อนาคตสวยหรู คนรวยจีนเพิ่มขึ้นเท่าตัว ชนชั้นกลางเพิ่มเกือบ 50% ในอีก 4 ปี
เศรษฐกิจจีนขยายตัวในแทบทุกมิติ ล่าสุด ข้อมูลจากการประมาณการของ HSBC Holdings Plc. กลุ่มธนาคารรายยักษ์ระดับโลกระบุว่า จำนวนเศรษฐีจีนจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวและจะมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งภายในปี 2025
ตัวเลขการประมาณการจากทาง HSBC มีดังนี้
- จำนวน ผู้มีสินทรัพย์สูง (high-net-worth individuals) ซึ่งหมายถึงผู้มีสินทรัพย์มากกว่า 10 ล้านหยวนหรือ 1.55 ล้านเหรียญ จะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 2 ล้านคน เป็น 5 ล้านคน ภายในปี 2025 เพิ่มขึ้นเกินเท่าตัว
- จำนวน ชนชั้นกลาง จะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 340 ล้านคน เป็น 500 ล้านคน ภายในปี 2025 เพิ่มขึ้น 45%
ชนชั้นกลางจะกลายเป็นแกนหลักของเศรษฐกิจจีนในอนาคต
แน่นอนว่า เมื่อจำนวนชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้น ก็หมายถึงจำนวนผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนขับเคลื่อนไปได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืนโดยไม่พึ่งพิงผู้ซื้อนอกประเทศ
ที่สำคัญ ชนชั้นกลางจีนไม่ได้เพิ่มขึ้นแค่จำนวน แต่พวกเขาร่ำรวยขึ้นด้วย ข้อมูลระบุว่า
- ความมั่งคั่งครัวเรือนในจีนจะเพิ่มขึ้น 8.5% ต่อปี ตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า
- ชนชั้นกลางจะมีทรัพย์สินรวมกันมากกว่า 3 แสนล้านหยวน หรือคิดเป็น 3 เท่าของ GDP จีนปี 2020
Qu Hongbin นักเศรษฐศาสตร์ของ HSBC กล่าวว่า “การขยายตัวของชนชั้นกลาง จะช่วยหนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลางถึงยาว การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มากขึ้นจะช่วยผลักดันให้เกิดอุปสงค์ภายในประเทศ ความมั่นใจของภาคเอกชน และการลงทุนของภาคธุรกิจต่อไป”
ความเหลื่อมล้ำจะเป็นโจทย์ต่อไปของจีน
HSBC รายงานว่า ในขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังเฟื่องฟู ก็ได้มีปัญหาหนึ่งคืบคลานเข้ามาเช่นกันนั่นคือความเหลือมล้ำ โดยมีข้อมูลว่า เศรษฐีจีนที่รวยที่สุด 1% เป็นเจ้าของความมั่งคั่งถึง 30% ของความมั่งคั่งทั้งหมดของจีน
รายงานจาก Knight Frank บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ชื่อ The Wealth Report 2021 ระบุว่า ผู้มีสินทรัพย์มหาศาล (ultra-high-net-worth individuals) หรือผู้ที่มีสินทรัพย์มากกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญในจีน จะเพิ่มขึ้น 46% ในอีก 5 ปี ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีมหาเศรษฐีมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ
แถมในปีที่ผ่านมา มหาเศรษฐีจีนเข้าไปติดอัน 100 คนที่รวยที่สุดในโลกถึง 17 คน
วิกฤติประชากรคืออีกเรื่องที่ยังต้องจับตา
ประเด็นที่สืบเนื่องต่อจากความเหลื่อมล้ำคือการที่ พ่อแม่ชาวจีนยินดีที่จะมีลูกน้อยลง
- ชาวจีนให้กำเนิดบุตร 12 ล้านคนในปี 2020
- ชาวจีนให้กำเนิดบุตร 14.65 ล้านคนในปี 2019
ที่สำคัญคือ ตัวเลขดังกล่าวลดลงทุกปีเป็นว่าลากว่า 60 ปี ติดต่อกัน ตัวเลขนี้สะท้อนว่าเศรษฐกิจของจีนมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ต้องเผชิญความกดดันทางเศรษฐกิจมากขึ้นแม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ จะฟ้องว่าเศรษฐกิจจีนโตวันโตคืน ดังนั้น คนวัยทำงานมีทัศนะเชิงลบต่อการมีบุตร (ซึ่งเป็นภาระทางการเงินแบบหนึ่ง) มากขึ้นทุกปี
เห็นได้ว่าแม้เศรษฐกิจจะโตขึ้นแต่ความกินดีอยู่ดีของประชากรทั่วไปในบริเวณค่าเฉลี่ยก็อาจไม่ได้ดีตาม
แถมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่สมดุลแบบนี้ อาจบั่นทอนศักยภาพทางเศรษฐกิจระยะยาวตรงที่เมื่อประชากรเกิดน้อยลงเรื่อยๆ ก็หมายถึงประชากรวัยทำงานที่สามารถสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมีจำนวนน้อยลงทุกขณะ สวนทางผู้สูงวัยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น
ที่มา – Bloomberg, Knight Frank
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา