หลังอัตราประชากรในจีนเกิดน้อยลงเพราะดำเนินนโยบายผิดพลาดมาเนิ่นนานจากการบังคับให้ทุกครอบครัวมีลูกน้อยผ่านนโยบายให้มีลูกคนเดียว ในที่สุดจีนก็ผุดนโยบายใหม่ หวังช่วยทำให้มีลูกมากขึ้นผ่านนโยบายให้มีลูก 3 คน
ผลสำรวจจากสำมะโนประชากรของจีนล่าสุดนั้น จีนมีคนเกิดเพิ่มขึ้น 12 ล้านคนในปี 2020 ถือว่าจีนมีคนเกิดเพิ่มขึ้นแต่อัตราการเกิดน้อยลง การออกนโยบายให้มีลูก 3 คนได้ของจีนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากว่า ออกนโยบายแต่ไม่มีสิ่งใดกระตุ้นจูงใจหรือสนับสนุนให้คนมีลูกเพิ่มขึ้นก็น่าจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงภาพรวมของประชากรในจีนมากนัก เนื่องจากค่าครองชีพทุกวันนี้ก็กดดันให้คนไม่ได้อยากมีลูกเพิ่มมากขึ้น
การตัดสินใจประกาศนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีการประชุมคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์โดยมี Xi Jinping เป็นประธานการประชุม พร้อมผลักดันข้อเสนอที่ต้องหารือกันต่อนอกเหนือจากประเด็นนโยบายมีลูก 3 คน อาทิ ยืดอายุเกษียณการำงานและพัฒนาการให้บริการดูแลเด็กและการให้แม่ลาคลอด ทั้งนี้ แถลงการณ์หลังการประชุมระบุว่า ปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างหนักคือเรื่องอัตราประชากรที่เป็นผู้สูงวัยเสียมาก นโยบายการเกิดน่าจะช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากรในจีนได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่หากไม่มีมาตรการสนับสนุนทางการเงินมาช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว ก็ไม่น่าจะทำให้ครอบครัวนี้น่าฝากความหวังมากนัก
เรื่องนี้ Dan Wang หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์จาก Hang Seng Bank ระบุว่า นโยบายลูก 3 คน (three-child policy) อาจส่งผลเชิงบวกต่ออัตราการเกิดของเด็กในจีน แต่ไม่น่าจะช่วยอะไรได้มากนัก จีนเปลี่ยนนโยบายลูกคนเดียว (one-child policy) เป็นนโยบายลูกสองคน (two-child policy) ช่วงตุลาคม ปี 2015 ก็พบว่ามีอัตราการเกิดเพิ่มขึ้นทันที แต่ผลกระทบก็ค่อยๆ น้อยลงหลังจากนั้นสามปี ทั้งต้นทุนค่าที่อยู่อาศัยและค่าเล่าเรียนที่สูง อีกทั้งไม่มีการปกป้องผู้หญิงขณะที่มีลูก ทำให้นโยบายมีลูก 3 คนน่าจะส่งผลกระทบสูงมากต่อครอบครัวคนชั้นกลาง รัฐบาลต้องมีเงินอุดหนุนเพื่อแก้ปัญหา ทั้งเรื่องการจัดระบบภาษีใหม่เพื่อให้บริษัทจูงใจในการจ้างงานผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์
Yi Fuxian ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ระบุว่า ระยะเวลาที่จีนออกนโยบายลูก 3 คนนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่มีการเผยข้อมูลสำมะโนประชากรได้ไม่นาน อาจะเป็นเพราะข้อมูลนั้นสะท้อนให้เห็นว่ามันค่อนข้างน่ากลัว ถ้าหากว่ายังไม่เปิดข้อมูลดังกล่าว การตัดสินใจดำเนินนโยบายเช่นนี้ก็อาจจะถูกชะลอไปก่อน ขณะที่ Zhiwei Zhang หัวหน้าด้านเศรษฐศาสตร์จาก Pinpoint Asset Management ระบุว่า อัตราการเกิดของประเทศลดลง ดูจากแนวโน้มของอัตราประชากรแล้วน่าจะเป็นไปได้ยากที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง นโยบายนี้อาจจะส่งผลเล็กน้อยต่อทิศทางของประชากรวัยแรงงานที่กำลังลดน้อยลงในอีก 20 ปีข้างหน้า
เรื่องนี้เมื่อไปสัมภาษณ์คุณแม่ลูกสอง Zheng Fang วัย 38 ปี เธอบอกว่า การมีลูกคนที่สามก็น่าสนใจแต่ก็ยังมีข้อเสียอยู่ เธอบอกว่า การมีลูกสองคนก็ปวดหัวพอละ ถ้ามีลูกคนที่สามน่าจะฆ่าเธอได้เลย เธอบอกว่าถ้ามีลูกคนที่สามก็อาจจะทำให้ครอบครัวอบอุ่น สดใสมากขึ้น มีลูกมากขึ้นมันก็ทำให้ชีวิตสดใสขึ้นแต่เธอก็ยังไม่แน่ใจอยู่ดีเพราะเอาเข้าใจมันน่าจะมีแรงกดดันทั้งค่าบ้านและค่าการเล่าเรียนให้ต้องแบกรับด้วย
ขณะที่ชาวเน็ตจีนจาก Weibo ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นโยบายนี้ไม่น่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของอัตราประชากรมากนักเพราะมีเรื่องต้องคิดหนักทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและการแข่งขันในการทำงานที่เคร่งเครียด และยังจะมีค่าเล่าเรียนที่สูงด้วย ขณะที่ผลสำรวจออนไลน์จาก Xinhua พบว่าราว 28,000 คนจาก 31,000 คน ยังไม่พิจารณาว่าจะมีลูกคนที่สามหรือไม่ แต่อีก 1,600 ระบุว่ายินดีที่จะมีลูกคนที่สาม ผลสำรวจนี้เผยแพร่ชั่วครู่ จากนั้นก็หายไปจากหน้าเว็บ
- คนเพิ่มขึ้น แต่เกิดน้อยลง: จีนยืนยันประชากรจีนเพิ่มขึ้นเป็น 1,412 ล้านคนแล้ว
- หนุ่มจีนขาดแคลนเจ้าสาว ทางรอดเดียวคือหาเจ้าสาวจากต่างประเทศ
ที่มา – South China Morning Post
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา