้ในภายหลัง” 

ดังนั้น ทาง สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า ทางออกของไทยควรประสานนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไทย

อย่างไรก็ตาม อมรเทพ ระบุถึงความกังวลว่า ผู้กำหนดนโยบายจะเห็นว่าหนทางที่เร็วที่สุด (quick win) อาจจะเป็นการปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่า ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การลดดอกเบี้ยในระด้บมากพอจะกระตุ้นเศรษฐกิจ กำลังซื้อ การลงทุน และทำให้บาทอ่อนค่าแรงพอจะสร้างความสามารถการแข่งขัน แต่ต้องระวังผลข้างเคียง ต้นทุนนำเข้าเพิ่มสูง โดยเฉพาะราคาน้ำมัน หรือกลุ่มที่มีสัดส่วนการนำเข้าเพื่อการผลิตสูง เช่น อาหารทะเลกระป๋อง เครื่องจักรอุตสาหกรรม และเครื่องมือแพทย์ แต่ก็พอจะมีกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากบาทอ่อน เช่น กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และกลุ่มส่งออก เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าเกษตรอื่นๆ ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และนิคมอุตสาหกรรม การลดดอกเบี้ยของไทย จะเป็นการประกาศสงครามค่าเงินกับเพื่อนบ้านหรือไม่ และอาจลามเป็นการอ่อนค่าของค่าเงินในภูมิภาคได้ในภายหลัง แม้ไม่ได้รุนแรงเหมือนวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่หากเงินบาทวิ่งไปที่ระดับ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อาจมีคนบางกลุ่มได้รับผลกระทบ 

“ผมมองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอและปราศจากมาตรการทางการคลังในการสนับสนุนเช่นนี้ คงต้องอาศัยการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เสริมสภาพคล่อง และกดดันเงินบาทให้อ่อนค่า แต่ก็หวังว่า แบงก์ชาติยังมีหนทางอื่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการทางการเงินอื่นๆ มาเสริมได้อีก เช่น การลดข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ ลดวงเงิน LTV และยืดระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหา อย่างไรก็ดี มาตรการเหล่านี้ก็ทำได้เพียงประคองเศรษฐกิจให้มีความหวังว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เหนือระดับ 2% แต่จะกระตุ้นให้ถึง 3% ได้หรือไม่ก็คงต้องรอดูมาตรการต่างๆ จากรัฐบาลอีกที” อมรเทพ กล่าว 

ที่มา สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา