หลังโควิด-19 ระบาดอย่างหนักหน่วงทั่วโลก ทางออกของปัญหาที่โลกเริ่มมองเห็นคือวัคซีนต้านโควิด การกระชับมิตรระหว่างประเทศก็คือการหาทางช่วยเหลือพันธมิตรเพื่อให้ฝ่าฟันโรคระบาดไปได้ ไม่ว่าจะเป็นให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ ให้อุปกรณ์การแพทย์ ไปจนถึงส่งมอบวัคซีนต้านโควิดจนเรียกขานติดปากกันว่าการทูตวัคซีน (Vaccine Diplomacy)
ผลสำรวจจากศูนย์ศึกษาอาเซียน สถาบัน ISEAS-Yusof Ishak สิงคโปร์ พบว่า จีนพยายามอย่างหนักที่จะชนะใจพันธมิตรที่เป็นภาคีอาเซียนในช่วงโควิดระบาดด้วยการใช้การทูตวัคซีน แต่ผลที่ได้กลับล้มเหลว แบบสำรวจนี้ศึกษาจากผู้คนราว 1,032 คนที่มาจากหลากหลายวงการ มีทั้งที่เป็นวงวิชาการ เจ้าหน้าที่รัฐ ไปจนถึงคนในแวดวงธุรกิจในอาเซียน ผลสำรวจนี้ทำขึ้นช่วง 18 พฤศจิกายน 2020 ถึง 10 มกราคม 2021
ผลการสำรวจพบว่า จีนให้ความช่วยเหลือภูมิภาคนี้อยู่ที่ 44.2% ญี่ปุ่น 18.2% สหภาพยุโรป 10.3% และสหรัฐฯ อยู่ที่ 9.6% เรื่องการจัดซื้อวัคซีนนี้ ฟิลิปปินส์จัดซื้อวัคซีนจาก Sinovac ของจีนไป 25 ล้านโดส ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของวุฒิสมาชิกที่ให้ยกเลิกการซื้อวัคซีนจากจีน ดูเตอร์เต ผู้นำฟิลิปินส์ถึงกับออกมาปกป้องวัคซีนจากจีนด้วยซ้ำว่าดีพอๆ กับวัคซีนที่ผลิตโดยอเมริกาและยุโรป ขณะที่มาเลเซียเองก็ทำความตกลงซื้อวัคซีน Sinovac สำหรับต้านโควิดจากจีนเช่นกันในปริมาณ 23.9 ล้านโดสและยังมีบริษัทรายอื่นในจีนอีกด้วย คือ CanSino Biologics
อินโดนีเซียก็จัดซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 จากจีนมากถึง 110 ล้านโดส แบ่งเป็น Sinovac 50 ล้านโดสและ Sinopharm 60 ล้านโดส
ผลการสำรวจพบว่า แม้จีนพยายามจะส่งมอบวัคซีนให้นานาประเทศในกลุ่มอาเซียน แต่ก็มีราว 61.5% ที่เลือกสหรัฐฯ มากกว่าจะเลือกจีน ในกรณีที่หากต้องถูกบังคับให้เลือกอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกรณีที่เป็นศัตรูกัน มีฝ่ายที่สนับสนุนสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.9% เทียบจากผลสำรวจปีที่ผ่านมา รายงานระบุว่า ภูมิภาคนี้ให้การสนับสนุนสหรัฐฯ มากขึ้น เป็นไปได้ว่ามีการเปลี่ยนผู้นำประเทศจากทรัมป์เป็นไบเดน
ผลสำรวจระบุว่า จีนมีบทบาทนำและมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ 76.3% โดยกว่า 80% มองว่า จีนมีอิทธิพลอย่างมากในลาว ไทย สิงคโปร์ เมียนมาและกัมพูชา และเห็นว่าจีนก็สร้างกลุ่มความร่วมมือไม่ต่างจากที่สหรัฐฯ สหภาพยุโรป หรือญี่ปุ่นทำ
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสายตาที่มองว่าจีนมีอิทธิพลอย่างมากเหนือภูมิภาคนี้ แต่ก็มีราว 72.3% กังวลการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ มีมุมมองที่เห็นด้วยว่าจีนพยายามปรับอำนาจและพยายามเปลี่ยนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นพื้นที่อิทธิพลอยู่ที่ 46.3% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 38.2% ขณะที่ 31.5% มองว่า จีนพยายามจะโค่นบทบาทผู้นำภูมิภาคนี้จากสหรัฐฯ ไปอยู่ที่ 31.5% เป็นอัตราที่ลดลงจากเดิม 34.7% ในปี 2020
นอกจากนี้ มี 49.1% มองว่าจีนมีอิทธิพลทางการเมืองและมีอำนาจเชิงยุทธศาสตร์ในอาเซียน ขณะที่ 30.4% มองว่าสหรัฐมีอิทธิพลเหนือกว่า ขณะเดียวกันก็มีความกังวลอิทธิพลจีนมากถึง 88.6%
ในด้านความน่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจนั้น มีมุมมองเชื่อมั่นจีนเล็กน้อยหรือไม่มั่นใจในจีนว่าจีนจะทำสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับประชาคมโลกอยู่ที่ 63% เป็นอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 51.5% ในปี 2019 ขณะที่มุมมองที่มั่นใจหรือมั่นใจมากๆ ต่อเจตจำนงของจีนนี้ลดลงเป็น 16.5% จากเดิมอยู่ที่ 19.6% (เทียบกับ 2 ปีที่แล้ว)
ญี่ปุ่นคือประเทศที่น่าเชื่อใจที่สุดในภูมิภาคนี้ พวกเขาเชื่อว่าญี่ปุ่นมีการกระทำที่ดีต่อโลกอยู่ที่ 67.1% สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปก็มีความน่าเชื่อถือไว้วางใจมากขึ้นเมื่อเทียบปับปีก่อนหน้าอยู่ที่ 48.3% และ 51% ตามลำดับ ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปนี้ถูกคาดหวังว่าน่าจะมีการกระทำที่ดีต่อผลประโยชน์ของโลก
จีนเป็นประเทศมหาอำนาจเดียวที่ถูกมองเชิงลบมากขึ้นจาก 60.4% ในปี 2020 เป็น 63.0% ในปี 2021 จีนมีลักษณะที่ใช้อิทธิพลครอบงทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมืองต่อภูมิภาคนี้ หลายประเทศกังวลอิทธิพลจีนทั้งในด้านเศรษฐกิจและอำนาจทางทหารที่อาจนำไปสู่การคุกคามผลประโยชน์และอธิปไตยประเทศอื่นได้
- ผลสำรวจ Pew Research พบ กว่า 10 ประเทศทั่วโลกไม่ปลื้มจีนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์
- ผลสำรวจชี้ หลายประเทศในเอเชียกังวลจีนที่ขยายอิทธิพลด้านการทหารและเศรษฐกิจ
ที่มา – Nikkei Asia
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา