ซีไอเอ็มบี ไทย หั่น GDP ปี 66-67 ผลจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และ 5 ความเสี่ยงขาลง

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า จากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย และทำให้สำนักวิจัยฯ ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ไทยปี 2566 เหลือเพียง 3.0% จากเดิมที่คาดไว้ในระดับ 3.3% และยังปรับลด GDP ของปี 2567 ลงสู่ระดับ 3.5% จากเดิมคาดที่ 3.7% 

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังคงอยู่ที่ ภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางถึงสูงซึ่งมีกำลังซื้อที่แข็งแกร่ง ขณะเดียวกันยังรอคอยการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่คาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมในไตรมาส 2 ปี 2567 

ดังนั้น จะเห็นว่ามีความกังวลที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่ทั่วถึง โดยกำลังซื้อระดับล่างยังอ่อนแอ และถูกช้ำเติมด้วยปัญหาภัยแล้งและหนี้ครัวเรือนสูง มีเพียงเครื่องยนต์ด้านท่องเที่ยวที่ยังแข็งแกร่ง แต่การท่องเที่ยวไทยยังกระจุกตัวเพียงเมืองท่องเที่ยวหลัก 

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ต้องจับตาเศรษฐกิจโลกและนโยบายภาครัฐ ซึ่งจะมีผลต่อองค์ประกอบของการคาดการณ์ GDP เช่น การส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุนของภาครัฐและเอกชน 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

เศรษฐกิจไทยปี 2566-2567 จะมีแนวโน้มอย่างไร?

สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มี 3 สมมุติฐานต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่

  1. กรณีดี

สหรัฐฯ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ Soft Landing ได้ และจีนอัดฉีดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต และไม่เกิดปัญหาหนี้ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ และปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ จะทำให้การส่งออกของไทยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาส 4 ส่งผลให้ทั้งปี 2566 การส่งออกหดตัวน้อยกว่าคาดที่ -2.1% และขยายตัวมากกว่า 0.6% ในปี 2567 ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวอาจเติบโตสูงเกินคาดมากกว่า 28.4 ล้านคนในปี 2566  และ 34 ล้านคนในปี 2567

กรณีนี้ยังมืมองว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเมื่อดำเนินการได้ก่อนสิ้นปี 2566 โดยมีเป้าหมายเพื่ออัดฉีดเงินให้ภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและกระตุ้นการบริโภค ขณะที่มีเสถียรภาพทางการเมืองสร้างความเชื่อมั่นดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้สูงขึ้น 

2. กรณีแย่ 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่สูงและยืดเยื้อ ส่วนจีนเผชิญการชะลอตัวยิ่งขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทและฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ จะส่งผลให้การส่งออกของไทยเติบโตเล็กน้อย จากอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอ ส่วนการท่องเที่ยวยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจ 

ในกรณีนี้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาส 2 ปี 2567 หลังจากได้รับอนุมัติงบประมาณ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุน และอาจมี การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ย้ายฐานการลงทุนมาไทยบ้าง 

3. กรณีเลวร้าย 

เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ขณะที่จีนเผชิญภาวะชะลอตัวที่รุนแรงยิ่งขึ้น แต่ยังคงเติบโตเหนือ 4% ในปี 2567 การส่งออกชะลอท่ามกลางปัญหาอุปสงค์และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่อ่อนแอ ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวเติบโตช้ากว่าคาด 

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลล่าช้าไปเป็นครึ่งปีหลังของปี 2567 ส่งผลกระทบซ้ำให้การบริโภคภาคครัวเรือนของผู้มีรายได้น้อย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรง 

อัตราดอกเบี้ยนโยบายและ ค่าเงินบาทจะเปลี่ยนแปลงแค่ไหน?

ด้านทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจสิ้นสุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ รอบนี้ที่ 2.25% เพื่อหยุดยั้งการคาดหวังอัตราเงินเฟ้อสูงในอนาคต จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 

ในขณะที่เงินบาทคาดว่าจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากการคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะเริ่มหั่นดอกเบี้ยฯ ในปี 2567 และเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นรายได้จากการท่องเที่ยวไทยที่แข็งแกร่งขึ้น คาดเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปี 2566 และระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปี 2567   

5 ความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมี 5 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะการขยายตัวต่ำ ได้แก่

  1. Decoupling เศรษฐกิจสหรัฐและจีนแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิงทั้งปัญหาสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี กระทบห่วงโซ่อุปทานและภาคการส่งออกของไทยและภูมิภาคอาเซียน 
  2. De-dollarization กระแสการลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น เงินหยวน (ใช้ในกลุ่ม BRICS) แม้จะยังทดแทนดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ได้ แต่อาจส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนได้ 
  3. Dis-inflation เงินเฟ้อต่ำ เมื่อจีนเจอปัญหาเงินฝืดช่วงเศรษฐกิจขยายตัวต่ำลง ราคาสินค้ามีแนวโน้มลดลง จะกระทบนโยบายการเงินในเอเชียให้ยิ่งแตกต่างกับสหรัฐฯ มีปัญหาเงินเฟ้อและจะคงอัตราดอกเบี้ยฯ ไว้ในระดับสูง 
  4. Digitization ในอนาคตมาตรการรัฐจะใช้รูปแบบดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งสร้างความโปร่งใสได้ดียิ่งขึ้น แต่หาก SMEs และธุรกิจเล็ก ไม่สามารถปรับตัวได้อาจสร้างความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นรัฐบาลควรมีนโยบายช่วยเหลือด้วย 
  5. Democracy Movement การเมืองในประเทศที่ต้องการเรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หากการเมืองเกิดความขัดแย้งอาจกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน

ที่มา – ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย 

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา