Canon ชี้ตลาดกล้องไทยปีนี้ทรง ๆ ขายราว 93,000 ตัว ส่งตระกูล R รุ่นเริ่มต้น และ Full Frame เพิ่มแชร์

Canon เร่งทำตลาดกล้อง Mirrorless ตระกูล EOS R ในประเทศไทยแทนที่ตระกูล EOS M รักษาส่วนแบ่งตลาด 25% ชี้ตลาดกล้องดิจิทัลในไทยยังทรง ๆ ปีนี้ปิดที่ 93,000-95,000 จากปี 2565 ปิดที่ 95,000 ตัว

Canon

Canon ประกาศไลน์อัพ EOS R ครบทุกระดับ

ฮิโรชิ โยโกตะ ประธานบริษัท และประธานกรรมการบริหาร บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้ Canon มีสินค้ากล้องดิจิทัล Mirrorless ครบทุกระดับ หรือครอบคลุมตั้งแต่ระดับเริ่มต้นถึงมืออาชีพ ผ่านการทำตลาดภายใต้ตระกูล EOS R ที่จะเข้ามาแทน EOS M หรือตระกูล Mirrorless ที่เน้นผู้ใช้ระดับเริ่มต้น

“EOS R ทำตลาดมาเป็นเวลา 5 ปี ในประเทศไทย และตอนนี้เราก็มีสินค้าตอบโจทย์ครบทุกระดับผู้ใช้รวมทั้งหมด 10 รุ่น ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการที่เรามีส่วนแบ่งตลาดกล้องดิจิทัลถอดเปลี่ยนเลนส์ (SLR) เป็นอันดับ 1 มา 20 ปี หรือตั้งแต่ปี 2546”

การที่ Canon มีสินค้ากลุ่ม EOS R ครบทุกรุ่นมาจากการเปิดตัว EOS R50 กล้องดิจิทัล Mirrorless เปลี่ยนเลนส์ได้แบบ APSC ระดับเริ่มต้น เน้นเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ ราคาเริ่มต้น 28,990 บาทกับ EOS R8 กล้องดิจิทัล Mirrorless แบบ Full Frame วางเป็นสินค้าระดับกึ่งมืออาชีพ ราคาเริ่มต้น 56,590 บาท

Canon

สร้างยอดขาย 700-800 ล้านบาท เติบโต 20%

จากการเปิดตัวกล้องดิจิทัล Mirrorless แบบเปลี่ยนเลนส์ได้ 2 รุ่นข้างต้น และการเปิดตัวรุ่นอื่น ๆ หลังจากนี้ ทำให้ Canon มียอดขายราว 700-800 ล้านบาท ในปี 2566 หรือเติบโต 20% จากปี 2565 คิดเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ธุรกิจ Canon ในประเทศไทยที่มีธุรกิจกล้องดิจิทัล, เครื่องพิมพ์ และโซลูชันธุรกิจ เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร

“เราอยากเติบโตในมุม APSC เพราะพื้นที่นี้ค่อนข้างว่าง และเราจะไปกินแชร์จากคู่แข่งผ่านความคุ้มค่า โดย R50 และ R8 เราตั้งเป้ายอดขายรวมไว้ที่ 6,000 ตัวในปี 2566 และย้ำอีกครั้งว่า การไปกินแชร์คู่แข่ง Canon จะไม่ทำสงครามราคา แต่ชูเรื่องเทคโนโลยี และความคุ้มค่าของสินค้า ส่วนกล้อง Compact เราไม่ทำตลาดแล้ว”

ทั้งนี้ Canon จะใช้งบประมาณราว 50 ล้านบาท เพื่อสื่อสารการตลาดของกล้องดิจิทัล Mirrorless ทั้งสองรุ่น ควบคู่ไปกับการทำตลาดเลนส์สำหรับกล้องแบบดังกล่าว 35 รุ่น เพื่อครองส่วนแบ่งตลาดกล้องในประเทศไทยที่ทำได้ 24-25% โดยรุ่น R50 จะใช้การโปรโมตเรื่องการใช้งานที่คล้ายกับ Smartphone เพื่อจูงใจผู้ซื้อ

Canon

ตลาดกล้องดิจิทัลในประเทศไทยที่ยังทรง ๆ

สำหรับภาพรวมตลาดกล้องใน 3 เดือนแรกของปี 2566 มีการเติบโตเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2565 และไตรมาส 1 ของปี 2565 โดยการเติบโตถูกขับเคลื่อนโดยกล้องดิจิทัล Mirrorless แบบ Full Frame ซึ่งเป็นกล้องประเภทเดียวที่มีการเติบโตในตลาด

ปี 2565 ภาพรวมตลาดกล้องในประเทศไทยมีการจำหน่ายราว 95,000 ตัว ลดลง 13% จากปี 2564 ส่วนในแง่มูลค่าจะลดลงไม่ถึง 13% เนื่องจากผู้ใช้เน้นซื้อรุ่นราคาสูงมากขึ้น โดยใน 95,000 ตัว แบ่งเป็นกล้อง Mirrorless 55,000 ตัว หรือเกินครึ่งหนึ่งของตลาด โดยปี 2566 Canon มองว่าตลาดจะอยู่ที่ 93,000-95,000 ตัว

ส่วนภาพรวมรายได้ของ บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ในปี 2565 ปิดยอดขายที่ 4,000 ล้านบาท โดยปี 2566 ตั้งเป้าเติบโต 20% ผ่านการเปิดตัวสินค้าใหม่ในแต่ละกลุ่มธุรกิจ รวมถึงการสร้างธุรกิจใหม่ เช่น กลุ่มสินค้ากล้องวงจรปิด เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ในอนาคต

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา