ปัญหาใหม่ BTS! เติมเที่ยว-เติมเงินเข้าบัตรผ่านเคาน์เตอร์บีทีเอสไม่ได้ถ้าผูกบัตรกับ Rabbit LINE Pay ไว้

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไหนรถเมล์จะขึ้นราคาอีก 20% ส่วนรถไฟฟ้าอย่าง BTS ใครที่หลวมตัวผูกบัตรโดยสารกับ rabbit LINE Pay ไว้ต่อไปนี้จะเติมเที่ยว เช็คยอดเงิน เช็คเที่ยวที่ห้องขายตั๋วบนสถานี BTS ไม่ได้อีก

เมื่อผูกบัตร rabbit กับ rabbit LINE Pay แล้วจะเช็คข้อมูลบัตร เติมเที่ยวที่เคาน์เตอร์ BTS ไม่ได้

เมื่อ 3 เดือนก่อน (ก.ย. 2018) บริษัท แรบบิท – ไลน์เพย์ จำกัด เปิดให้คนที่มีบัตร rabbit ที่ใช้สำหรับโดยสารรถไฟฟ้า BTS สามารถผูกตัวบัตรกับ rabbit LINE Pay ได้ ข้อดีคือ ลูกค้าจะสามารถเติมเงิน เติมเที่ยวเดินทาง เช็คยอดเงิน ดูประวัติการใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น LINE บนมือถือได้เลย หรือบัตรหายก็สามารถอายัดบัตรเก่า แล้วเปิดบัตรใหม่ โอนยอดเงินกับเที่ยวเดินทางมาที่บัตรใหม่ได้เลย (มีค่าธรรมเนียม)

แต่การผูกบัตรโดยสาร BTS กับ rabbit LINE Pay ปัจจุบันทำให้ลูกค้าไม่สามารถนำตัวบัตร rabbit ไปเติมเที่ยวเดินทาง เช็คยอดเงิน หรือดูข้อมูลบนบัตรที่ห้องจำหน่ายตั๋วบนสถานี BTS ได้อีก

พนักงานที่ให้บริการบนสถานี BTS บอกว่า ถ้าบัตร rabbit เชื่อมกับ rabbit LINE Pay แล้วห้องขายตั๋วบน BTS ไม่สามารถให้บริการผ่านตัวบัตรได้ ลูกค้าไม่สามารถใช้โปรโมชั่นจากบัตรเครดิต หรือพันธมิตรของ BTS ในการเติมเที่ยวเดินทาง เพราะอ่านข้อมูลบนบัตรไม่ได้ เลยไม่สามารถเติมเงิน เติมเที่ยวลงที่บัตรโดยตรงได้ แต่พนักงานสามารถการเติมเงินเข้าไปใน Wallet  โดยลูกค้าต้องเปิด QR code บน LINE เพื่อเติมเงิน แล้วลูกค้าต้องกดเติมเงินในบริการ BTS ผ่านมือถือเอง

อย่างไรก็ตาม จิน วู ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แรบบิท–ไลน์เพย์ จำกัด เคยพูดไว้ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2018 ว่า ในอนาคตมีแผนขยายการเติมเงินเข้า e-wallet ของแรบบิท –ไลน์เพย์ ผ่านการแตะบัตรแรบบิทที่ผูกใช้บริการ ได้ตามจุดเติมเงินต่างๆ เช่น ห้องจำหน่ายตั๋วบนสถานีบีทีเอส, ร้าน McDonald’sKerry Express เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการที่นิยมการแตะบัตร แทนการใช้ MyCode ของ แรบบิท-ไลน์เพย์

แต่อนาคตที่ว่า ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นปีไหน?

สรุป

บัตร rabbit ควรมีช่องทางที่หลากหลายในการเติมเงิน เติมเที่ยว และสามารถอายัดบัตรได้เมื่อบัตรหาย แต่เมื่อเชื่อมบัตร BTS กับ rabbit LINE Pay กลับทำให้ช่องทางดั้งเดิมที่อยู่ตามสถานีใช้ไม่ได้ (อนาคตจะใช้ได้ก็ไม่รู้เมื่อไร) ยิ่งแสดงให้เห็นว่า BTS, บัตร rabbit, LINE และ บริษัท แรบบิท – ไลน์เพย์ จำกัด ยังไม่มีความร่วมมือกันอย่างแท้จริง ภาระจึงตกมาที่ผู้บริโภคเหมือนที่ผ่านมา

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง