Zara ค้าปลีกเสื้อผ้าสัญชาติสเปนที่เป็นแบรนด์แฟชั่นชั้นนำระดับโลก เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม Inditex group และยังเป็นค้าปลีกเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตอนนี้ Zara กำลังถูกคนจีนโจมตีกลับหลังออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้แรงงาน
หลังจากที่แบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Nike หรือ H&M ที่ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการใช้แรงงานทาส ใช้แรงงานผิดกฎหมายโดยเฉพาะแรงงานทาสอุยกูร์จากมณฑลซินเจียง จีน ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในตอนนี้จนชาวจีนพากันบอยคอตต์ข้อหาทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง แน่นอนว่า Zara ก็เป็นอีกรายที่ร่วมออกแถลงการณ์จะไม่ทนต่อการใช้นโยบายที่บังคับใช้แรงงานเช่นกัน
หลังจาก Zara ออกแถลงการณ์ต้านการบังคับใช้แรงงาน จากนั้นข้อความแถลงการณ์ดังกล่าวก็หายไปจากเว็บไซต์ ทางบริษัทไม่ได้ชี้แจงว่าเหตุใดจึงลบแถลงการณ์นี้ออกและไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งข้อความที่ปรากฎเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมาเป็นแถลงการณ์ที่ระบุว่ากังวลมากต่อการบังคับใช้แรงงานในซินเจียง ด้าน H&M ที่ถูกชาวจีนโจมตีกลับก่อนหน้านี้ ก็ได้นำแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้แรงงานออกจากเว็บไซต์เช่นกัน แต่ก็ยังมีปรากฎอยู่อีกแห่งหนึ่ง
การเคลื่อนไหวดังกล่าวของแบรนด์คือความพยายามจะจัดการกับผลกระทบที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้โซเชียลมีเดีย คนดัง คนมีชื่อเสียงที่เริ่มเตรียมตัดสัมพันธ์กับแบรนด์ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจถูกกดดันมาอีกทางและสื่อของรัฐที่ประณามบริษัทต่างชาติถึงแถลงการณ์ที่มีต่อกรณีซินเจียง สิ่งที่แบรนด์ต้องเลือกทำมีสองทางคือเรื่องหลักการกับยอดขาย ทั้งนี้ นักวิจัยตะวันตกและเจ้าหน้าที่ระบุว่าชนกลุ่มน้อยอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่อยู่ในมณฑลซินเจียงถูกบังคับใช้แรงงานและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
ซินเจียงถือเป็นฮับผลิตฝ้ายของจีนและจีนก็ถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตฝ้ายรายใหญ่ที่สุดของโลกและยังเป็นผู้ส่งออกสิ่งทอรายใหญ่ที่สุดด้วย
อย่างไรก็ดี จีนปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ตลอดมา ล่าสุดยังออกมาคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ยุโรปและองค์กรเพื่อเป็นการโต้กลับสหรัฐฯ สหภาพยุโรป แคนาดาที่ร่วมมือกันคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตอนนี้บริษัทต่างประเทศในจีนกำลังลุกเป็นไฟซึ่งก็เป็นผลมาจากการออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยที่มีการบังคับใช้แรงงานนั่นเอง
ทั้งนี้ บริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่ทั้งหลายก็พร้อมใจกันออกแถลงการณ์ต้านการบังคับใช้แรงงานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Nike, Adidas, Gap และ Fast Retailing ที่เป็นเจ้าของ Uniqlo ซึ่งก็เป็นผลให้เซเลบชาวจีนเริ่มออกมาบอกว่าจะระงับความสัมพันธ์ด้วย เหตุการณ์เหล่านี้ก็ทำให้การบอยคอตต์ลุกลามใหญ่โตมากขึ้น บริษัทมีทางเลือกทั้งในรูปแบบยืนหยัดตามหลักการที่ตัวเองเลือกหรือไม่ก็ยกเลิกข้อเรียกร้องนั้น
อย่างไรก็ดี จีนคือตลาดแฟชั่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นตัวขับเคลื่อนให้หลายบริษัทเติบโตอย่างมาก แม้ Inditex จะไม่ได้แตกยอดขายในจีนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ก็พบว่ายอดขายในประเทศนี้ปี 2020 เติบโตกว่าสหรัฐฯ อย่างมาก
สรุป
สำหรับจีนแล้ว การคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนกรณีเกี่ยวพันกับการบังคับใช้แรงงานอุยกูร์ก็ไม่ต่างอะไรกับการคว่ำบาตรจีน จึงได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน เมื่อบริษัทชาติตะวันตกต่างแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้แรงงานในจีน ซึ่งก็มี Zara ที่เป็นเหยื่อรายล่าสุดที่กำลังถูกโจมตีกลับจากกลุ่มประชาชนนิยมจีนในประเทศ การถอนประกาศหรือแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้แรงงานในซินเจียงของ Zara ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งท่าทีที่ทำเพื่อลดความร้อนแรง แต่สำหรับจุดยืนแล้วอาจจะยังคงเดิมก็เป็นได้
ที่มา – Quartz
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา