ทำความเข้าใจ Zoom Fatigue “ความเหนื่อยล้าจากการประชุมออนไลน์” ต้นทุนของการทำงานในที่ใดก็ได้

Photo: Getty Images

Work From Home ความสะดวกสบายที่มีต้นทุน

ในยุคที่ออฟฟิศไม่ใช่ตัวเลือกแรกของการทำงาน หากแต่คือ “บ้าน” ของพนักงานแต่ละคน โรคระบาดโควิด-19 เป็นเสมือนตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้เทรนด์หรือกระแสหลายอย่างที่หลายคนเคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ (อย่างน้อยๆ ก็ 2-3 ปีนับจากนี้) เกิดขึ้นทันทีด้วยความจำเป็น

Work From Home หรือการทำงานจากบ้านเป็นหนึ่งในนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตอนนี้เวลาใครพูดคำว่า “New Normal” แน่นอนว่า ต้องมีความหมายของการทำงานจากบ้านไปด้วย

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงงานยุคนี้สามารถ Work From Home ได้ เป็นเพราะ “เทคโนโลยี” ที่เข้ามาปิดช่องว่าง เติมเต็มทั้งขั้นตอนกระบวนการทำงานและการสื่อสารผ่านวิดีโอคอล (เสมือนจริงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มีทั้งภาพ มีทั้งเสียง)

ช่วงแรกหลายคนอาจไม่รู้สึกอะไร แต่เมื่อต้อง Work From Home ไปนานๆ หลายคนเริ่มรู้สึกว่า “วิดีโอคอลประชุมงานนานๆ เริ่มส่งผลต่อความเหนื่อยล้า” คำถามคือ คิดไปเองหรือเปล่า หรือมันเป็นเพราะอะไร

บทความนี้มีคำตอบ

ทำไมจึง ‘เหนื่อย’ เหตุใดจึง ‘ล้า’ กับการวิดีโอคอล

ความเหนื่อยล้าจากการวิดีโอคอล ไม่ใช่การคิดไปเอง เพราะเป็นเรื่องจริง

ในโลกวิชาการที่ศึกษาประเด็นเรื่องการทำงานอย่างจริงจัง มีคำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Video Call Fatigue (ความเหนื่อยล้าจากการวิดีโอคอล) หรือ Zoom Fatigue กันเลยทีเดียว

สำนักข่าว BBC สัมภาษณ์ศาสตราจารย์ 2 ท่านที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการทำงาน (workplace studies) พบว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้การวิดีโอคอลเป็นเวลานานส่งผลต่อความเหนื่อยล้าของผู้ใช้งาน โดยสรุปได้ดังนี้

  • การประชุมผ่านการวิดีโอคอลต้องใช้สมาธิจดจ่อสูงกว่าปกติ เนื่องจากผู้ใช้งานนอกจากจะต้องนั่งฟังการสนทนาผ่านเสียงแล้ว ยังต้องตีความหมายจากสีหน้า ท่าทาง และภาษากายผ่านจอคอมพิวเตอร์ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าความเป็นจริงหลายเท่า
  • ความรู้สึกของการถูกจับจ้อง การปรากฏอยู่บนจอวิดีโอคอลเหมือนกับทำการแสดงอยู่บนเวทีที่มีแสงไฟสาดส่อง ไม่ว่าเพื่อนร่วมงานหรือคนที่ประชุมร่วมกับคุณจะกำลังจับจ้องอยู่หรือไม่ แต่ความรู้สึกถูกจับจ้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นผู้ใช้งานนอกจากจะต้องใช้สมาธิสูงแล้ว ยังต้อง ‘เกร็ง’ มากกว่าเดิมเพื่อให้ภาพออกมาดูดีสู่สายตาของผู้อื่น
  • อุปสรรคอื่นๆ ที่ทำให้เหนื่อยล้ายังมาจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น เสียงรบกวนด้านหลังของผู้ร่วมประชุม, ความอึดอัดและรำคาญใจเมื่อคู่สนทนาตอบช้า ซึ่งปัญหาอาจมาจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตหรืออีกฝ่ายกำลังครุ่นคิดคำตอบ แต่ผู้ใช้งานมักจะคาดหวังคำตอบทันทีทันใด (ในงานวิจัยอ้างถึงตัวเลข 1.2 วินาที เวลาเพียงเสี้ยววิที่ทำให้ผู้ใช้งานหัวเสียได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงเวลาเพียงเสี้ยววิเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการสนทนาไปมาระหว่างกัน)

ทางออกเพื่อลดอาการเหนื่อยล้าจากวิดีโอคอล

  • ลดจำนวนการวิดีโอคอล เอาเท่าที่จำเป็น การประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนบางครั้ง หากไม่จำเป็นต้องเห็นหน้ากันจริงจัง อาจปิดกล้องเพื่อทำให้รู้สึกผ่อนคลายและฟังแค่เสียงเท่านั้นก็ได้
  • ก่อนประชุมงานผ่านวิดีโอคอล ควรมีระยะเวลาของการคุยเล่นกันก่อน ทั้งการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ชีวิตความเป็นอยู่ แล้วค่อยเข้าเรื่องงาน
  • หากรู้แน่ว่าการประชุมนั้นจะใช้เวลายาวนาน (หลักชั่วโมง) เนื่องจากเป็นเรื่องซับซ้อนและมีรายละเอียดสูง ควรมีการแจกเอกสาร/สไลด์ที่เกี่ยวข้องให้ผู้ร่วมประชุมเพื่อทำให้ทุกคนเห็นภาพรวมของการประชุม ลดความเหนื่อยล้าจากการวิดีโอคอลนานๆ ได้

เกร็ดที่น่าสนใจ

อันที่จริงแล้ว การใช้สมาธิสูงเพื่อจดจ่อกับการสื่อสาร กลุ่มคนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินคุ้นชินกันมานานแล้ว เพราะการสื่อสารผ่านภาษามือ (sign language) ทำให้จำเป็นต้องจดจ่อกับทุกอิริยาบถ เนื่องจากทุกการขยับ/เคลื่อนไหวมีความหมายทั้งหมด

แน่นอนว่า กลุ่มคนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินย่อมมีความเหนื่อยล้าจากการจดจ่อ นักโสตสัมผัสวิทยา (audiologist) เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ความเหนื่อยล้าจากการจดจ่อ (concentration fatigue) เป็นเวลานาน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา