ขนาดกองเซ็นเซอร์ยังแบ่งเป็นสอง แล้วนับประสาอะไรกับการจัดระเบียบ OTT ในประเทศไทยที่ไร้เหตุผล

ล่าสุดวันนี้มาตรฐานการเซ็นเซอร์ทางโทรทัศน์ก็แบ่งเป็น 2 แล้ว หลังจากช่อง 5 และช่อง 7 จัดตั้งมาตรฐานใหม่ขึ้นมา เรียกว่าว่าสร้างความปั่นป่วนกับอุตสาหกรรมโทรทัศน์พอสมควร ไม่ต่างอะไรกับการจัดระเบียบ OTT ที่อยู่ระหว่างวางแผน

ภาพ pixabay.com

แบ่งเซ็นเซอร์เป็น 2 มาตรฐานเพื่ออะไร?

ไม่ใช่แค่ผู้อ่านที่ไม่เข้าใจ เพราะตัวผู้เขียนเองก็ยังสับสน เพราะถ้าเท้าความไปในอดีต กองเซ็นเซอร์สื่อโทรทัศน์ของประเทศไทยก็คือกบว. หรือคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ แต่หลังจากถูกยุบในปี 2535 กลุ่มช่องโทรทัศน์ที่สมัยนั้นมีแค่ 3, 5, 7 และ 9 ตัดสินใจตั้งกรรมการกลาง เพื่อร่วมการกำกับเนื้อหารายการด้วยตนเอง และทำอย่างนี้มากถึงปัจจุบัน

และแม้จะมีช่องทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้น ก็ยังมีการตกลงเซ็นบันทึกข้อตกลงความเข้าใจร่วมกัน หรือ MOU เพื่อเป็นกลุ่มพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาวิทยุโทรทัศน์ฟรีทีวีแห่งประเทศไทยด้วย แต่จนแล้วจนรอดก็อาจเกิดความคัดแย้งกันภายใน หรือมองเนื้อหาไม่เหมือนกัน ทำให้ช่อง 5 และช่อง 7 ตัดสินใจไปตั้งชมรมตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ (ประเทศไทย)

อ่อนอุษา ลำเลียงพล นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย // ภาพจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ

อ่อนอุษา ลำเลียงพล นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย มองว่า การเซ็นเซอร์ควรจะมี 1 มาตรฐานตามตรรกะปกติ เพราะหากเป็น 2 มาตรฐานจะทำให้เกิดความเสียหายของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะฝั่งผลิตสื่อโฆษณา ที่ถ้าส่งให้ตรวจถึง 2 กองเซ็นเซอร์ ซึ่งในเรื่องเอกสารคงไม่เป็นไร แต่หากสมมติกองเซ็นเซอร์หนึ่งให้ผ่าน แต่อีกกองไม่ให้ผ่านก็น่าจะมีงานหนัก

กรรมตกมาอยู่ที่เอเยนซี่

“ปกติแล้วถ้างานมันไม่ผ่าน เราก็แก้ แล้วก็ออกได้ทุกช่อง แต่คราวนี้ถ้ากองหนึ่งให้ผ่าน แล้วอีกกองหนึ่งไม่ผ่าน เท่ากับเราต้องเสียต้นทุนเพิ่มในการผลิตหนังโฆษณาใหม่ ซึ่งก็คงรู้กันว่าค่าโปรดักต์ชั่นมันขนาดไหน ที่สำคัญตอนกำกับด้วยตนเองก็ดีอยู่แล้ว เพราะมีผลงานเพียง 0.02% ที่ถูกแก้”

ภาพ pixabay.com

สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ และปฏิบัติการแทนรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือช่อง 3 เสริมว่า ถือเป็นครั้งแรกในการสร้างความสับสนของวงการโฆษณา เพราะก่อนหน้านี้ช่วยกันกำกับดูแลมาก่อน และหน่วยงานภาครัฐก็เห็นชอบ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะแยกกองเซ็นเซอร์ออกมาอีกกองหนึ่ง

ก็เหมือนกับ OTT ที่จริงๆ เป้าหมายคืออะไร

ในทางกลับกันหากย้อนมาดูเรื่องของการกำกับกิจการ OTT ของกสทช. ก็คงไม่มีเหตุผลมาสนับสนุนมากพอเช่นกัน เพราะการเข้าไปกำกับแบบนั้นเหมือนตั้งใจบีบ และตีกรอบเนื้อหา ซึ่งก็เข้าใจว่าอยากควบคุม โดยเฉพาะเรื่องการหารายได้เข้าประเทศ แต่เหตุผลจริงๆ อาจไม่ใช่แบบนั้น อาจเพราะมีบางเรื่องที่เหนือกว่าการพูดถึงได้

สรุป

การจัดตั้งกองเซ็นเซอร์เป็นสองกองนั้น ความเห็นส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่ตลก เหมือนอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่มีสองมาตรฐาน ดังนั้นการเคลียร์กันให้จบ เพื่อคงมาตรฐานเดียวไว้น่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ประกอบกับการที่ฝั่งสมาคมโฆษณาออกมาท้วงติงวันนี้ก็ไม่ได้ข้อสรุปอยู่ดีว่าจะยุบเหลือมาตรฐานเดียวเหมือนเดิมหรือไม่ ก็เหมือนสรุปว่าไม่สรุปนั่นเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา