ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดต่างชาติยังวิกฤต ล่าสุด บริษัท อาร์แอนด์อาร์ เรสทัวรองท์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ถือสิทธิ์ร้าน Carl’s Jr. (คาร์ลซ จูเนียร์) ในประเทศไทย ประกาศปิดร้านทุกสาขาภายในสิ้นเดือน มี.ค. 2565 เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว
Carl’s Jr. เหลือแค่ 2 สาขา ก่อนปิดหมดสิ้นเดือน มี.ค.
แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมร้านอาหาร เปิดเผยว่า บริษัท อาร์แอนด์อาร์ เรสทัวรองท์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ถือสิทธิ์ร้าน Carl’s Jr. (คาร์ลซ จูเนียร์) ในประเทศไทย จะปิดให้บริการทุกสาขาภายในสิ้นเดือน มี.ค. 2565 ปัจจุบันเหลือสาขาเปิดให้บริการเพียง 2 แห่งคือ สาขาฮอลิเดย์อินน์ กรุงเทพฯ สุขุมวิท กับอีกหนึ่งแห่งที่เมืองพัทยา
“บริษัทพยายามประคองธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 แต่สุดท้ายร้าน Carl’s Jr. ไม่สามารถไปต่อได้ เนื่องจาก CKE Restaurants Holdings บริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ Carl’s Jr. บังคับให้ใช้วัตถุดิบจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนไม่ได้” แหล่งข่าวเผย
ทั้งนี้ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ประเทศไทยค่อนข้างเข้มงวดเรื่องการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกา เพราะเวลานั้นโรคโควิด-19 ระบาดอย่างหนักที่นั่น จนหลากหลายสินค้าติดอยู่ที่ระบบตรวจ หนึ่งในนั้นคือเนื้อวัวที่บริษัท อาร์แอนด์อาร์ เรสทัวรองท์ กรุ๊ป จำกัด จะนำเข้ามาใช้ดำเนินธุรกิจ Carl’s Jr.
10 ปีที่ทำตลาดในไทยก่อนลาจาก
Carl’s Jr. เปิดสาขาแรกในประเทศไทยเดือน มิ.ย. 2555 ที่ เซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยาบีช และเปิดสาขาในกรุงเทพเพิ่มเติมภายหลัง เช่น สาขาอโศก และนานา โดยช่วงต้นปี 2564 ทางร้านมี 6 สาขา และหลังจากปิดสาขาทั้งหมด จะมีการจ่ายค่าชดเชยพนักงาน และย้ายพนักงานบางส่วนไปทำงานในธุรกิจอื่น
6 สาขาข้างต้นประกอบด้วย
- คาร์ลซ จูเนียร์ สาขา นานาสแควร์ ชั้น G
- คาร์ลซ จูเนียร์ สาขา อาคารมิดทาวน์อโศก ชั้น G
- คาร์ลซ จูเนียร์ สาขา โรงแรมฮอลิเดย์ อินท์ ซอยสุขุมวิท 22 ชั้น G
- คาร์ลซ จูเนียร์ สาขา ซอยสุขุมวิท 11สาขาพัทยา ชลบุรี
- คาร์ลซ จูเนียร์ สาขา Terminal 21 ชั้น 3
- คาร์ลซ จูเนียร์ สาขา เซ็นทรัลพลาซ่าพัทยาบีช ชั้น 3
“จุดเริ่มต้นของการนำ Carl’s Jr. เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยคือ เจ้าของบริษัทเรียนที่สหรัฐอเมริกา และมีความชื่นชอบเบอร์เกอร์ของร้านนี้ จึงติดต่อนำเข้ามาเปิดในไทย ซึ่งช่วงแรกก็ไปได้ค่อนข้างดี แต่เมื่อโรคโควิด-19 ระบาด ทุกคนต้องประหยัด และมีตัวแปรเรื่อง Work From Home เข้ามา ทำให้เราทำธุรกิจลำบาก”
สำหรับ บริษัท อาร์แอนด์อาร์ เรสทัวรองท์ กรุ๊ป จำกัด นอกจากทำธุรกิจร้าน Carl’s Jr. ยังซื้อแบรนด์ร้านอาหาร Koi Restaurant ร้านอาหารญี่ปุ่นแนวฟิวชั่นจากสหรัฐอเมริกา มีสาขาใน Trump Tower มาให้บริการในไทยช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาด แต่สุดท้ายบริษัทตัดสินใจปิดร้านนี้ไปเช่นกัน
Carl’s Jr. ในไทยขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท อาร์แอนด์อาร์ เรสทัวรองท์ กรุ๊ป จำกัด มีผลประกอบการ 3 ปีล่าสุดที่ส่งงบให้กระทรวงพาณิชย์ดังนี้
- ปี 2563 รายได้รวม 39 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 43 ล้านบาท
- ปี 2562 รายได้รวม 57 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 46 ล้านบาท
- ปี 2561 รายได้รวม 53 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 40 ล้านบาท
ปีแรกที่ทำธุรกิจ หรือปี 2555 ทางบริษัทเคยเปิดเผยว่าจะใช้งบประมาณการตลาดกว่า 80 ล้านบาท เพื่อสร้าง Carl’s Jr. ให้เป็นที่รู้จัก พร้อมวางแผนขยายสาขาถึง 9 แห่ง เน้นพื้นที่กรุงเทพ โดยนอกจากเบอร์เกอร์ ยังมีไก่ทอด และของทานเล่นเป็นอีกเมนูทางเลือก ส่วนราคาเบอร์เกอร์จะค่อนข้างพรีเมียม กล่าวคือราคา 100-250 บาท/ชิ้น
ขณะเดียวกันช่วงต้นปี 2564 Carl’s Jr. ในไทยมียอดขายเดลิเวอรีเติบโตขึ้นกว่า 19% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยเฉพาะ Carl’s Jr. สาขา อาคารมิดทาวน์อโศก ยอดดิลิเวอรี่ปรับขึ้นกว่า 90% แต่สุดท้ายยอดขายที่เพิ่มขึ้นกลับจุนเจือยอดขายหน้าร้านที่หายไปไม่ได้ และโซเชียลมีเดียของร้านไม่เคลื่อนไหวมาตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2564
ในทางกลับกัน CKE Restaurants Holdings เจ้าของแฟรนไชส์ร้านอาหารจากสหรัฐฮเมริกา Carl’s Jr. และ Hardee’s มีสาขาที่บริหารเอง และขายสิทธิ์แฟรนไชส์กว่า 3,800 แห่ง ในสหรัฐอเมริกา และอีก 43 ประเทศทั่วโลก โดยในอาเซียน Carl’s Jr. ยังมีสาขาที่ประเทศสิงคโปร์อยู่
สรุป
เป็นที่น่าเสียดายว่าแบรนด์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดจากสหรัฐอเมริกาต้องจากประเทศไทยไปอีกราย แสดงให้เห็นถึงตลาดธุรกิจ QSR หรือ Quick Service Restaurant ในไทยไม่ง่าย และก็น่าลุ้นว่า จะมีร้านไหนต้องโบกมือลาตาม A&W และ Carl’s Jr. อีกหรือไม่
อ้างอิง // Thai PR 1, 2, Thairath
อ่านข่าวเกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารเพิ่มเติมได้ที่นี่
- ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด ธุรกิจร้านอาหารเติบโต 5.0-9.9% แต่ต้องระวัง โควิด-ต้นทุนเพิ่ม คอยฉุดตลาด
- อวสานร้าน A&W เจ้าของสิทธิ์ในประเทศไทยเตรียมหยุดกิจการ เหตุโควิด-19 ทำขาดทุนต่อเนื่อง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา