ขายแหลก! ปีนี้บริษัทจีนขายสินทรัพย์ต่างประเทศไปแล้วกว่า 15,000 ล้านเหรียญ

ในช่วงที่ผ่านมา Brand Inside ได้นำเสนอเรื่องของ 4 บริษัทใหญ่ในจีนที่กำลังประสบสภาวะหนี้ที่มากเกิน จนต้องขายสินทรัพย์ต่างประเทศที่ตัวเองซื้อมาเพื่อลดความเสี่ยง แต่ล่าสุดยังมีบริษัทในจีนอีกมากที่ทยอยขายสินทรัพย์ในต่างประเทศออกมาเช่นเดียวกัน

ภาพจาก Shutterstock

4 บริษัทใหญ่จีนไม่ว่าจะเป็น HNA Wanda Fosun หรือแม้แต่ Anbang เตรียมขายสินทรัพย์ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่หุ้นที่บริษัทเหล่านี้ได้ไปลงทุน ซึ่งคาดว่ามูลค่าการซื้อขายจะสูงขึ้นอีกมาก เนื่องจาก บริษัทเหล่านี้ได้ซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศเป็นเม็ดเงินมหาศาล

และเมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัทจีนได้ขายสินทรัพย์ในต่างประเทศไปแล้วมากถึงประมาณ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปีที่ผ่านมาสูงถึง 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการขายทรัพย์สินเหล่านี้เกิดจากการที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินสดในประเทศจีนได้ เนื่องจากรัฐบาลจีนเริ่มทำการลดความเสี่ยงของเศรษฐกิจลง

HNA อาการหนักสุด

ในรอบปีที่ผ่านมา HNA ได้ทำการขายสินทรัพย์ไปแล้วกว่า 4,290 ล้านเหรียญ จากสินทรัพย์ทั้งหมด 16,570 ล้านเหรียญสหรัฐ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มโรงแรมในต่างประเทศที่ HNA ได้ไปลงทุนมีการทยอยขายออกมาให้กลุ่มทุนที่สนใจในการซื้อกิจการต่อจาก HNA ไม่ว่าจะเป็น NH Hotel Group ที่กลุ่ม Minor ของไทยกำลังประกาศซื้อกิจการอยู่ในขณะนี้ หรือแม้แต่ Hilton Worldwide เป็นต้น หรือแม้แต่หุ้นของ Deustche Bank ด้วย

นอกจากนั้นยังมีอสังหาริมทรัพย์ที่ HNA ได้ไปลงทุนไว้ ไม่ว่าจะเป็น โกดังสินค้า 5 แห่งในประเทศสิงคโปร์ หรือแม้แต่อาคารสำนักงานใน San Francisco ที่บริษัทต่างได้ทยอยขายออกมา ซึ่งปัจจุบัน HNA มีหนี้สินจากการไล่ซื้อกิจการอยู่ประมาณ 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

มาทำความเข้าใจเรื่องของ HNA จากบทความต่อไปนี้

ภาพจาก Shutterstock

บริษัทอื่นๆ ก็ทยอยขายสินทรัพย์ออกมาเช่นกัน

ในปีนี้ยังมีบริษัทในจีนที่ไม่ใช่ 4 บริษัทที่ทางการจีนจับตามองเริ่มทำการขายสินทรัพย์ออกมาเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น Cosco Shipping บริษัทขนส่งทางเรือรายใหญ่ของจีนที่ขายหุ้นบริษัท Orient Overseas International ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งทางเรืออีกแห่งในฮ่องกงออกมาด้วยมูลค่า 848 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13.5%

หรือแม้แต่ Haier ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ได้ขายกิจการใน Haier New Zealand Investment มูลค่าประมาณ 856 ล้านเหรียญสหรัฐ ออกมาด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้นปริมาณการซื้อกิจการนอกประเทศจีนในปีนี้ลดลงถึง 25% เนื่องจากความเข้มงวดของทางการจีน ดังที่กล่าวไปข้างต้น และยังรวมไปถึงหน่วยงานกำกับดูแลโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐก็จับตามองบริษัทจีนที่พยายามซื้อกิจการด้วย ทำให้การซื้อกิจการยากขึ้น รวมไปถึงปัจจัยจากสงครามการค้าอีกด้วย

อย่างไรก็ดีข่าวนี้ถือว่าเป็นข่าวดีของ Private Equity และรวมไปถึงกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็น GIC หรือแม้แต่ Temasek ของประเทศสิงคโปร์ที่มีข่าวช่วงที่ผ่านมาว่าสนใจในสินทรัพย์คุณภาพจากบริษัทจีนที่กำลังทยอยขายออกมาด้วย

ที่มาNikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ