มองเกมราเมนพรีเมียม หลัง “ชาบูตง” เชื่อตลาดยังไปได้ แต่ถ้าจะยั่งยืนต้องปรับตามลูกค้าให้เป็น

ช่วงนี้เศรษฐกิจน่าจะยังไม่ฟื้นเต็มที่ และผู้บริโภคหลายคนก็คงต้องรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องธรรมดา แต่แล้วทำไมตลาดอาหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะราเมนจึงเติบโตได้ แถมร้านเหล่านี้ยังขายราคาต่อหัวค่อนข้างสูงอีกต่างหาก

ต้องเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าก่อน

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อพูดถึงร้านอาหารญี่ปุ่น หากจะไปรับประทานซักมื้อหนึ่ง คงต้องเตรียมเงินไปเยอะพอสมควร อาจต้องมีอย่างต่ำ 200-500 บาท/มื้อ ดังนั้นหากคิดจะทำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น กลุ่มเป้าหมายหลักก็คือคนที่เริ่มมีรายได้ หรือ First Jobber รวมถึงกลุ่มคนระดับกลางถึงบน เพราะพวกเขามีเงิน และการเข้าใจพวกเขาได้น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

พล ศรีแดง ผู้อำนวยการอาวุโสแบรนด์ ชาบูตง บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG เล่าให้ฟังว่า มูลค่าตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยตอนนี้อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท และยังเติบโตอย่างช้าๆ หรือ 3-5% อาจสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ และถ้าเจาะไปที่ตลาดราเมนมูลค่า 3,000 ล้านบาท ก็ยังเติบโตราว 5-10% เช่นกัน

พล ศรีแดง ผู้อำนวยการอาวุโสแบรนด์ ชาบูตง บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG

“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อาหารญี่ปุ่นก็ยังได้รับความนิยมในประเทศไทยอยู่ดี เพราะอาหารประเภทนี้มีอิทธิพลในไทยมาก ยิ่งคนไทยไปญี่ปุ่นง่ายเท่าไหร่ ความนิยมของอาหารญี่ปุ่นก็มากขึ้น และถึงราคาต่อมื้อจะสูงประมาณหนึ่ง แต่คนไทยก็ยังเลือกที่จะใช้จ่ายเพื่อลิ้มลองอาหารญี่ปุ่นซักครั้งเพื่อเป็นมื้อพิเศษในแต่ละเดือน”

ง่าย-อร่อย-คุ้มค่า อย่าใส่ใจเรื่องราคา

ที่สำคัญการทำตลาดร้านอาหารญ๊่ปุ่นตอนนี้ ไม่ควรไปใส่ใจเรื่องราคา เพราะผู้บริโภคกลุ่มที่ต้องการมารับประทานอาหารญี่ปุ่น ต้องการความสะดวก, อร่อย และคุ้มค่าต่อการจ่าย ถึงมีการทำตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นราคาถูก ก็อาจไม่ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่เป็น First Jobber และคนระดับกลางถึงบนที่มีกำลังซื้อ

วาฟุซุป ราเมน อีกเมนูซีซั่นนอลของชาบูตง // ภาพจากเฟสบุ๊ก Chabuton Thailand

อย่าง “ชาบูตง” เองก็ให้บริการในประเทศไทยมาเป็นเวลา 7 ปี และวางตำแหน่งเป็นร้านราเมนระดับพรีเมียม หรือราคาต่อชามเฉลี่ยอยู่ที่ 200 บาทขึ้นไป ซึ่งการวางราคาระดับนี้ก็ทำให้ทางร้านรักษาตำหน่งผู้นำในตลาดราเมนระดับพรีเมียมไว้ได้ พร้อมกับมีส่วนแบ่งในตลาดราเมน 10% หรือคิดเป็นมูลค่า 300 ล้านบาท

ขณะเดียวกันยังปรับตัวตามตลาดด้วยการทำเล่มเมนูใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคสะดวกในการสั่งอาหารมากขึ้น และมีวาไรตี้ในทางเลือกมากกว่าเดิม เพื่อชูจุดเด่นเรื่องความเป็นราเมนแชมป์เปี้ยนจากญี่ปุ่น รวมถึงการวางเมนูที่ใส่ท็อปปิ้งต่างๆ เข้าไป เช่นไข่ยางมะตูม ที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ในญี่ปุ่นให้นำมาใส่ในเมนูไทยอีกด้วย

วางแผนระยะยาวสร้างเติบโตยั่งยืน

ทั้งนี้บริษัทมีการวางแผนธุรกิจถึง 3-5 ปีเพื่อสร้างการเติบโตในธรกิจอย่างยั่งยืน เช่นการเปิดสาขาให้รบ 30 แห่งทั่วประเทศ จากสิ้นปีนี้มีทั้งหมด 17 สาขา พร้อมกับขยายช่องทางใหม่ๆ เช่นการซื้อกลับบ้าน รวมถึงการส่ง Delivery ซึ่งเพิ่งได้รับอนุญาตจากญี่ปุ่นเช่นกัน เพราะเป็นห่วงเรื่องรสชาติในการรับประทานนอกร้าน และคาดว่าช่องทางใหม่จะเป็น 5% ของรายได้รวมในปีนี้

“ในอดีตบริษัทแม่ไม่ยอมให้ขายกลับบ้าน แต่พอเราเจรจาได้ หลังจากนี้มันน่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เราได้เยอะเลยด้วย สำหรับยอดขายปี 2559 ประมาณ 250 ล้านบาท แต่ปีนี้มันอาจจะ 255 ล้านบาท ไม่เติบโตอย่างหรูหรา 5% น่าจะพอไหว แต่ถ้ารวมสาขาใหม่ด้วยน่าจะได้ 10% และทางชาบูตงจะมีซีซันนอลเมนูลอนซ์ 2-3 ครั้งเพื่อเพิ่มวาไรตี้”

สรุป

การเดินหน้าแผนของ “ชาบูตง” ครั้งนี้ ต้องใช้งบประมาณสาขาละ 7-10 ล้านบาท และใช้งบการตลาดราว 5-10 ล้านบาท/ปี แต่ด้วยตลาดนี้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาตลอด จึงเป็นอีกความท้าทายของการทำธุรกิจอาหารญี่ปุ่น ที่สำคัญเมื่อเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นมากนัก การควบคุมค่าใช้จ่ายก็จำเป็นด้วย

สำหรับกลุ่ม CRG มีแบรนด์ร้านอาหารมากมาย โดยร้านที่สร้างรายได้อันดับหนึ่งคือ KFC รองลงมาเป็น Mister Donut ส่วนชาบูตงนั้นอยู่ที่อันดับ 6 ของบริษัท

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา