มองทิศทางการ Trade ด้วยหุ่นยนต์ กับเบอร์หนึ่งในตลาดอย่าง “หลักทรัพย์บัวหลวง”

การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “เล่นหุ้น” ในตอนนี้ได้รับความมนิยมจากคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก และเมื่อคนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมต่างกับคนรุ่นเก่า “หลักทรัพย์บัวหลวง” จึงต้องคิดใหม่ และเดินเกมเทคโนโลยีเต็มที่

ภาพจาก Shutterstock

รักษาเบอร์หนึ่งด้วยเทคโนโลยีใหม่

เมื่อเป็นบริษัทหลักทรัพย์ หน้าที่หลักๆ ของธุรกิจก็คือให้คำแนะนำกับผู้บริโภคที่สนใจเข้ามาลงทุนในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาในการช่วยธุรกิจต่างๆ เข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างลุล่วง และถ้าพูดถึงแค่ฝั่งแรก เรื่องเทคโนโลยีก็มีผลต่อการดึงดูดผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เพราะคนในปัจจุบันคุ้นเคยกับเรื่องนี้ดีกว่าเดิม

บรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง เล่าให้ฟังว่า ถ้าบริษัทหลักทรัพย์ยังยึดติดกับการทำตลาดแบบเดิมๆ โอกาสเติบโตในอนาคตก็ยาก ทำให้บริษัทเองจริงจังกับเรื่องนี้มาตั้งแต่เกือบ 10 ปีก่อน และเริ่มมีผลิตภัณฑ์ออกมาให้เห็นจริงๆ ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

บรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง

ไล่ตั้งแต่ตัวแรกคือ iTracker ที่ช่วยวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนว่าผิดพลาดอย่างไร และให้นักวิเคราะห์ช่วยอธิบาย จนล่าสุดคือการลงทุนอัตโนมัติที่มีระบบ AI ช่วยควบคุมอย่าง DCA (Dollar-Cost Averaging) กับ VA (Value Averaging) ทำให้ตัวบริษัทสามารถรักษาตำแหน่งเบอร์หนึ่งทั้งในแง่จำนวนลูกค้า และอัตรากำไร มา 2 ติดต่อกัน

คนยังจำเป็นในการบริหารหลักทรัพย์

“ธุรกิจเราต่างกับธุรกิจธนาคารที่ก่อนหน้านี้แข่งขันกันในเรื่องขยายสาขา และเพิ่มจำนวนคน จนล่าสุดมีธนาคารหนึ่งประกาศลดคนตามที่เห็นในหน้าข่าว แต่บริษัทหลักทรัพย์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันไม่ต้องใช้คน และสาขามากขนาดนั้น จึงเชื่อว่าถึงเทคโนโลยีจะเปลี่ยนผ่านไปเท่าไรก็คงไม่มีการลดคน เพราะคนยังมีส่วนจูงใจผู้บริโภคได้”

ภาพจาก Shutterstock

สำหรับภาพรวมการลงทุนในประเทศไทยปัจจุบันมีผู้เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ หรือ “บัญชีหุ้น” อยู่ราว 1.5 ล้านบัญชี โดยส่วนนี้เป็นจำนวนลูกค้าของ “หลักทรัพย์บัวหลวง” ราว 3 แสนบัญชี มีการใช้งานตลอด 1.5 แสนบัญชี และกว่า 80% เป็นการใช้งานผ่านระบบออนไลน์ โดยช่องทาง Mobile มีสัดส่วนมากที่สุดในวิธีดังกล่าว

ด้านฝั่งจำนวนคน “หลักทรัพย์บัวหลวง” มีตัวแทนขายทั้งหมด 400 คน และยังคงตัวเลขนี้อยู่ ส่วนการลงทุนระบบไอทีนั้นใช้ใกล้เคียงกับที่บริษัทหลักทรัพย์อื่นๆ ใช้คือราว 50-100 ล้านบาท/ปี พร้อมเน้นหนักที่การจ้างงานกลุ่ม Financial Engineerign เพื่อช่วยสร้างสูตรคำนวนการลงทุนรูปแบบใหม่โดยตลอด

ภาพ pixabay.com

Fintech คือเพื่อน ไม่ใช่คู่แข่งในตลาด

ในทางกลับกันกระแส Fintech ที่เกิดขึ้นจำนวนมากในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ และมีข่าวกี่ยวกับการล้มล้างธุรกิจการเงินเดิมๆ ทางเบอร์หนึ่งในธุรกิจหลักทรัพย์ของประเทศไทยมองว่า ไม่น่าเป็นไปถึงขนาดนั้น เพราะถึงผู้บริโภคจะคุ้นเคยกับเทคโนโลยี แต่เมื่อพูดถึงเรื่องการเงิน ความเชื่อมั่นในองค์กรที่อยู่มานานยังมีภาษีที่ดีกว่าธุรกิจใหม่ๆ

“เราไม่มอง Fintech เป็นศัตรู เขาเหมือน SME ที่เพิ่งเกิดใหม่มากกว่า และคงไม่ใช่มาล้มล้างธุรกิจเดิมง่ายๆ ดังนั้นการช่วยกันทำอะไรในวงการการเงินให้มันดีขึ้นกว่าเดิมน่าจะดีกว่า เช่นเราเก่งในเรื่องคำนวนสูตรวิเคราะห์หุ้นแบบของเรา ก็อาจไปร่วมกับ Fintech บางรายเพื่อคิดสูตรใหม่ๆ ร่วมกันขึ้นมาก็ได้”

อย่างไรก็ตาม “หลักทรัพย์บัวหลวง” เองยังไม่มีนโยบายเรื่องการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Blockchain โดยยังอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อนำไปปรับใช้อย่างถูกต้อง ส่วนแนวโน้มในการพัฒนา AI ยังคงอยู่ใน Pipeline เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในอนาคตให้ได้รวดเร็วมากขึ้น

สรุป

บริษัทหลักทรัพย์หันมาเน้นเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้นไม่ใช่รื่องแปลก เพราะก่อนหน้านี้ก็ลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆ มาอยู่แล้ว เพื่อพัฒนาการวิเคราะห์ให้แม่นยำยิ่งขึ้น ดังนั้นคงเหลือแค่เทคโนโลยีใหม่ๆ ในโลกการเงินอย่าง Blockchain ที่หลักทรัพย์ไทยยังไม่หยิบเข้ามามากนัก แต่เชื่อว่าในอนาคตต้องมีนำเข้ามาเหมือนที่ธนาคารไทยเคยทำแน่

ทั้งนี้ผู้ลงทุนในรูปแบบ DCA และ VA ของบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวงมีราว 1,000 ราย โดยสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีทั้งหมด 4,000 ราย เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ง่าย เพราะไม่ต้องเฝ้าการเปลี่ยนแปลง คล้ายกับการฝากออมทรัพย์ระยะยาว และอิงต่อการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์เป็นหลัก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา