CenPay กับบทบาท Banking Agent ที่เริ่มด้วยการรับชำระใบสั่ง ก่อนขยายไปสู่ฝาก-ถอน-โอน

แม้ธนาคารจะเล่นสงครามราคาด้วยการฟรีค่าธรรมเนียม แต่ผู้ให้บริการ E-Payment ทั้งหลายก็ใช่ว่าจะหายไป แถมแข่งกันดุเดือดเหมือนเดิม เช่น CenPay ของกลุ่มเซ็นทรัลที่ได้สิทธิ์ Banking Agent มาติดอาวุธธุรกิจอีกราย

CenPay ให้บริการรับชำระใบสั่ง

ยกระดับจากแค่รับชำระ เป็นบริการครบวงจร

CenPay ของกลุ่มเซ็นทรัลให้บริการมากว่า 4 ปีแล้ว เกิดขึ้นจากทางธุรกิจห้างสรรพสินค้าอยากหาอะไรมาตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ ซึ่งการรับชำระค่าสาธารณูปโภค และเติมเงินโทรศัพท์มือถือก็น่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่อำนวยความสะดวกได้ จนถึงปัจจุบันจุดรับชำระ CenPay ก็กระจายไปกว่า 8,000 จุดทั่วประเทศ

มนตรี สิทธิญาวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาทเมนท์สโตร์ จำกัด ผู้ให้บริการ CenPay เล่าให้ฟังว่า ตัวรับชำระค่าสาธารณูปโภค และเติมเงินโทรศัพท์มือถือคิดเป็นเกินครึ่งหนึ่งของตัวเลขธุรกรรมกว่า 3 ล้านครั้ง/เดือน แต่จะเน้นแค่นี้คงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะบริการทางการเงินเปลี่ยนแปลงเร็วมาก

มนตรี สิทธิญาวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาทเมนท์สโตร์ จำกัด ผู้ให้บริการ CenPay

“ตอนนี้เราต้องยกระดับจากแค่จุดรับชำระ มาเป็นบริการครบวงจร เพื่อแข่งขันในตลาดได้ ยิ่งเราได้สิทธิ์เป็น Banking Agent ของธนาคารกรุงไทย ทำให้เราทำได้ตั้งแต่ฝาก-ถอน-โอน-จ่าย ยิ่งเรามีจุดบริการทั่วประเทศจำนวนมาก ก็ยิ่งทำให้แข่งขันกับผู้เล่นรายอื่นได้อย่างสูสี”

ทำแอปพลิเคชั่น พร้อมบุกตลาด E-Wallet

ขณะเดียวกันทาง CenPay ยังอยู่ระหว่างพัฒนาแอปพลิเคชั่น เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปใช้งานดิจิทัลมากขึ้น โดยคาดว่าทุกอย่างจะเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งนอกจากจะมีระบบรับชำระค่าบริการต่างๆ เหมือนกับจุดรับชำระทั่วประเทศแล้ว ยังมีโอกาสพัฒนาเป็น E-Wallet เช่นเดียวกัน

CenPay กับบัตร The 1 Card

“ตัว E-Wallet ผมยังตอบไม่ได้ในตอนนี้ว่ามันจะเป็นอย่างไร แต่ตัวแอปพลิเคชั่นมันออกมาปีนี้แน่ๆ นั่นทำให้เราจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นทันที เพราะมีจุดรับชำระอยู่ทั่วประเทศ, มีฐานลูกค้า The 1 Card อีกกว่า 10 ล้านคน และเป็น Banking Agent ของธนาคารกรุงไทย เชื่อว่าตลาด E-Payment จะสนุกยิ่งกว่านี้แน่”

สำหรับการเป็น Banking Agent ของธนาคารกรุงไทยนั้น CenPay เริ่มต้นกับบริการรับชำระใบสั่งแบบไม่เรียกเก็บใบขับขี่ โดยผู้ใช้บริการสามารถนำใบสั่งแบบใหม่ที่มีบาร์โค้ดมายื่นที่จุดรับชำระ 8,000 จุดทั่วประเทศ มีค่าธรรมเนียม 20 บาท สูงกว่าค่าธรรมเนียมบริการอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่อยู่ที่ 7 บาท

การรับชำระค่าใบสั่งของ CenPay

“ใบสั่ง” อีกตลาดที่มีเงินสะพัดจำนวนมาก

ในแต่ละปี “ใบสั่ง” จะถูกออกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรกว่า 20 ล้านใบ/ปี ถือว่ามากพอสมควร แต่ด้วยส่วนใหญ่ผู้ที่ได้จะไม่ได้มาชำระให้เสร็จสิ้น โดยเฉพาะกับใบสั่งที่ไม่ได้เรียกเก็บใบขับขี่ ดังนั้นการใช้ใบสั่งรูปแบบใหม่ที่มีบาร์โค้ดน่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ไม่มากก็น้อย เพราะชำระได้ง่ายขึ้น

ประกอบกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังอยู่ระหว่างพัฒนาระบบให้เชื่อมต่อกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้ผู้ที่ได้รับใบสั่งจะต้องชำระก่อน มิฉะนั้นจะไม่สามารถต่อทะเบียนรถยนต์ได้ ซึ่งปัจจุบันใบสั่งแบบไม่เรียกเก็บใบขับขี่มีสองประเภทคือใบสั่งแบบกระดาษที่ออกจากมือเจ้าหน้าที่ กับใบสั่งจากกล้อง CCTV

การออกใบสั่ง // ภาพ Facebook ของบก.02

อย่างไรก็ตาม “ใบสั่ง” รูปแบบเดิมก็ยังเห็นใช้อยู่ประปราย แม้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะบังคับใช้ใบสั่งรูปแบบใหม่มาตั้งแต่ปลายปี 2560 แล้ว ทำให้การจะเดินหน้าไปที่ Thailand 4.0 จริงๆ ทุกคน ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันยกระดับ และเดินหน้าเรื่องเทคโนโลยี เพื่อสร้างความโปร่งใสให้ได้มากกว่าเดิม

สรุป

เชื่อว่าเกมการแข่งขัน E-Payment เดือดแน่ๆ เพราะกลุ่มเซ็นทรัลลงมาจับตลาดแอปพลิเคชั่นจับจ่ายอีกราย แต่ถึงอย่างไรยักษ์ใหญ่ในตลาดไม่ว่าจะเป็น TrueMoney, AirPay หรือรายอื่นๆ ก็น่าจะเตรียมแผนไว้รับน้องแล้ว ซึ่ง CenPay ก็คงต้องทำงานหนัก เพื่อจะดึงลูกค้าจากฝั่งนั้นมาเช่นเดียวกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา