จีนจะครองโลกด้วยรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูก

สำหรับใครที่คิดว่าประเทศจีนกำลังจะมายึดครองไทยในเร็วๆ นี้ ขอบอกเลยว่าคุณคิดผิด เพราะจริงๆ แล้วจีนหวังจะครองทั้งโลกเลยเสียมากกว่า

รถยนต์ไฟฟ้า

นี่คือข้อเสนอหลักของบทความที่มีชื่อว่า China’s plan to sell cheap EVs to the rest of the world ในหนังสือพิมพ์ Financial Times

บทความนี้เสนอว่า อาวุธลับของจีนก็ไม่ใช่สิ่งของอันตรายที่ไหน แต่คือรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่ทางจีนจะนำมันมาเป็นสินค้าในการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ และหวังจะเป็นผู้นำตลาดโลกด้วยการผลิตยานพาหนะ

เมื่อไม่นานมานี้ BYD กลุ่มบริษัทจากเมืองเสินเจิ้น ตัดสินใจเลือกบราซิลเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ที่แรกนอกจากทวีปเอเชีย และเข้ามาเทคโอเวอร์โรงงานเก่าของ Ford ในรัฐบาเยีย แสดงถึงสัญญาณการเติบโตของจีนและความเสื่อมถอยของตะวันตก

ในการลงทุนครั้งนี้ BYD วางแผนจะใช้เงินไปกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (36.84 ล้านล้านบาท) โดยจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รถไฮบริด รถบัส รถบรรทุก และแบตเตอรี 

จีนแซงหน้าประเทศอื่นๆ ในการขายรถยนต์ไฟฟ้า

The International Energy Agency คาดการณ์ยอดขายรถ EV ในปี 2024 ของแต่ละพื้นที่ไว้ดังนี้

  • จีน – 10.1 ล้านคัน
  • ยุโรป – 3.4 ล้านคัน
  • สหรัฐอเมริกา – 1.7 ล้านคัน
  • พื้นที่อื่นๆ – น้อยกว่า 1.5 ล้านคัน

นอกจากนี้ ทางหน่วยงานได้เผยว่า จำนวน EV ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าในปี 2030 และมีความเป็นไปได้สูงว่าจำนวนที่เพิ่มมามหาศาลนี้จะมาจากตลาดใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครบุกเบิก

ยิ่งผลักไส ยิ่งกีดกัน ยิ่งเติบโต

Joe Biden-Xi Jinping

เมื่อเดือนที่แล้ว Joe Biden ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ออกโรงต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินจากจีน ด้วยการเพิ่มภาษีการนำเข้าเทคโนโลยีสะอาด โดยกำหนดอัตราสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าถึง 100% เลยทีเดียว

Biden มองว่า “นี่ไม่ใช่การแข่งขัน แต่มันคือการโกง และเราก็ได้รับความเสียหายมากพอแล้ว”

มาตรการนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มคะแนนเสียงของเขา ยังถือเป็นการตัดโอกาสไม่ให้จีนมาบุกเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่างสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ทาง EU เองก็ได้ตั้งการสอบสวนกับรถ EV ของจีนในเรื่องการต่อต้านเงินอุดหนุน และผลจะออกมาภายในสัปดาห์นี้ โดยฝั่งเบลเยี่ยมก็ได้พยายามปกป้องแหล่งผลิตยานยนต์ในยุโรป ด้วยการขัดขวางการนำเข้ารถไฟฟ้าราคาถูกจากจีน

ถึงจะโดนยุโรปและอเมริกากีดกันแค่ไหน แต่ผู้เชี่ยวชาญก็มองว่า มาตรการเหล่านี้จะยิ่งเป็นการผลักดันให้จีนรุกตลาดประเทศอื่นๆ หนักขึ้นไปอีก และท้ายสุดจีนก็จะได้ครองกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) ทุกแห่ง รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละตินอเมริกา และ ตะวันออกกลาง

Bill Russo อดีตประธาน Chrysler in Asia และผู้ก่อตั้ง Automobility บริษัทให้คำปรึกษาในเซี่ยงไฮ้ อธิบายว่า “เหมือนประเทศเหล่านั้น มัวแต่ไปโฟกัสว่าเราควรเพิ่มภาษีเพื่อที่จะชะลอการเติบโตของจีน โดยที่ไม่ได้ดูเลยว่าวิธีนี้มันป้องกันได้แค่ในบ้านตัวเอง และประเทศอื่นๆ ก็ยังว่างให้จีนเข้าหาอยู่”

การลงทุนจากจีนคือโอกาสดีสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

EV China

อ้างอิงจาก Ilaria Mazzocco เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสประจำ Center for Strategic and International Studies “ทางฝั่งตะวันตกต้องเข้าใจด้วยว่า เป้าหมายในการครองตลาดโลกของจีน จะสร้างโอกาสให้กับประเทศอื่นๆ ในการขยายรากฐานอุตสาหกรรม และยังทำให้พวกเขาได้รับเทคโนโลยีทันสมัยจากต่างชาติอีกด้วย”

Mazzocco เสริมว่าการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดของจีนทำให้นโยบายต่างๆ ของทางตะวันตกแปรปรวน โดยที่รัฐบาลทางนั้นเองก็ได้เคยโดนเตือนแล้วว่าอาจจะต้องพึ่งพา Xi Jinping ประธานาธิบดีจีน ผ่านโครงการ Belt and Road ของเขา

ในมุมมองของ Mazzocco เธอเห็นว่า “มันเป็นไปได้ยากที่จะบอกประเทศกำลังพัฒนาให้ไม่รับการลงทุนจากจีน แม้โครงการของ Xi Jinping อาจสร้างหนี้ที่ไม่ยั่งยืนเท่าไหร่ แต่ถ้าทางจีนมาเปิดโรงงานที่จ้างคนท้องถิ่นด้วย ทำไมผู้นำประเทศจะต้องปฏิเสธโอกาสนี้”

จีนบุกตลาดอินโดนีเซีย

เวลาที่จีนจะลงทุนอะไร พวกเขาก็จะลงทุนให้มันครบวงจรไปเลย เช่น หากจะเสียเงินให้กับตลาดรถยนต์ นอกจากจะต้องผลิตยานพาหนะได้แล้ว ก็ต้องลงทุนในวัสดุไปด้วย แล้วจะมีที่ไหนเหมาะสมกับการลงทุนไปกว่าอินโดนีเซีย ประเทศที่เต็มไปด้วยนิกเกิล องค์ประกอบสำคัญของแบตเตอรีรถ EV

เมื่อปีที่แล้ว บริษัทจากจีนและฮ่องกงได้ลงทุนในอินโดนีเซียไปกว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 5 แสนล้านบาท โดยเจาะจงไปที่อุตสาหกรรมเหล็กและเหมืองแร่ 

ในปัจจุบัน บริษัทจีนครองส่วนแบ่งธุรกิจหลอมนิกเกิลในอินโดนีเซียเกิน 90% แล้ว และธนาคารจีนก็ให้เงินสนับสนุนแก่โรงงานนิกเกิลเช่นกัน 

Alexander Barus CEO ของ Indonesia Morowali Industrial Park แหล่งจัดการนิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ (สร้างโดยจีน) เผยว่า “ในช่วงแรกของการลงทุน เราไปขอความช่วยเหลือจากหลายธนาคารในอินโดนีเซีย แต่ไม่มีใครยื่นมือมาให้เลย แต่พอเราไปหาธนาคารจีน เขาพร้อมที่จะช่วยเรามาก”

ที่สำคัญคือ อินโดนีเซียเคยทาบทาม Tesla มาบุกเบิกตลาด EV ในประเทศแล้ว แต่บริษัทจีนดันกลายเป็นเจ้าแรกในการก่อตั้งโรงงานแทน และเมื่อต้นปีนี้ BYD ก็ได้เผยว่ากำลังจะนำเงิน 1.3 พันล้านดอลลาร์ (4.7 หมื่นล้านบาท) มาลงทุนในอินโดนีเซียอีกด้วย

ตลาดบราซิลก็ไม่อาจหลุดรอดสายตาจีนได้

ภาพจาก Shutterstock

Great Wall Motor บริษัทยานยนต์สัญชาติจีนได้ลงทุนเงินไปราวๆ 1.9 พันล้านเหรียญ (เกือบ 7 หมื่นล้านบาท) และจะเริ่มการผลิตที่โรงงานเก่าของ Mercendes-Benz ในปีนี้ที่รัฐเซาเปาโล

ส่วนทาง BYD ก็กำลังอยู่ในช่วงขุดหาแร่ลิเทียมเพื่อนำมาสังเคราะห์เป็นองค์ประกอบแบตเตอรีของรถ EV

แม้บราซิลจะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตรถยนต์เป็นอันดับ 6 ของโลก แต่ดูเหมือนว่ามันยังรับมือเรื่องการมาของรถยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ดีเท่าไหร่นัก สาเหตุส่วนหนึ่งก็อาจมาจากการที่คนในประเทศใช้ยานพาหนะที่สกัดเอทานอลมาจากอ้อย 

อย่างไรก็ตาม ยอดขาย EV ในบราซิลปีที่แล้วก็พุ่งขึ้นถึงสองเท่า ทั้งยังแซงหน้าเบลเยียม จนกลายเป็นปลายทางในการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่ใหญ่ที่สุด

ทางการบราซิลเองก็ได้เพิ่มภาษีการนำเข้า EV และ ไฮบริด และคาดว่าอัตราจะพุ่งขึ้นสูงถึง 35% ภายในปี 2026 เพื่อเป็นการสนับสนุนธุรกิจภายในประเทศ

นอกจากนี้ อีกหนึ่งกลยุทธ์การซื้อใจของจีนคือการให้ BYD ไปเป็นสปอนเซอร์งาน Copa America การแข่งขันฟุตบอลในแถบอเมริกาใต้ ดังนั้น ด้วยเทคนิคนี้ประกอบกับราคารถที่ถูกแสนถูกจากจีน ชาวบราซิลก็เริ่มเปิดใจยอมรับรถ EV

จีนแฮปปี้ ญี่ปุ่นสั่นกลัว

Japan

เมื่อจีนเริ่มขยายธุรกิจยานยนต์ขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะไม่เหลือส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับประเทศอื่น ญี่ปุ่นก็เริ่มกังวลแล้วว่าตนจะสูญเสียอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือเปล่า 

เจ้าหน้าที่รัฐอาวุโสจากญี่ปุ่นเผยความในใจว่า “จีนต้องสามารถปิดดีลกับทาง SEA ได้แน่ๆ และนั่นเป็นความเสี่ยงที่เรากลัวที่สุด”

Jens Eskelund ประธาน European Union Chamber of Commerce ในประเทศจีน อธิบายว่า การที่จีนพยายามผลักดันการผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ส่งผลให้บริษัทมากมายจากจีนกลายเป็นคู่แข่งของยุโรปในหลายๆ ด้าน รวมถึง ด้านยานยนต์

เม็กซิโก ประเทศเพื่อนบ้านของสหรัฐฯ จะยอมให้จีนเข้ามาขายรถหรือไม่?

ไม่ว่าจะกี่ปี สหรัฐอเมริกายังคงพยายามกีดกันการค้าจากจีนอยู่เรื่อยมา และการที่จีนไปบุกตลาดประเทศอื่นๆ ก็ส่งผลให้ประเทศเหล่านั้นเริ่มกลัวว่าตนจะโดนร่างแหเรื่องความสัมพันธ์กับอเมริกาไปด้วย

หนึ่งในประเทศที่น่าจับตามองคือ เม็กซิโก เพราะทาง BYD เองก็เคยเอ่ยปากว่าอยากขยายโรงงานมาที่นี่ แต่ทุกคนก็ทราบกันดีว่าเม็กซิโก แคนาดา และ สหรัฐฯ มี USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement) สนธิสัญญาการค้าเสรีร่วมกันอยู่ ฉะนั้นแล้ว เม็กซิโกก็คงไม่ยอมให้จีนมาลุยตลาดในประเทศตนเองหรือเปล่า?

ด้านรัฐบาลเม็กซิโกยังคงยืนยันว่าพวกเขาต้องการรักษาความสัมพันธ์กับอเมริกา ถึงขั้นยอมเซ็นข้อตกลงในการตรวจสอบความมั่นคงของชาติก่อนที่ธุรกิจไหนๆ จะมาลงทุน

Andrés Manuel López Obrador อดีตประธานาธิบดีเม็กซิโกได้จัดให้ลิเทียมเป็นแร่สำคัญของชาติ และยกเลิกสัมปทานที่ถือโดยบริษัทจีนอย่าง Ganfeng ในการบริหารจัดการเหมืองทางฝั่งภาคเหนือทั้งหมด

แม้ Claudia Sheinbaum ประธานาธิบดีคนล่าสุดจะขึ้นชื่อในเรื่องของการนำเข้าสินค้าจีนขนาดไหน เธอก็ยืนยันเช่นกันว่าจะยึด USMCA เป็นหลัก

ในทางกลับกัน ดูเหมือนผู้บริโภคในเม็กซิโกจะเห็นต่างจากผู้นำทั้งหลาย เพราะมีรายงานว่าคนที่นี่ชื่นชอบรถยนต์จากจีนเป็นอย่างมาก โดยในปี 2023 20% ของรถที่ถูกขาย แม้จะไม่ใช่แบรนด์จีนแท้ทั้งหมด แต่ก็ถูกผลิตที่จีน

Guillermo Rosales หัวหน้าสมาคมผู้จัดจำหน่ายรถยนต์แห่งเม็กซิโก AMDA เผยว่า “ตั้งแต่รถยนต์จีนเข้ามาในประเทศ ผู้บริโภคก็มีตัวเลือกมากขึ้นและมองว่าข้อกังวลของอเมริกาไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนเม็กซิโกอย่างพวกเขาต้องสนใจ” 

การเข้ามาของจีนคือภัยระดับชาติของออสเตรเลีย

ด้วยความที่ระบบของรถยนต์ประเภทนี้มีการเก็บข้อมูลคนขับและสภาพแวดล้อม ทางการออสเตรเลีย รวมถึง ผู้ใช้งานอีกหลายๆ คน จึงเริ่มไม่สบายใจและตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของพวกตน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ออสเตรเลียแสดงออกชัดเจนว่าไม่ไว้ใจจีน เพราะในปี 2018 พวกเขาก็เป็นประเทศแรกที่แบนการใช้งานมือถือแบรนด์จีน เช่น Huawei หรือ ZTE โดยมองว่าสินค้าเหล่านี้อาจเป็นภัยต่อโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ดังนั้นควรตัดไฟแต่ต้นลมเสีย เพื่อความมั่นคงของชาติ 

James Paterson วุฒิสมาชิกฝ่ายค้านมองลึกไปไกลกว่านี้อีก เขาเล็งเห็นว่า ความเสี่ยงนี้ไม่ได้จะกระทบแค่คนขับเท่านั้น แต่รวมถึงชุมชนที่อาศัยอยู่ด้วย

ดังนั้น Paterson จึงต้องการให้รัฐบาลตรวจสอบผลกระทบจากรถ EV จีน ด้วยความคิดที่ว่า “พวกรถยนต์ไฟฟ้าที่กลายเป็นอาวุธได้เนี่ย เราเห็นกันมานักต่อนักแล้วในภาพยนตร์”

Paterson ยังเสริมอีกว่า “ถ้าเราไม่ได้ต้องการให้จีนมาดูแลเรื่องโทรคมนาคมของเราแต่แรก แล้วเรื่องอะไรเราจะยอมให้จีนมาดูแลเครือข่ายการขนส่งด้วย”

สุดท้ายนี้ เราก็ต้องจับตาดูกันไปว่าจีนจะสามารถบุกตลาดประเทศอะไรได้ จะครองตำแหน่งแชมป์ในประเทศไหน และจะไปกระทบกับผู้ประกอบการ ผู้ผลิตยานยนต์ท้องถิ่น รัฐบาล และความมั่นคงของประเทศใดบ้าง ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อ

แหล่งที่มา: Financial Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา