มารู้จักกับ 4 บริษัทยักษ์ใหญ่จีนที่รัฐบาลจีนกลัวจะเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจ

Brand Inside พาไปรู้จักกับ 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนที่พาเม็ดเงินมหาศาลไล่ซื้อกิจการของต่างประเทศ แต่ท้ายที่สุดแล้ว 4 บริษัทนี้กลับกลายเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนไปด้วย

ภาพจาก Shutterstock

ตั้งแต่หลังปี 2010 เป็นต้นมา เราจะเริ่มเห็นข่าวบริษัทใหญ่ของจีนเริ่มไล่ล่าซื้อกิจการต่างประเทศอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งในแต่ละปีมีข่าวดังๆ มาจาก 4 บริษัทใหญ่ๆ ได้แก่ Wanda Group, Fosun International, Anbang และ HNA Group ลองไปทำความรู้จักกับ 4 บริษัทนี้กัน

Wanda Group

หากจะเปรียบความยิ่งใหญ่ของ Wanda Group ว่ายิ่งใหญ่แค่ไหน คงต้องตอบว่าความยิ่งใหญ่ของ Wanda Group สามารถทำให้เจ้าของบริษัทอย่าง Wang Jianlin ติดรายชื่อเศรษฐีอันดับ 1 ของจีนได้หลายปีติดต่อกัน ก่อนที่จะมาพ่ายในปี 2017 โดยบริษัทเริ่มก่อตั้งในปี 1988

ธุรกิจหลักๆ ของ Wanda Group คืออสังหาริมทรัพย์ในจีน โดยเฉพาะ Wanda Plaza และสวนสนุก ซึ่งภายหลังขายไปให้บริษัทอสังหาจีนอย่าง Sunac ส่วนอสังหาในต่างประเทศ มีแผนที่จะพัฒนาหลายโครงการในหลายประเทศ โดยกิจการต่างประเทศที่น่าสนใจของ Wanda Group ได้แก่

  • AMC Theatres โรงหนังรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา
  • Hoyts Group กิจการโรงหนังในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
  • Legendary Entertainment สตูดิโอหนังชื่อดังที่มีหนังอย่าง Inception และ Jurassic World
  • Sunseeker International ผู้ผลิตเรือยอร์ชหรูรายใหญ่ของอังกฤษ
  • Infront Sports & Media เอเจนซีลิขสิทธิ์กีฬารายใหญ่ และเป็นผู้ดูแลเบื้องหลังสัญญาณถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมาตั้งแต่ปี 2002 จนถึง 2014 และยังเป็นผู้ขายลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกปี 2018 ในเอเชียด้วย
  • World Triathlon Corporation ผู้จัดการแข่งขันไตรกีฬารายการใหญ่

อนึ่ง Wanda Group ยังเคยเป็นผู้ถือหุ้นในสโมสรฟุตบอล Atlético Madrid ด้วย ก่อนที่จะขายไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

Fosun International

บริษัทก่อตั้งในปี 1992 โดยผู้ก่อตั้ง 5 คน ปัจจุบัน CEO ของ Fosun คือ Wang Qunbin หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท โดยตอนแรกบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับวิจัยตลาด แล้วภายหลังขยายกิจการไปทำยารักษาโรค เหมืองแร่ ธุรกิจลงทุนในกิจการต่างๆ รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ด้วย

การลงทุนในบริษัทต่างประเทศของ Fosun International ที่น่าสนใจ

  • Banco Comercial Português ธนาคารใหญ่ในประเทศโปรตุเกส
  • Tsingtao Breweries ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของจีน โดยซื้อหุ้นต่อจาก Asahi Breweries
  • Gland Pharma บริษัทยาในประเทศอินเดีย
  • Lanvin แบรนด์แฟชั่นชื่อดัง ซึ่ง Brand Inside เคยเสนอข่าวไป
  • Club Med เจ้าของรีสอร์ทหรูที่มีอยู่ 65 แห่งทั่วโลก มี Concept ที่ว่า “Premium all inclusive”
  • Cirque du Soleil คณะกายกรรมระดับโลก มีทีมงานถึง 5,000 คน และเคยมาแสดงโชว์ที่ไทยมาแล้ว
Club Med ซึ่งดำเนินกิจการรีสอร์ททั่วโลก เป็นการลงทุนครั้งสำคัญของ Fosun International (ภาพจาก Shutterstock)

Anbang Insurance

บริษัทประกันภัยของจีนที่ก่อตั้งในปี 1966 หลังจากการเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ และเริ่มมีชื่อจากการลงทุนบริษัทต่างๆ รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ มี CEO อย่าง Wu Xiaohui และตัวเขาเองได้แต่งงานกับหลานสาวของ เติ้ง เสี่ยวผิง 

การเติบโตในช่วงก่อนหน้านี้ มีรัฐบาลจีนเป็นเบื้องหลังสำหรับประกันภัยเจ้านี้ แม้แต่ Financial Times ยังได้เคยกล่าวถึงบริษัทประกันภัยที่ใช้เส้นสายอำนาจของหลานสาวเติ้ง เสี่ยวผิง ในการทำมาหากิน

การลงทุนต่างประเทศที่น่าสนใจส่วนใหญ่ถ้าไม่เป็นกิจการประกันภัย ประกันชีวิตแล้ว ก็จะเป็นโรงแรมดังๆ เช่น

  • กิจการประกันชีวิตในเกาหลีใต้ที่ซื้อต่อจาก Allianz และรวมไปถึงลงทุนในกิจการประกันภัย Tongyang Life
  • กิจการประกันภัยในยุโรปและสหรัฐ เช่น Fidelity & Guaranty Life หรือ Fidea Verzekeringen
  • ธนาคาร Minsheng ในประเทศจีน
  • โรงแรมหรู 16 โรงแรมในสหรัฐมูลค่ากว่า 6,500 ล้านเหรียญสหรัฐ อาทิเช่น JW Marriott, Essex House
  • โรงแรมหรู Waldorf Astoria New York ซื้อด้วยมูลค่าเกือบๆ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ยังมีดีลที่น่าสนใจที่ Anbang เคยสนใจจะซื้อเช่นเครือโรงแรม Starwood ซึ่งปัจจุบันเป็นของ Marriot ซึ่งสุดท้ายทาง Anbang นั้นถอนตัวไปเอง

HNA Group

รายสุดท้ายคือ HNA Group หรือกลุ่มสายการบินไห่หนาน ก่อตั้งในปี 2000 มีประธานบริษัทอย่าง Chen Feng โดยธุรกิจของ HNA Group ส่วนใหญ่คือสายการบินในเครือ HNA Aviation ซึ่งมีสายการบินลูกเยอะมาก ยกตัวอย่างเช่น HK Express และ Hainan Airlines หรือแม้แต่ Hong Kong Airlines

ส่วนการลงทุนในต่างประเทศ HNA Group เป็นกลุ่มที่มีกิจกรรมการลงทุนในต่างประเทศมากที่สุดใน 4 บริษัทที่ว่ามา ยกตัวอย่างเช่น

  • Deutsche Bank โดยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ถือหุ้นประมาณ 7.9%
  • Hilton Companies โดย HNA เคยถือหุ้นมากถึง 25% แต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาบริษัทประกาศขายหุ้น
  • Ingram Micro ธุรกิจผู้จัดจำหน่ายสินค้าไอที
  • Gate Group ผู้ส่งอาหารให้ตามสายการบินชั้นนำทั่วโลก
  • Swissport ดูแลภาคพื้นดินให้กับสนามบิน รวมไปถึงเรื่องของ Cargo สินค้าในสนามบิน
ภาพจาก Shutterstock

ทางการจีนลงมาจัดการ

หลังจากความสนุกสนานของการซื้อกิจการต่างประเทศของ 4 ยักษ์ใหญ่ที่ว่ามาตั้งแต่ช่วงปี 2010 แต่หลังปี 2017 เป็นต้นมาทางการจีนเริ่มไม่อนุมัติให้บริษัทเหล่านี้ไล่ซื้อกิจการต่างประเทศอีกต่อไป

สาเหตุนั้นมาจาก “เรื่องของค่าเงินหยวน” ในช่วงปี 2016-2017 เราจะเห็นข่าวว่าเงินไหลออกจากประเทศจีนเป็นจำนวนสูงมากๆ ฉะนั้นทางการจีนจึงต้องลงมาจัดการอย่างจริงจัง โดยหนึ่งในสาเหตุที่ทางการจีนป้องกันคือห้ามบริษัทเหล่านี้ไล่ซื้อกิจการ เพราะว่าเม็ดเงินที่ไล่ซื้อกิจการนั้นส่วนใหญ่อยู่ที่หลักพันล้านเหรียญสหรัฐ

ดังนั้นในช่วงปีที่ผ่านมา 4 บริษัทดังกล่าวเริ่มไล่ขายกิจการต่างประเทศ และขายอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทในต่างประเทศต่างๆ เพื่อนำเงินกลับประเทศจีน หรือไม่ก็พักไว้ต่างประเทศเพื่อที่จะได้ชำระหนี้ส่วนที่ไปซื้อกิจการอื่นๆ มา

อย่างไรก็ตาม 1 ใน 4 กิจการที่ไปไม่รอด แถมผู้บริหารยังโดนทางการจีนจับตัวขึ้นศาล และกลายเป็นอาชญากรทางเศรษฐกิจ คือ Anbang Insurance โดยที่ทางการจีนต้องยึดกิจการไปบริหารเอง และเตรียมหาลู่ทางขายสินทรัพย์บางส่วนออกมาเพื่อเสริมสภาพคล่อง

จึงไม่แปลกที่จะเห็นบริษัทเหล่านี้เริ่มลดการถือครองสินทรัพย์ต่างประเทศลง และขายกิจการบางส่วนออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเดียวกับ Anbang Insurance ซ้ำรอยขึ้นอีก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ