รู้จักโมเดล China+1 ต่อไปบริษัทต่างๆ จะมีฐานการผลิตมากกว่าแค่ในประเทศจีน

Hong Kong Port ฮ่องกง
ภาพจาก Shutterstock

China+1 จะเป็นโมเดลห่วงโซ่การผลิตในอนาคต

ในอนาคตระยะใกล้ ภาพกว้างของเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนไป Gordon H. Hanson ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จาก Harvard University กล่าวว่า ประเทศต่างๆ จะต้องลดการพึ่งพิงของห่วงโซ่การผลิตกับประเทศจีนมากขึ้น แต่บริษัทก็ยังไม่สามารถตัดจีนออกจากสมการการผลิตได้อย่างเด็ดขาด

โดยเฉพาะในสินค้าราคาถูก ที่ผลิตโดยแรงงานไร้ทักษะ เช่น เสื้อผ้า รองเท้า ของเล่น หรือเพิ่มระดับเป็นขึ้นมาเป็นชิ้นส่วนและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใครๆ ต่างก็มาลงทุนจ้างจีนผลิตจนได้ชื่อว่าเป็นโรงงานโลก 

  • พูดง่ายๆ คือ หลังจากนี้จีนจะลดความเป็นโรงงานโลกลง แต่ไม่ได้เลิกเป็นโดยสิ้นเชิง

แนวทางของ Hanson ตรงกับทัศนะของ David Ramirez นักวิจัยและที่ปรึกษาอิสระจาก International Institute for Strategic Studies ที่กล่าวว่าอนาคตของสายพานการผลิตโลกคือ “โมเดล China+1 ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ผลิตยังคงพึ่งพาการผลิตในจีนส่วนหนึ่งแต่ก็มีอีกหนึ่งประเทศหลักที่คอยป้อนห่วงโซ่การผลิตเช่นกัน 

จีนได้เปรียบในการผลิตแบบเน้นแรงงานน้อยลงเรื่อยๆ

การวิจัยของ Hanson แสดงให้เห็นว่าการส่งออกสินค้าจากการผลิตแบบเน้นแรงงานของจีน เช่น สิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา ของเล่น และอื่นๆ ในช่วง 5 ปี ลดลง

  • ปี 2013 จีนมีส่วนแบ่งการส่งออกสินค้าในหมวดดังกล่าวในระดับโลก คิดเป็น 39.3% 
  • ปี 2018 จีนมีส่วนแบ่งการส่งออกสินค้าในหมวดดังกล่าวในระดับโลก คิดเป็น 31.6% 

สังเกตว่า ส่วนแบ่งสินค้าราคาถูกของจีนในระดับโลกลดลงเกือบ 10% นี่คือทิศทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

Alibaba Tencent อาลีบาบา เทนเซ็นต์
ภาพจาก Shutterstock

ยุทธศาสตร์หันสู่การผลิตแบบเน้นเทคโนโลยีเบือนหนีการผลิตแบบเน้นแรงงานของจีน ทำให้ความสามารถในการผลิตแบบเดิมของจีนที่เน้นการใช้แรงงานผลิตสินค้าราคาถูกลดต่ำลงเพราะนโยบายต่างๆ ของภาครัฐที่หันไปผลักดันภาคเทคโนโลยีมากขึ้น หมายความว่าต้องผันเงินอุดหนุนจากภาคการผลิตราคาถูกไปสู่ภาคเทคโนโลยี 

ในช่วง 5 ปีให้หลัง เราจึงได้เห็นบริษัทเทคโนโลยีของจีนโด่งดังขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น Tencent, Alibaba, Huawei, Ant Group, Pinduoduo หรือ Xiaomi 

และอีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการที่มีมหาเศรษฐีจีน 2 คน ติด 5 อันดับมหาเศรษฐีที่รวยขึ้นมากที่สุด ปี 2020 ซึ่งทำให้เห็นพัฒนาการที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดของภาคเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงในจีน

นี่หมายความว่าเงินอุดหนุนภาคการผลิตราคาถูกที่ลดลง ส่วนพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนจีนมีรายได้เพิ่มขึ้นก็หมายถึงต้นทุนในภาคการผลิตแบบเน้นแรงงานที่มากขึ้น 

Yoshihide Suga Japan PM, Nguyen Xuan Phuc Vietnam PM ภาพจาก Japan.Kantei.go.jp

นอกจากปัจจัยภายในแล้ว ปัจจัยภายนอกอย่างความพยายามลดการพึ่งพิงเศรษฐกิจจีนของประเทศอื่นๆ และความเชื่อมั่นจีนที่ลดลง ก็เป็นปัจจัยกระทบความเป็นเจ้าแห่งห่วงโซ่การผลิตของจีน

เริ่มจากการที่ ภาคธุรกิจ รู้สึกว่าเสี่ยงเกินไปที่จะพึ่งพิงแหล่งผลิตที่เดียว จึงมีความต้องการกระจายความเสี่ยงไปยังที่อื่นๆ เช่น การที่ Apple เริ่มย้ายฐานการผลิต iPad และ MacBook ไปยังเวียดนาม รวมไปถึง Google Microsoft และ Panasonic ก็มีแนวโน้มย้ายออกจากจีนมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่สร้างความไม่แน่นอนให้กับการค้าระหว่างประเทศ

ส่วน ภาครัฐ ก็มีแนวโน้มสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น และ อินเดีย ที่มีนโยบายจูงใจให้ธุรกิจย้ายฐานการผลิตกลับมาประเทศบ้านเกิดหรือแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนสหภาพยุโรปก็มีทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับเวียดนาม (EVFTA) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ธุรกิจจากยุโรปไปลงทุนในเวียดนามมากขึ้น

นอกจากนี้ การที่ประเทศอื่นสามารถผลิตได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้แรงจูงใจในการจ้างผลิตหรือประกอบลดลง โดยเฉพาะเมื่อผู้ลงทุนอยู่ไกลจากจีน เช่น สหภาพยุโรป ก็มีแรงจูงใจไปลงทุนในฐานการผลิตในใกล้ๆ อย่างประเทศในยุโรปตะวันออกอย่าง โรมาเนีย โปแลนด์ ประเทศในแอฟริกาเหนืออย่าง โมร็อกโก ตูนีเซีย หรือประเทศทางฝั่งเอเชียอย่างตุรกี เพราะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์มากกว่า

งานศึกษาของ Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาทางธุรกิจระดับโลก ที่ทำการศึกษาบริษัทกว่า 260 บริษัท จากหลากอุตสาหกรรมในหลายภูมิภาค รายงานว่า ราว 1 ใน 3 ของผู้บริษัทได้ย้ายหรือมีแผนจะย้ายแหล่งวัตถุดิบและแหล่งประกอบออกจากประเทศจีน

Chinese President Xi Jinping
ภาพจาก Shutterstock

ข้อมูลข้างต้น ทั้งตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ รายงานของบริษัทวิจัย ยุทธศาสตร์ของธุรกิจ และนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของภาครัฐ ทำให้เห็นแนวโน้มไปในทางเดียวกันว่า จีนกำลังจะลดและถูกทำให้ลดความเป็นโรงงานโลกลง 

คำถามก็คือ เมื่อการผลิตของจีนภาคการผลิตราคาถูกลดลงแล้วใครจะเข้ามาแทนที่

ประเทศอื่นมีการผลิตแบบเน้นแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังห่างชั้นจีน

มีหลายประเทศที่อาจจะเป็นชิ้นส่วนใหม่ของกลไกการผลิตระดับโลกแทนที่จีน โดยเฉพาะในเอเชียที่มีหลายประเทศเป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economies) และมีส่วนแบ่งการผลิตสินค้าในระดับโลกในระดับพอใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา บังกลาเทศ และที่สำคัญที่สุดคือ เวียดนาม

บังกลาเทศ เป็นผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก ซึ่งถ้าหากลองพลิกดูฉลากหลังเสื้อในตู้เสื้อผ้าดู แน่นอนว่าจะต้องมีเสื้อ Made in Bangladesh อยู่บ้างแน่ๆ

แต่ประเทศที่ร้อนแรงที่สุดในขณะนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก เวียดนาม ที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรง แม้พิษโควิดกำลังบั่นทอนเศรษฐกิจโลก มีค่าแรงไม่สูงนัก มีความตกลงการค้าเสรีอยู่หลายฉบับที่ทำให้การลงทุนสะดวกมากขึ้น

Ho Chi Minh City Vietnam นครโฮจิมินห์ เวียดนาม
ภาพจาก Shutterstock

อย่างไรก็ดี ยังมีข้อควรพิจารณาว่าประเทศเหล่านี้ถึงจะมีความเป็นไปได้ แต่เมื่อมองดูความเป็นจริงทางเศรษฐกิจแล้วต้องยอมรับว่า ทั้งสองประเทศยังห่างชั้นจีนอยู่มาก และไม่มีทางขึ้นมาเป็นโรงงานโลกได้ในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน 

ประชากรของเวียดนามและบังกลาเทศรวมกันมีจำนวนน้อยกว่า 20% ของประชากรจีนเสียอีก และมากไปกว่านั้น กำลังการผลิตของเวียดนาม บังกลาเทศ และกัมพูชา (อีกประเทศที่ใช้การผลิตราคาถูกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ) รวมกันก็ยังมีสัดส่วนการผลิตสินค้าราคาถูกในระดับโลกเพียง 8% ซึ่งห่างไกลจากความเป็นโรงงานโลกอยู่มาก

ข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจเหล่านี้สอดคล้องกับทัศนะของ Dan Wang นักวิเคราะห์จาก Gavekal บริษัทวิจัยด้านการลงทุนที่มองว่า จีนจะยังเป็นโรงงานของโลกอีกอย่างน้อย 5 ปี และยังต้องอาศัยเวลาเปลี่ยนผ่านอีกมากกว่านั้น

เมื่อจีนหันหาเทคโนโลยี แต่ก็ยังมีแรงงานราคาถูกอยู่ และเมื่อประเทศอื่นผลิตสินค้าราคาถูกมากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ระดับโลก ทำให้เกิดสูตรห่วงโซ่การผลิตแบบ China+1 คือบริษัทจ้างทั้งจีนและประเทศอื่น

จีนทำหน้าที่เดิม เพิ่มเติมคือประเทศอื่นมีสัดส่วนการผลิตมากขึ้น

แม้จีนจะหันไปหาภาคเทคโนโลยีมากขึ้น แต่จีนยังคงมีแรงงานราคาถูกจำนวนมาก และยังเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอัตโนมัติในอุตสาหกรรมซึ่งช่วยในการผลิตที่ไม่ต้องใช้ทักษะ นี่เป็นเหตุผลให้จีนยังคงเป็นโรงงานโลกได้อีกระยะหนึ่ง

ดังนั้น ในอนาคต China+1 Model คือคำตอบ บริษัทอาจจะคงการผลิตที่จำเป็นภายในจีนซึ่งยังมีความได้เปรียบทางเทคโนโลยี และกระจายการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีต่ำกว่าไปประเทศอื่น เช่น Foxconn ที่ย้ายการผลิตโทรศัพท์รุ่นรองอย่าง iPhone SE ไปยังอินเดียเพื่อลดต้นทุน และยังคงการผลิตรุ่นเรือธงจำนวนหนึ่งในจีนต่อไป

ภายใต้ภูมิทัศน์การค้าการลงทุนระดับโลกแบบใหม่ โอกาสกระจายสู่ประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นในฐานะที่เป็นแหล่งการผลิตสำรองของบริษัทต่างๆ รองจากจีน ซึ่งจะเป็นรองเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มี 

ภาพการค้าการลงทุนจะมีลักษณะที่เป็นพหุนิยม (Pluralism) มากขึ้น คือบริษัทก็จะย้ายไปลงทุนในประเทศอื่นๆ ได้อย่างหลากหลายตามความสะดวก โดยมีแกนการผลิตดั้งเดิมอยู่ที่จีน

ที่มา – Quartz (1) (2) (3), CIPS, IISS, Harvard University, NBER, BCG

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน