ความขัดแย้งไม่ใช่ทางเลือก จีนหวังใช้แผนปรองดองสหรัฐฯ ถ้าอีกฝ่ายยินดี

ความแข็งกร้าวของจีนและจุดยืนที่ชัดเจน อาจทำให้ผู้คนไม่คิดว่าจะมีวันที่จีนอยากใช้แผนปรองดองเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ แต่ Wang Yi รัฐมนตรีต่างประเทศจีนก็ทำให้ภาพของจีนเปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อย

จีนพร้อมสานสัมพันธ์สหรัฐฯ: บรรเทาความร้อนแรงความขัดแย้งทั้งสองฝ่าย

ล่าสุด Wang Yi เรียกร้องให้ใช้แผนปรองดองสานสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาใหม่ หลังเผชิญหน้ากันหลากหลายมิติยาวนาน และทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงมากที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษ ซึ่งความต้องการปรองดองนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุปัจจัยสำคัญสองประการคือ มีความขัดแย้งร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นจะตัดขาดออกจากกัน (decoupling) และมีการเยือนระหว่างกันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่าย

ผู้แทนระดับสูงจากทั้งสองฝ่ายหนึ่งคือ Yang Jeichi ตัวแทนจีน จากคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศ และ Mike Pompeo รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอมเริกา ทั้งสองฝ่ายหารือกันหลังความสัมพันธ์กำลังพัฒนาเป็นสงครามเย็นรอบใหม่

การพบปะกันครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ฮาวายนี้ ก็เพื่อหาทางเจรจากันอย่างสร้างสรรค์ และหาทางทำให้ความร้อนระอุในความสัมพันธ์บรรเทาลง ซึ่งจีนมีความสับสนต่อท่าทีของสหรัฐฯ ทั้งกรณีฮ่องกง ซินเจียง ไต้หวัน จนต้องย้ำให้สหรัฐฯ ยึดมั่นนโยบายจีนเดียวและเคารพอำนาจอธิปไตยจีน เป็นต้น

Yang Jeichi ตัวแทนจีน จากคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศ และ Mike Pompeo รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอมเริกา ภาพจาก U.S. Department of State

Wang กลายเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลจีนที่มีท่าทีแง่บวกต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย โดยเน้นย้ำว่า จีนไม่ได้ต้องการแทนที่สหรัฐอเมริกาในการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจโลก นอกจากนี้ Wang ยังกล่าวว่าสิ่งที่ปลุกความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ คือ การเผชิญหน้ากับความท้าทายตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างันตั้งแต่ปี 1979

จีนพร้อมกระชับมิตรสหรัฐฯ ได้ ถ้าไม่คิดเปลี่ยนจุดยืนจีน?

Wang ย้ำว่านโยบายของจีนที่มีต่อสหรัฐฯ ไม่เปลี่ยนแปลงและเรายังต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างจริงใจ ทั้งสองประเทศต้องพยายาหารือเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ จีนพร้อมแล้วที่จะรื้อฟื้นการเจรจาสองฝ่ายที่เคยถูกระงับไว้เดิม ตราบเท่าที่สหรัฐฯ ก็ยินดีจะเจรจาเหมือนกัน

จากนั้น Wang ก็เสนอ 3 เรื่องที่สถาบัน think tank นำเสนอและน่าจะนำมาปรับใช้ได้ ก็คือ อันดับแรก ทั้งสองฝ่ายต้องหารือภายใต้กรอบทวิภาคีในประเด็นที่สามารถทำงานร่วมกันได้ อันดับต่อมาคือ รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ที่สร้างความขัดแย้งควรหาทางแก้ไขผ่านการเจรจา หารือร่วมกัน และอันดับที่สามคือ ถ้าประเด็นปัญหาที่หารือระหว่างกันมันไม่สามารถแก้ไขได้ ก็ควรจะจัดการให้มีความขัดแย้งระหว่างกันให้น้อยที่สุด หรือสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายน้อยที่สุด

ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนฐานของการสงวนไว้ซึ่งความแตกต่างระหว่างกัน (กล่าวคือ อะไรที่แตกต่างกันเกินไป เช่น ฐานคิด ระบอบการปกครองที่แตกต่างกันเกินไป สงวนไว้ ไม่ต้องก้าวล้ำจุดยืนของกันและกัน หมายความว่า เป็นเพื่อนกันได้ แต่ไม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงกัน เคารพซึ่งกันและกัน)

WASHINGTON, DC – MAY 23: U.S. Secretary of State Mike Pompeo (R) and Chinese Foreign Minister Wang Yi hold a brief news conference in the Benjamin Franklin Room at the State Department’s Harry S. Truman headquarters building May 23, 2018 in Washington, DC. Pompeo is also meeting with German Foreign Minister Heiko Maas and Japanese Foreign Minister Taro Kono later in the day. (Photo by Chip Somodevilla/Getty Images)

ทั้งสองฝ่ายควรร่วมมือกันควบคุมโรคระบาด จีนยินดีจะแบ่งปันประสบการณ์จัดการโควิด-19 และประสบการณ์ในการพัฒนาวัคซีนกับสหรัฐอเมริกา

การเผชิญหน้ากันทางทหารก็เกิดขึ้นด้วย สหรัฐฯ ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำคือ USS Ronald Reagan และ USS Nimitz เข้าร่วมซ้อมรบในน่านน้ำทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศบริเวณดังกล่าว ในแง่หนึ่งเป็นการประกาศศักดาของสหรัฐฯ​ เป็นการแสดงความเป็นพันธมิตรกับประเทศที่เหลือพร้อมดูแลได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นว่าไม่เป็นมิตรกับจีนชัดเจน ซึ่งก่อนหน้านั้นในเดือนมีนาคม Xi Jinping และ Donald Trump เคยพูดคุยกันทางโทรศัพท์และเห็นว่า ความร่วมมือเท่านั้นที่จะเป็นทางออกเดียวของความขัดแย้งที่เป็นปัญหาระหว่างกันอยู่

ปัญหารุมเร้าทั้งภายใน-ภายนอกประเทศ: ควรแก้ปัญหาภายในก่อน?

การแสดงจุดยืนของรัฐมนตรีต่างประเทศล่าสุดของจีน อย่างน้อยก็เป็นการแสดงให้โลกเห็นว่าจีนพร้อมเป็นมิตร หลังสหรัฐฯ เริ่มโจมตีจีนหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งฝ่ายความมั่นคงที่เริ่มดาหน้าออกมาป้องปรามจีนด้วยการประกาศตำหนิชัดเจนทั้ง การแบนแอปพลิเคชัน การจำกัดวีซ่า การห้ามนักศึกษาที่คาดว่าจะเป็นสายลับเข้าประเทศ ไปจนถึงการไม่ยอมเจรจาการค้าต่อ

BEIJING, CHINA – NOVEMBER 9: Chinese President Xi Jinping and U.S. President Donald Trump attend a welcoming ceremony November 9, 2017 in Beijing, China. Trump is on a 10-day trip to Asia. (Photo by Thomas Peter-Pool/Getty Images)

จีนเปิดหน้าพร้อมขอคืนดีชัดเจนขนาดนี้ ทั้งที่ตัวเองก็มีเรื่องรุมเร้าเพราะขัดแย้งหลายประเทศ หลายมิติรอบด้าน อีกทั้งสหรัฐฯ ก็รุกจีนหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ด้านสหรัฐฯ เองก็มีทั้งโรคระบาด คนตกงานมหาศาล ขณะเดียวกันประเด็นเหยียดสีผิว การต้านการเหยียดก็ยังรุมเร้าไม่รู้จบ ไหนะต้องแสดงจุดยืนร่วมกับประเทศต่างๆ ตามอุดมการณ์ที่ตัวเองยึดมั่น แถมยังต้องแสดงความเป็นผู้นำโลกในการช่วยดูแลประเทศอื่นๆ ที่เป็นทั้งชาติพันธมิตรและทั้งที่มีขนาดเล็กกว่า อำนาจในการต่อรองด้อยกว่า ไปจนถึงการพยายามรักษาฐานเสียงเพื่อให้ชนะเลือกตั้งครั้งถัดไปอีก

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ อาจเรียกได้ว่า ทั้งสองฝ่ายต่างมีเรื่องยุ่งเหยิงทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศไม่น้อยไปกว่ากัน การสานสัมพันธ์ให้ดีขึ้นก็อาจจะช่วยบรรเทาปัญหาใหญ่ระหว่างกันไปได้บ้าง แต่ก็เป็นการบาลานซ์ประเทศตัวเองกับจุดยืนตัวเองและสานประโยชน์ทั้งภายในและภายนอกประเทศได้ซับซ้อนไม่แพ้กัน

ที่มา – South China Morning Post (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา