ธุรกิจกำลังเข้าใจผิดว่าการรักษาสิ่งแวดล้อมสร้างต้นทุนให้ธุรกิจมากขึ้น แต่การวิจัยบอกว่าพวกเขาคิดผิด จริงๆ แล้ว ยิ่งบริษัทลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้กำไรมากขึ้นเท่านั้น
เรื่องสิ่งแวดล้อม ยิ่งลงทุน ยิ่งได้กำไร วิจัยเผย
งานวิจัยของ Fanny Hermundsdottir และ Arild Aspelund จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนอร์เวย์ ศึกษาย้อนหลัง 15 ปี เพื่อประเมินความความสัมพันธ์ระหว่าง “การลงทุนในด้านสิ่งแวดล้อม” และ “ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ” ได้เปิดเผยว่า มีบริษัทเพียง 2% เท่านั้นที่มีศักยภาพทางธุรกิจลดลงเมื่อลงทุนเพิ่มในนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เพราะการลงทุนของธุรกิจเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมสร้างมูลค่าและเพิ่มความสามารถให้ธุรกิจ
ผลการศึกษาชี้ว่าบริษัทส่วนใหญ่ได้มากกว่าเสียในการลงทุนในสิ่งแวดล้อม
- ธุรกิจ 64% มีศักยภาพทางธุรกิจเพิ่มขึ้น
- ธุรกิจ 29% ให้ผลลัพธ์กลางๆ
- ธุรกิจ 5% ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอน
- ธุรกิจ 2% มีศักยภาพทางธุรกิจลดลง
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่พวกเขายกตัวอย่าง คือ กรณีของ Walmart ที่ตัดสินใจยกเครื่องห่วงโซ่การผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นในปี 2005 ผู้วิจัยได้สรุปนโยบายครั้งนี้ของ Walmart ว่าเป็นการตัดสินใจที่ทำเงินมหาศาล
หนึ่งในโครงการของ Walmart คือการเพิ่มความโปร่งใสในห่วงโซ่การผลิตอาหารทะเลทั้งระบบ Walmart ร่วมมือกับเครือข่ายผู้ผลิตอาหารทะเล โดยร่วมมือกับ Marine Stewardship Council (MSC) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดูแลเรื่องความยั่งยื่นของระบบนิเวศทางทะเล เพื่อสร้างห่วงโซ่การผลิตอาหารทะเลที่โปร่งใส ยืนยันได้ว่ามีที่มาที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศทางทะเล ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ผู้บริโภคทั้งรายใหญ่และรายย่อยบริโภคสินค้า Walmart มากขึ้น
นอกจากนี้การเข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับ MSC ทำให้ Walmart สามารถเข้าถึงผู้ผลิตต้นทาง ระบบโลจิสติกส์ และบริการอื่นๆ ที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศด้วยต้นทุนที่ถูกลง ทั้งในด้านเวลา ความสะดวก และตัวเงินที่ถูกลง กล่าวคือยิ่งปรับตัวเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้บริษัทเกิดนวัตกรรมเชิงการจัดการที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพเชิงสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น
มีงานวิจัยเผยว่า การปรับตัวครั้งใหญ่ของ Walmart ครั้งนี้ทำให้ธุรกิจอาหารทะเลของ Walmart โตขึ้น 1 ใน 4 จนมีมูลค่ากว่า 750 ล้านดอลลาร์ภายในปีเดียว แต่นี่ไม่ใช่โครงการเดียวของ Walmart เพราะบริษัทมีการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับหน่วยงานไม่แสวงผลกำไรและห่วงโซ่การผลิตที่ยั่งยืนในอีกหลายธุรกิจ เช่น สิ่งทอ และอิเล็กทรอนิกส์
การไม่คิดเรื่องสิ่งแวดล้อม สร้างต้นทุนให้กับธุรกิจมากขึ้น
ความเข้าใจแบบเดิมๆ ว่าการรับผิดชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นต้นทุน เป็นเรื่องที่ถูกเข้าใจกันแบบผิดๆ จริงๆแล้วการไม่รับผิดชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมต่างหากที่เป็นต้นทุน
ปัจจุบัน กระแสเรียกร้องให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปมากขึ้น กฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงจริงจังมากขึ้น นี่ยังไม่นับรวมค่านิยมใหม่ๆ ที่พร้อมกดดันให้บริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคมตลอดเวลา
ตอนนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมถูกกว่าค่าปรับที่ต้องจ่ายเพื่อชดใช้การหลบเลี่ยงการรักษามาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม
- Apple ให้โบนัสผู้บริหารตามค่านิยมรักโลก
- กระแสสนใจผลิตภัณฑ์รักสิ่งแวดล้อมมาแรงในยุคโควิด: ลูกเป็นตัวเปลี่ยนพฤติกรรม
ทีมวิจัยถึงกับบอกว่า ความเชื่อว่า “การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นต้นทุน” เป็นสิ่งที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ
ตัวอย่างคือ Volkswagen บริษัทรถยนต์สัญชาติเยอรมัน ในกรณีโกงข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนเป็นเรื่องเป็นราวให้สูญเงินกว่า 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1 ล้านล้านบาท
และยังได้ของแถมคือการเสียชื่อเสียงของบริษัทครั้งใหญ่อีก
ที่มา – Quartz
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา