ดีลเลอร์รถยนต์ในสหรัฐฯ เดินเกมขายออนไลน์ช่วง COVID-19 ผลลัพธ์คือยอดพุ่งกว่าเดิม

นอกจากผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากโรค COVID-19 ตัวดีลเลอร์รถยนต์ก็ประสบปัญหาเช่นกัน ดีลเลอร์ในสหรัฐอเมริกาจึงหันมาขายรถยนต์ผ่านออนไลน์ และผลลัพธ์ที่ออกมาคือยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

showroom

ปรับตัวเพื่ออยู่รอดในธุรกิจ

ความต้องการซื้อรถยนต์ในสหรัฐอเมริกายังคงมีอยู่ แต่จะให้ผู้บริโภคเดินทางมาที่โชว์รูมเพื่อทำธุรกรรมต่างๆ ในช่วงวิกฤต COVID-19 คงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก ดังนั้นการอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคมากที่สุดคือสิ่งที่ต้องทำในตอนนี้ และการเดินกลยุทธ์จำหน่ายรถยนต์ผ่านช่องทางออนไลน์คือคำตอบที่ดี

“ความต้องการของผู้บริโภคในการซื้อรถยนต์หลังจากนี้จะเปลี่ยนไปแน่นอน เพราะพวกเขาต้องการจองการทดสอบรถยนต์, สั่งซื้อ, นัดเวลาส่งมอบ จนถึงการทำคำร้องบริการทางการเงินผ่านออนไลน์ทั้งหมด” Mike Jackson ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AutoNation ผู้ค้ารถยนต์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา กล่าว

autonation

ทั้งนี้ AutoNation มีการปรับตัวเพื่อให้ธุรกรรมต่างๆ ในการซื้อรถยนต์ทำได้ผ่านออนไลน์ ทำให้ผลกำไรไม่ลดลงจากการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงโรค COVID-19 ขณะเดียวดีลเลอร์รถยนต์รายอื่นในสหรัฐอเมริกาเริ่มปรับปรุงโชว์รูมให้เหมาะสมกับการทำตลาดออนไลน์ เช่นรองรับการนัดทดสอบรถยนต์ และปิดการขายได้ดีขึ้น

การทดสอบรถยนต์ยังเป็นปัจจัยสำคัญ

“ด้วยราคาเฉลี่ยรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาปีนี้อยู่ที่ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.27 ล้านบาท) ทำให้การตัดสินใจซื้อรถยนต์อาจทำได้ง่ายขึ้น แต่ถึงอย่างไรผู้บริโภคก็ยังต้องการทดสอบขับขี่ก่อนซื้อ เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ” David Smith ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sonic Automotive กล่าว

Toyota Prius
Toyota Prius

ขณะเดียวกัน Group 1 Automotive ดีลเลอร์อีกรายในสหรัฐฯ เริ่มมียอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนผ่านการจำหน่ายออนไลน์ เพราะยอดขายรถยนต์ออนไลน์เพิ่มขึ้นสามเท่าเป็น 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 แสดงให้เห็นว่า ความต้องการซื้อรถยนต์ยังมีอยู่ เพียงแต่ดีลเลอร์ต้องหาช่องทางให้เจอเท่านั้น

รวมถึงดีลเลอร์รายย่อย Carl Black Automotive Group ได้แจ้งว่า การขายรถยนต์ของบริษัทตอนนี้ทำผ่านช่องทางออนไลน์ถึง 80% และทำให้ยอดขายนั้นเติบโตได้จริง และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวจากการจำหน่ายรถยนต์ผ่านหน้าโชว์รูม เป็นจำหน่ายผ่านออนไลน์มากขึ้น

Chevrolet
รถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Chevrolet Volt // ภาพ Chevrolet

ในประเทศไทยวิธีนี้เป็นที่นิยมนานแล้ว

กลับมามองที่ประเทศไทยบ้าง การจำหน่ายรถยนต์ผ่านออนไลน์นั้นเริ่มเกิดขึ้นช่วง Social Media เริ่มเป็นที่นิยมในวงกว้าง โดยการทำตลาดนั้นจะทำโดยพนักงานขายของแต่ละโชว์รูม ส่วนแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์มีหน้าที่เพียงทำสื่อโฆษณาออนไลน์เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์

ก่อนหน้านี้ ปิยะนุช จตุรภัทร์ ผู้อำนวยการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) เล่าให้ฟังว่า “มีการจัดสรรงบประมาณให้เซลล์คนละ 2,000 บาท เพื่อ Boost Post ของ Page ตัวเองให้กลุ่มเป้าหมายตามพื้นที่ขายต่างๆ รับรู้มาระยะหนึ่งแล้ว และค่อนข้างประสบผลสำเร็จเพราะวิธีนี้ทำให้ยอดขายเติบโตชัดเจน”

สำหรับการปิดการขายรถยนต์ผ่านออนไลน์ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นการเจรจาบน Social Media และนัดมอบวันรับรถ หรือพนักงานขายขับรถไปส่งมอบที่บ้านของผู้สั่งซื้อ แสดงให้เห็นว่าถึงจะมีวิกฤต COVID-19 แต่โชว์รูมในไทยได้ปรับตัวมานานแล้ว และตอนนี้คงเหลือแค่กำลังซื้อของผู้บริโภคจะฟื้นกลับมาเมื่อไรเท่านั้น

สรุป

ผู้บริโภคเริ่มเปิดใจในการซื้อรถยนต์ผ่านออนไลน์มากขึ้น เพราะสะดวก และข้อมูลต่างๆ ก็มีอยู่บนอินเทอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องไปดูที่โชว์รูมอีกต่อไป ดังนั้นหากดีลเลอร์รถยนต์จะปิดการขายรถยนต์ได้ดีกว่าเดิม การรุกตลาดออนไลน์ และการปรับโชว์รูมเป็นสถานที่ปิดการขายที่ดีคือเรื่องที่จำเป็นในยุคนี้

อ้างอิง // CNBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา