รู้จักกับ Calm แอปทำสมาธิมูลค่า 6 หมื่นล้านบาท ที่สร้างเงินจากความ ‘สงบ’ ในจิตใจ

Brand Inside ชวนไปทำความรู้จักกับ Calm แอปพลิเคชันนั่งสมาธิมูลค่า 6 หมื่นล้านบาท หลักการง่ายๆ ที่ทำกันมาหลายพันปี แอปที่สร้างเงินจากสภาวะความสงบในจิตใจ

ถ้าพูดถึงแอปในโทรศัพท์มือถือที่ได้รับความนิยม หลายๆ คนคงนึกแอปประเภท Social Network, เกม, หรือสตรีมมิง แต่รู้หรือไม่ว่ามีแอปอีกประเภทที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน มีผู้ใช้งานหลายร้อยล้านคนไม่แพ้แอปดังๆ จากบริษัทใหญ่ ซึ่งแอปนั้นคือ Calm แอปนั่งสมาธิที่มีผู้ใช้งานในระดับ 100 ล้านคน

ภาวะความไม่มั่นคงทางจิตใจ ปัญหาใหญ่ในยุคโรคระบาด

คำถามที่เกิดขึ้นคือ เกิดอะไรขึ้น ทำไมอยู่ๆ แอปนั่งสมาธิในโทรศัพท์มือถือจึงได้รับความนิยม คำตอบง่ายๆ ของคำถามนี้ คือ สถานการณ์โควิด-19 ที่เปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของคนจำนวนมาก

จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่า ประชากรที่มีอายุมากกว่า 18 ปี จำนวน 40.9% ต้องเจอกับภาวะความไม่มั่นคงทางจิตใจ ในจำนวนนี้แบ่งเป็น

    • มีภาวะความกังวล หรือซึมเศร้า 30.9%
    • มีภาวะความบอบช้ำทางจิตใจที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด 26.3%
    • มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายในช่วงก่อนตอบแบบสอบถาม 10.7%

ยังไม่รวมกับสภาพกการทำงานที่เปลี่ยนไป จากการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ที่แม้ในช่วงแรกๆ จะพบว่าพนักงานมีประสิทธิภาพการทำงานดีกว่า แต่นานวันเข้ากลับพบว่าสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัว (Work Life Balance) หายไปจนหมดสิ้น ยังไม่นับรวมการประชุมออนไลน์ทั้งวันไม่จบไม่สิ้น จนเกิดความเหนื่อยล้า หรือเรียกว่า Zoom Fatigue

นอกจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ในหมู่คนรุ่นใหม่ยังมีแนวคิด “อยากเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีขึ้น” ที่ต้องการหาทางพัฒนาตัวเองให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งรวมถึงด้านจิตใจ

จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา (CDC) ยังพบด้วยว่า การเล่นโยคะ และการทำสมาธิ เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการทำสมาธิได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น 3 เท่า ตั้งแต่ปี 2012-2017

ภาพจาก Calm

Calm แอปทำสมาธิที่สร้างเงินจากความ “สงบ” ในจิตใจ

จากปัญหาที่รุมเร้า ทั้งเรื่องโรคระบาด การทำงาน ที่ล้วนสร้างความไม่มั่นคงทางจิตใจ รวมถึงเทรนด์การพัฒนาสุขภาพจิตใจที่ดี ทำให้เกิดความต้องการทำสมาธิมากขึ้น กลายเป็นช่องทางในการทำธุรกิจของแอปนั่งสมาธิอย่าง Calm

Calm เป็นแอปทำสมาธิ สร้างความสงบ ช่วยเรื่องการนอนหลับ การโฟกัส และพัฒนาตัวเอง ที่ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลด 100 ล้านครั้ง มีรูปแบบการหารายได้จากการสมัครสมาชิก 3 รูปแบบเพื่อเข้าถึงคอนเทนต์ภาพในแอป ได้แก่ 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน, 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือจะจ่ายครั้งเดียว 400 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้แอปได้ตลอดไปก็ได้เช่นกัน

เกม Puzzle ที่ช่วยเรื่องการทำสมาธิของ Calm ภาพจาก Calm

รูปแบบการหารายได้ที่หลากหลาย ไปไกลกว่าการเป็นแอปในโทรศัพท์มือถือ

นอกจากการสร้างรายได้จากการสมัครสมาชิกเพื่อเข้าถึงคอนเทนต์ภายในแอปแล้ว Calm ยังไปไกลกว่าการเป็นแอปทำสมาธิที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ ด้วยการขยับเข้าสู่ชีวิตของคนทั่วไปมากขึ้น ทั้งการออกหนังสือ ผลิตซีรีย์ ขายเกม Puzzle และอุปกรณ์ทำสมาธิ รวมถึงเป็นพาร์ทเนอร์กับ Uber, สายการบิน American Airlines, และ เครือโรงแรม Novotel ขยายการทำสมาธิไปสู่ธุรกิจการบริการ มากกว่าการเป็นแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียว

หรือแม้แต่เข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทต่างๆ ที่ต้องการใช้บริการทำสมาธิของ Calm ในฐานะสวัสดิการที่บริษัทมีให้พนักงาน เพราะบริษัทต่างๆ เริ่มให้ความสนใจกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานทั้งร่างกาย และจิตใจ

ทำเงินจากความ “สงบ” ในจิตใจ

เรียกง่ายๆ ว่า Calm สร้างรายได้ให้ตัวเองจากภาวะความ “สงบ” ของจิตใจในขณะทำสมาธิ จน Calm กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าเกิน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 62,000 ล้านบาท เป็นบริษัทสตาร์ทอัพเพียงไม่กี่แห่งในโลกเท่านั้นที่มีมูลค่าสูงขนาดนี้

เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ หลายคนคงอาจสงสัยว่า Calm จะสามารถสร้างเงินจากการเป็นแอปทำสมาธิได้จริงหรือ เพราะการทำสมาธิก็มีมาตั้งนานหลายพันปี ไม่เห็นมีความจำเป็นต้องใช้แอปทำสมาธิเลยด้วยซ้ำ

ภาพจาก Unplash โดย Matteo Di Iorio

จุดเด่นขายความง่าย ใครๆ ก็ทำสมาธิได้

ความจริงแล้วการทำสมาธิมีความยากอยู่หลายอย่าง ไม่ใช่แค่การสั่งหลับตาอยู่เฉยๆ แล้วจะเรียกว่าการทำสมาธิ แต่จำเป็นต้องมีการจัดการกับสิ่งรบกวนทั้งภายในจิตใจ และสิ่งรบกวนจากภายนอก ต้องมีการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก และกำหนดการรับรู้ในขณะนั้น แถมการทำสมาธิยังมีพื้นฐานมาจากความเชื่อทางพระพุทธศาสนาอีก ยิ่งทำให้การทำสมาธิกลายเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน

แต่ Calm จับจุดนี้ถูก เปลี่ยนการทำสมาธิที่เป็นเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย เป็นมิตรกับทุกคน โดยเฉพาะชาวตะวันตกที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ

เมื่อเข้าไปในแอป Calm จะพบว่าไม่มีการอ้างอิงคำศัพท์ยากๆ จากศาสนาพุทธเลย เช่นคำว่า เมตตา และวิปัสสนา เป็นต้น โดย Calm จะใช้วิธีการสื่อความแบบง่ายๆ ไม่ต้องมีการอธิบายความหมายเพิ่มเติม มีเสียงบรรยายประกอบจากนักทำสมาธิชื่อดังของโลก เป็นการเปลี่ยนศาสตร์การทำสมาธิที่มีอายุหลายพันปี โดยการใช้เทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน

แอปทำสมาธิอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม แม้แอป Calm จะได้รับความนิยมอย่างมากจากกระแสความต้องการ “เป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีกว่า” แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาจิตใจหลายราย ก็ได้เตือนว่า แอปทำสมาธิทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะ Calm เท่านั้น “อาจไม่ใช่เครื่องมือช่วยทำสมาธิที่ได้ผลเสมอไป”

เพราะแอปทำสมาธิเป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยบอกวิธีการทำสมาธิ ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง และจบแค่นั้น แต่ไม่ได้มีการอธิบายเหตุผลในเชิงลึกว่าทำสมาธิแล้วจะได้อะไร จะช่วยจัดการกับปัญหาในชีวิตได้อย่างไร

รวมถึงบางครั้งปัญหาที่ต้องเจอในชีวิตประจำวันไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ได้ด้วยการทำสมาธิ เพราะเป็นเรื่องที่ใหญ่ในระดับสังคม ต้องอาศัยการแก้ที่ต้นตอของปัญหา ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปัจเจกบุคคลผ่านการทำสมาธิเสมอไป

อ้างอิง – The Atlantic, inc, Quartz, CDC (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา