จีนคือมหาอำนาจใหม่ของโลกไอที ที่จะมาแทน Silicon Valley?

ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดงาน SCB Faster Future Fintech Forum สรุปภาพรวมโลกธุรกิจหลังการเข้ามาของเทคโนโลยีสารสนเทศ หัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือ China is the New Silicon Vallery อนาคตของประเทศจีนในฐานะฮับทางเทคโนโลยีที่ใหญ่กว่าซิลิคอนวัลเลย์

งานนี้ SCB เชิญวิทยากรจากต่างประเทศที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจไฮเทคในประเทศจีนมา 3 ท่าน ได้แก่

  • Wei Hopeman กรรมการผู้จัดการกองทุน Arbor Ventures กองทุนด้านฟินเทคที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
  • Oscar Ramos ผู้อำนวยการโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพ Chinaccelerator ถือเป็นโครงการ accelerator รายแรกของจีนที่ก่อตั้งในปี 2010
  • Grace Yun Xia ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและการลงทุนของ Tencent

ดำเนินการเสวนาโดย พลภัทร อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการ หน่วยงานทุนองค์กรของ Digital Ventures ในเครือ SCB

ความแตกต่างทางวัฒนธรรมสำคัญมาก ทั้งบริษัทจีนออกสู่โลก และโลกเข้าสู่จีน

Wei Hopeman จาก Arbor Ventures มองว่าจีนเป็นโลกคู่ขนานของซิลิคอนวัลเลย์ และในอนาคตน่าจะแซงหน้าได้ แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรม venture capital (VC) ของจีนยังมีอายุเพียง 15 ปี ยังไม่แกร่งกล้าเท่ากับในโลกตะวันตก ช่องว่างทางนวัตกรรมนี้สามารถใช้เงินเพื่ออุดได้ และโชคดีว่าจีนมีเงินลงทุนมหาศาลจากบรรดา VC เข้ามาสนับสนุน

Wei มองว่าอุตสาหกรรมไอทีจีน โชคดีที่ได้คนจีนที่ย้ายกลับมาจากสหรัฐในช่วงฟองสบู่ดอทคอมบูมปี 2001 ซึ่งตัวเธอเองก็เป็นหนึ่งในนั้น บวกกับการผ่อนคลายการกำกับดูแลของรัฐบาลจีนในหลายๆ เรื่อง เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจจีนได้ลองผิดลองถูกกันมาก ตัวอย่างคือ ทางการจีนเพิ่งเริ่มกำกับดูแลฟินเทคเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งบริษัทอย่าง Alipay กวาดฐานผู้ใช้ไปยากแล้ว

ส่วนประเด็นว่าธุรกิจจีนจะออกไปนอกจีนได้มากน้อยแค่ไหน เธอมองว่าบริษัทฝรั่งจากโลกตะวันตกเข้ามาบุกจีนยาก เพราะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมสูง ซึ่งบริษัทจีนที่จะออกต่างประเทศก็ต้องเจอปัญหาเดียวกัน แต่ถ้าพยายามก็จะพอปิดช่องโหว่ได้ เช่น มีซีอีโอของบริษัทจีนบางราย ย้ายไปอยู่ที่อินโดนีเซียอยู่ช่วงหนึ่งเพื่อให้เข้าใจตลาดท้องถิ่น หรืออย่างกรณี Alibaba ซื้อ Lazada ส่วนหนึ่งก็เป็นการใช้เงินลงทุนเพื่อให้เข้าใจตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในทางกลับกัน สำหรับบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะไปลงทุนในจีน เธอบอกว่าจะต้องเจอกับกำแพงภาษา วัฒนธรรม กฎหมาย และประเด็นเรื่องละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งสำคัญคือต้องมีพาร์ทเนอร์เป็นคนท้องถิ่นที่เข้าใจตลาดจีน ถ้าเลือกพาร์ทเนอร์ได้เหมาะสมก็จะไปได้ไกล

ในฐานะนักลงทุนในสตาร์ตอัพระดับเริ่มต้น (early investor) เธอบอกว่าความอดทนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะนักลงทุนต้องอยู่กับสตาร์ตอัพรายนั้นนานกว่า 5 ปีแน่นอน ซึ่งนานกว่าค่าเฉลี่ยของการแต่งงานในสหรัฐด้วยซ้ำ ดังนั้นต้องเลือกลงทุนในสิ่งที่เหมาะสมจริงๆ ไม่หวั่นไหวตามกระแสในแต่ละปี

ส่วนประเด็นที่เธอมองว่ายังมีปัญหาในโลกของสตาร์ตอัพคือการกำกับดูแลตามไม่ทันโลกไร้พรมแดน (cross border) อย่างเธอที่อาศัยอยู่ทั้งในสหรัฐและในจีน การจะรูดบัตรเครดิตสหรัฐในจีนแล้วให้ส่งสินค้าไปยังสหรัฐ อาจรูดไม่ผ่านเพราะธนาคารมองว่าเป็นธุรกรรมปลอม (fraud) คำถามคือเมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมไปแล้ว ภาคธุรกิจและรัฐบาลเองจะตามผู้บริโภคทันได้อย่างไร

จีนยังด้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลกตะวันตก แต่บางด้านกลับก้าวหน้ากว่ามาก

Oscar Ramos ผู้อำนวยการ Chinaccelerator ในฐานะคนยุโรปที่ไปทำงานในจีน สะท้อนมุมมองว่าจีนยังไม่เก่งในแง่นวัตกรรมค่าเฉลี่ย พื้นฐานบางอย่างยังอ่อนกว่าระดับนานาชาติ เช่น VR/AR/AI แต่นวัตกรรมในบางหมวดกลับไปไกลมาก เช่น เรื่อง mobile payment ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง รับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ง่ายกว่า

ในฐานะโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพในจีน เขามีมุมมองว่าทีมสตาร์ตอัพควรผสมผสาน ระหว่างคนที่มีความรู้ทางเทคนิคสูง ซึ่งอาจเป็นชาวต่างชาติ แต่ก็ต้องมีคนท้องถิ่นที่เข้าใจบริบทของท้องถิ่นอยู่ในทีมด้วย ซึ่งโครงการบ่มเพาะบางแห่งในจีน ถึงกับกำหนดว่าต้องมีคนจีนอยู่ในทีมเลยด้วยซ้ำ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือความแตกต่างหลากหลาย (diversity) ของคนในทีม น่าสนใจว่าสตาร์ตอัพในจีนมีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นผู้หญิงอยู่เยอะ ตรงนี้ Ramos เล่าว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ (organic) แต่ก็มีข้อดีว่า ผู้ก่อตั้งเพศหญิงมักทำงานเป็นทีมเวิร์คได้ดีกว่าเพศชาย

เขาแนะนำหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมสตาร์ตอัพว่า ข้อแรกต้องห้ามลงโทษหรือสร้างอุปสรรคให้สตาร์ตอัพ ที่มีความเสี่ยงจะไม่ประสบความสำเร็จสูงอยู่แล้ว ถ้าซ้ำเติมกันก็จะยิ่งไปใหญ่ ส่วนข้อที่สองควรเปิดใจ ร่วมกันทำงานกับ ecosystem ที่มีอยู่แล้วในตลาด แทนที่จะคิดสร้าง ecosystem ขึ้นมาเอง

การแข่งขันในจีนดุเดือดมาก ผู้อยู่รอดต้องแข็งแกร่งสุดๆ

Grace Yun Xia จาก Tencent ในฐานะบริษัทไอทีจีนยักษ์ใหญ่ 1 ใน 3 ราย (อีกสองรายคือ Alibaba และ Baidu) มองว่าการที่พื้นที่ใดๆ ในโลกจะประสบความสำเร็จในฐานะฮับทางเทคโนโลยีได้ ต้องมีปัจจัย 3 ข้อ ได้แก่ ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งในซิลิคอนวัลเลย์มีมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกหลายแห่ง, การเข้าถึงแหล่งทุน (access to capital) และโอกาสทางธุรกิจหรือขนาดของตลาด (market opportunity) ซึ่งปัจจัยหลังสุดนี่ต้องถือว่าจีนมีเยอะกว่าโลกตะวันตกด้วยซ้ำ

การแข่งขันในตลาดจีนมีสุงมาก อย่างปีที่แล้ว livestream กำลังฮิตในจีน ก็มีบริษัทแห่กันมาทำธุรกิจนี้เป็นร้อยบริษัท แน่นอนว่าเหลือรอดไม่กี่ราย แต่รายที่อยู่รอดได้จะต้องแข็งแกร่งมาก

จุดเด่นอีกข้อของจีนคือมีบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสามราย บริษัทเหล่านี้จะเข้าไปลงทุน จับมือเป็นพันธมิตร หรือไล่ซื้อสตาร์ตอัพรายเล็กเพื่อสร้าง ecosystem ดังนั้นสตาร์ตอัพในจีนต้องเริ่มคิดตั้งแต่วันแรกว่าจะมีความสัมพันธ์กับยักษ์ใหญ่อย่างไร สตาร์ตอัพบางรายอาศัยอยู่บนแพลตฟอร์ม WeChat แต่ในอีกทางก็ต้องแข่งขันกับบริการย่อยบางตัวของ WeChat

Grace ยังเล่าถึงวัฒนธรรมองค์กรของ Tencent ว่ากระตุ้นให้พนักงานปรับปรุงผลิตภัณฑ์ตลอดเวลา ในบริษัทมีสโลแกนว่า 10/100/1000 ซึ่งแปลว่าผู้จัดการผลิตภัณฑ์ใดๆ ต้องออกไปเซอร์เวย์ความคิดเห็น 10 ครั้ง อ่านบล็อกที่พูดถึงผลิตภัณฑ์ของเรา 100 บล็อก และรวบรวมความเห็นให้ได้ 1,000 ความเห็นอยู่เสมอ

การเกิดขึ้นของ WeChat เองยังเกิดจากการแข่งขันภายในองค์กร เพราะ Tencent เคยมีแอพแชทชื่อ QQ อยู่แล้ว แต่เมื่อบริษัทมองเห็นอนาคตของโลก mobile ก็กระตุ้นให้พนักงานทีมอื่นๆ สร้าง WeChat ขึ้นมาแข่ง ซึ่งก็มีคนส่งเข้ามากันหลายทีม แต่สุดท้ายก็มีทีมที่ผลงานดีที่สุด ได้เป็นผู้สร้าง WeChat นั่นเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา