จีนมุ่งเป้าตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี มุ่งฟื้นความสัมพันธ์กับสหรัฐฯให้ดีขึ้น

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนกล่าวสุนทรพจน์เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาเน้นถึงการให้ความสำคัญต่อประชาชน การพัฒนาชาติและเศรษฐกิจ และให้ความสัมพันธ์ต่อความมือกับระหว่างประเทศมากขึ้น 

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน Xi Jinping China president
BEIJING, CHINA – October 24, 2017 in Beijing, China. (Photo by Lintao Zhang/Getty Images)

จากสุนทรพจน์ดังกล่าว คริสโตเฟอร์ โบวิส อาจารย์ด้านกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศจากอังกฤษ ระบุว่า สี จิ้นผิง ชื่นชมและสนับสนุนให้คนจีนที่ร่วมต่อสู้โควิดระบาดมาด้วยกัน สี จิ้นผิงยืนยันว่าจะให้ความร่วมมือกับนานาประเทศภายใต้กรอบพหุภาคีและจะปฏิรูประบบภายในประเทศต่อไป โดยมุ่งเป้าเพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น แต่ไม่ได้พูดถึงการส่งเสริมการพัฒนามนุษย์และการให้ความคุ้มครองส่วนบุคคล 

ขณะที่ รานา มิทเทอร์ อาจาารย์ด้านประวัติศาสตร์และการเมืองของจีนยุคใหม่จากอ็อกฟอร์ดกล่าวว่า โควิด-19 ระบาด ส่งผลกระทบทั่วทั้งโลก จีนสามารถมีบทบาทนำในด้านการค้าได้ การเงิน และแลกเปลี่ยนทุนทางมนุษย์ เช่น การให้คนเก่ง คนมีความสามารถข้ามพรมแดนเพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจโลกให้มีมูลค่าสูงได้  

โจ โทมัส จากศูนย์ศึกษาจีน สถาบันเทคโนโลยีมัสทราสแห่งอินเดีย ระบุว่า สี จิ้นผิง เน้นเรื่องการพัฒนาท้องถิ่นในจีน และมุ่งเป้าให้ความสำคัญกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจจีน 5 ปีฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) เชื่อมโยงกับโลก ขณะที่ คารัคคัททุ ระบุว่า จีนจะพัฒนาทั้งมิติทางเศรษฐกิจพัฒนาควบคู่กับมิติทางสังคมด้วย จีนเน้นการพัฒนารูปแบบใหม่ตามแผนพัฒนาจีน คือเน้นการพัฒนาคุณภาพสูง เศรษฐกิจจีนจะมุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยรวมแล้วความคิดเห็นนักวิชาการส่วนใหญ่มองว่า สี จิ้นผิงมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจจีน 5 ปี 

สี จิ้นผิง Xi Jinping จีน โจ ไบเดน Joe Biden สหรัฐอเมริกา
LOS ANGELES, CA–February 17, 2012

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น Wang Yi รัฐมนตรีต่างประเเทศจีนมองเห็นความหวังใหม่ๆ จากการขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของโจ ไบเดน จีนหวังว่า ในยุคต่อจากนี้จีนและสหรัฐฯ กลับเข้าสู่การเจรจากันได้และฟื้นคืนสัมพันธ์สู่ภาวะปกติ ภายใต้กรอบความร่วมมือแบบทวิภาคี เพื่อที่จะกลับมาร่วมมือกันใหม่ 

ความสัมพันธ์ทั้งของจีนและสหรัฐฯ ถึงจุดตกต่ำสุดในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความขัดแย้งกันหลากหลายเรื่องราว ทั้งมิติการสานความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวัน ประเด็นเศรษฐกิจ สงครามการค้า และประเด็นเทคโนโลยี ตลอดจนประเด็นเพื่อนบ้านทั้งในทะเลจีนใต้ ความขัดแย้งในฮ่องกง การใช้แรงงานอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง และยังมีประเด็นการคว่ำบาตรหัวเว่ย ไปจนถึงการระบาดของโควิด-19 

หวาง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ระบุว่า สิ่งที่สหรัฐฯ ได้เคยพยายามกดปราบจีนด้วยการสร้างบรรยากาศให้เป็นแบบช่วงสงครามเย็น ทำลายผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ เขาเห็นว่าหนทางที่ดีที่สุดคือการพยายามพัฒนาประเทศตนเองต่อไป ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ขัดขวางการพัฒนาของประเทศอื่นด้วย ทั้งสองฝ่ายควรจะเรียนรู้บทเรียนจากอดีตและทำงานเพื่อสานประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น 

อย่างไรก็ดี พาง จงหยิง ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศจากจีน ระบุว่า น้อยคนนักที่จะมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาภายใต้โจ ไบเดน จะมีแง่บวก แต่คาดการณ์ว่าความสัมพันธ์ภายใต้กรอบทวิภาคีจะตึงเครียดแต่อาจจะไม่ได้เลวร้ายมากนัก 

ที่มา – China Daily, South China Morning Post

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา